xs
xsm
sm
md
lg

ผ่านไป 20 ปี พวกนักแก้ตัวให้สงครามรุกรานอิรัก ยังคงมีอิทธิพลครอบงำเหนือการต่างประเทศของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แคทรินา วานเดน ฮูเวล ***


บางคนยังคงยืนกรานเสนอความคิดเห็นว่า ซัดดัม ฮุสเซน คือ “อาวุธทำลายร้ายแรง (WMD) ตัวจริงของจริง ที่มีอยู่ในอิรัก”
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

20 years later, Iraq war apologists still dominate
By KATRINA VANDEN HEUVEL
02/04/2023

ถึงแม้เกิดความวิบัติฉิบหายขนาดนี้แล้ว ทว่าชนชั้นนำด้านการต่างประเทศ-การวางนโยบายของอเมริกาก็ยังไม่รู้สึกหวั่นไหว

ในกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวปราศรัยประณามการที่รัสเซียรุกรานยูเครนอย่างป่าเถื่อนไม่เคารพกฎหมาย [1] โดยบอกว่า “ความคิดที่ว่ามีกองทหารมากกว่า 100,000 คน บุกเข้าไปรุกรานอีกประเทศหนึ่ง —ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแล้ว มันไม่มีอะไรอย่างนี้บังเกิดขึ้นมาอีกเลย”

แต่อีก 1 เดือนหลังจากนั้น มันเป็นวาระครบรอบ 20 ปีของการพังทลายทางด้านนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดภายหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง นั่นคือสงครามที่อเมริกาเลือกที่จะก่อขึ้น ด้วยการบุกถล่มเล่นงานอิรัก โดยส่งทหารสหรัฐฯ จำนวน 130,000 นาย รุกรานประเทศนี้และโค่นล้มรัฐบาลของอิรัก

เมื่อพิจารณาจากขนาดขอบเขตของการกระทำที่โง่เขลาคราวนี้ มันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ไบเดน มีความต้องการที่จะฝังเรื่องนี้เอาไว้ให้อยู่ในหลุมลึกแห่งความทรงจำ และถึงแม้บุคคลร่วมสมัยจำนวนมาก ไม่ได้มีความร้ายกาจเทียบได้กับตัวละครเด่นเลวในนวนิยายของจอร์จ ออร์เวลล์ เฉกเช่นไบเดน ทว่าในช่วงครบรอบ 20 ปีนี้ บุคคลเหล่านี้ก็ยังคงกระทำอะไรคล้ายๆ กันกับเขาในความพยายามเสาะแสวงหาคำอธิบาย หรือเหตุผลสำหรับสร้างความชอบธรรม หรือกำจัดลบทิ้งความทรงจำเกี่ยวกับความวิบัติหายนะครั้งนี้

นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรนักหรอก เนื่องจากจวบจนถึงเวลานี้ แทบไม่มีพวกผู้กระทำความผิด เหล่านักโฆษณาชวนเชื่อ และประดาเชียร์ลีดเดอร์ ซึ่งช่วยกันขับดันพวกเราชาวอเมริกันให้เข้าสู่สงครามคราวนั้นคนไหนเลยที่ได้รับการตอบสนองอันเหมาะควรจากผลต่อเนื่องที่ติดตามมา ชื่อเสียงเกียรติคุณของพวกเขากลับได้รับการขัดเงาแวววาวขึ้นมาอีกครั้ง ขณะที่ความสูงส่งของพวกเขาในหมู่ชนชั้นนำด้านการต่างประเทศ-การกำหนดนโยบายของอเมริกาก็ยังคงไม่ได้ถูกแตะต้อง

เรื่องที่ต้องถือว่าแปลกพิสดารมากเป็นพิเศษก็คือ พวกคนที่นำเราเข้าสู่ความวิบัติเสียหายคราวนี้ยังคงครอบงำแพลตฟอร์มสื่อสำคัญๆ ของอเมริกาเอาไว้ต่อไป ขณะที่พวกซึ่งเตือนภัยคัดค้านการเข้าสงคราม ส่วนใหญ่แล้วกลับถูกผลักไสไปอยู่ตรงแถบชายขอบ

การแต่งเนื้อแต่งตัวทำให้สงครามอิรัก “ดูดี” นั้นไม่ใช่ภารกิจที่จะทำกันได้ง่ายๆ คณะบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในสมัยนั้นพยายามโน้มน้าวชักชวนด้วยการเสนอหลักการ “สงครามเพื่อการป้องกัน” แสดงความดูหมิ่นเหยียดหยามความจำเป็นที่อเมริกา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในฐานะสูงสุดของการเป็นขั้วอำนาจเพียงขั้วเดียวของโลก จะต้องไปขออำนาจสำหรับการบุกอิรักจากสหประชาชาติ หรือการรับรองจากพวกชาติพันธมิตรนาโต้ หรือแม้กระทั่งการยึดมั่นปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

อิรักนั้นตกเป็นเป้าหมายของพวกอนุรักษนิยมใหม่ (neoconservatives) มานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นไหนๆ อย่างที่พวกนักโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่ม “โครงการเพื่อศตวรรษใหม่ของอเมริกัน” (Project for the New American Century) ได้พูดออกมาให้ฟังกันอย่างชัดเจนแล้ว แรงผลักดันให้ทำสงครามอิรักนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ชั่วโมงแรกภายหลังเหตุโจมตีวินาศกรรม 9/11 ถึงแม้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ซัดดัม ฮุสเซน เป็นผู้ที่ประกาศตัวเป็นศัตรูชนิดไม้เบื่อไม้เมากับกลุ่มอัลกออิดะห์

เอาแคมเปญเพิ่มยอดขายของมาใช้ในการทำสงครามอิรัก

คณะบริหารบุช รณรงค์ขายภัยคุกคาม โดยทำให้มัน (อย่างที่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ดีน อาชีสัน Dean Acheson เคยเขียนเอาไว้เมื่อตอนเริ่มต้นสงครามเย็นใหม่ๆ) “กระจ่างชัดเจนเสียยิ่งกว่าสัจจะความจริง” สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับข้อความที่ควรจะนำมาใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ คณะบริหารชุดนี้ได้ว่าจ้างกูรูนักประชาสัมพันธ์มืออาชีพ [2] อย่างเช่น ชาร์ลอตต์ เบียร์ส (Charlotte Beers) ผู้มีฉายาว่าเป็น “ราชินีแห่งถนนเมดิสัน” (Queen of Madison Avenue ถนนเมดิสัน ในนครนิวยอร์ก ขึ้นชื่อเรื่องเป็นที่ตั้งของพวกบริษัทโฆษณา ดังนั้น วลี “ถนนเมดิสัน” จึงหมายถึงวงการโฆษณาไปในตัว -ผู้แปล) ตรงดิ่งจากแคมเปญโฆษณาชนะรางวัล เพื่อขายสินค้าอย่างข้าวสาร Uncle Ben’s Rice และแชมพูสระผม Head & Shoulders

ตั้งแต่ตัวประธานาธิบดีลงมา พวกเขาพยายามหาทางเชื่อมโยงซัดดัม ฮุสเซน ให้เข้ากับกรณีก่อการร้าย 9/11 ถึงแม้พวกเขาไม่ได้มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการโยงใยใดๆ เลย จากนั้นพวกเขาก็โฟกัสไปที่การป่าวร้องเรื่องภัยคุกคามซึ่งเกิดจากอาวุธเพื่อการทำลายล้าง (weapons of mass destruction หรือ WMD) ที่พวกเขากล่าวหาว่าซัดดัมมีอยู่ในครอบครอง

เพื่อเอาเชนะพวกนักวิเคราะห์ของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ที่ยังคงแสดงความข้องใจสงสัย รองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ ได้จัดตั้งกลุ่มข่าวกรองของเขาเองขึ้นมา เวลาเดียวกัน จอห์น เรนดอน (John Rendon) ซึ่งต้องถือว่าเป็นอะไรที่เหนือกว่านักล็อบบี้เสียอีก ได้ประดิษฐ์สร้างกลุ่มชาวอิรักลี้ภัยที่ใช้ชื่อว่า Iraqi National Congress ขึ้นมา โดยมี อาเหม็ด ชาลาบี (Ahmed Chalabi) นักการเงินผู้เลวร้ายต่ำทรามเป็นหัวหน้า กลุ่มนี้พร้อมที่จะจัดหา “ข่าวกรอง” ทุกอย่างให้ตามที่คณะบริหารบุชเรียกร้องแสดงความต้องการมา

แต่ทั้งๆ ที่หว่านโปรยสร้างให้เกิดความหวาดกลัวกันถึงขนาดนี้ คณะบริหารบุช ยังคงเผชิญการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านสงครามครั้งใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยมีผู้จัดกันมา ตั้งแต่ก่อนสงครามอิรักจะเปิดฉากขึ้นด้วยซ้ำ และทำให้นิวยอร์กไทมส์ถึงกับเรียกขานการเดินขบวนนี้ว่าเป็น “อภิมหาอำนาจรายใหม่” [3]

ทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ต่างปฏิเสธไม่ให้ความสนับสนุนสงครามนี้ ยูเอ็นก็ไม่ยอมผ่านมติแซงก์ชันคว่ำบาตร ทว่าพวกนักข่าวและพวกนักเขียนบทบรรณาธิการให้แก่สื่อมวลชนกระแสหลักในสหรัฐฯ กลับขานรับข้อกล่าวหาของคณะบริหาร และพวกผู้รู้สายเสรีนิยมพากันรีบออกมาแสดงอารมณ์ความรู้สึกรักชาติอย่างเต็มเปี่ยมของพวกเขา

พวกนักการเมืองแนวทางเสรีนิยมก็เอาด้วยกับรัฐบาล เพื่อพยายามรักษา “ความน่าเชื่อถือ” ของพวกเขา โดยมีข้อยกเว้นอยู่ไม่กี่ราย การถล่มด้วยข้อมูลข่าวสารบิดเบือนและหลอกลวงเป็นประจำวันเช่นนี้ปรากฏว่าได้ผล ในวันสุกดิบก่อนเกิดสงคราม ผลโพลชี้ว่าสองในสามของชาวอเมริกันคิดว่า ซัดดัม ฮุสเซน เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 [4] และเกือบๆ สี่ในห้าคิดว่าเขากำลังใกล้จะมีอาวุธนิวเคลียร์เต็มทีแล้ว [5]

และแล้วความวิบัติหายนะก็เกิดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น สงครามในอิรักคราวนี้ทำให้สหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตไป 4,600 คน อีกกว่า 30,000 คนได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ประมาณการจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายของฝ่ายอิรัก ให้ตัวเลขสูงสุดเอาไว้ที่ 400,000 คน โดยที่ยังมีคนซึ่งกลายเป็นผู้ลี้ภัยในต่างประเทศจำนวน 7 ล้านคน แล้วอีกหลายล้านกลายเป็นผู้พลัดถิ่นที่ยังอยู่ภายในอิรัก การสู้รบขัดแย้งกันระหว่างผู้คนต่างนิกายศาสนาต่างชาติพันธุ์ ทำให้อิรักเต็มไปด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อน พวกนักรบญิฮาดเจเนอเรชันใหม่งอกเงยเติบโตขึ้นมาและแผ่กระจายไปทั่ว ส่วนอิหร่านสามารถเพิ่มอิทธิพลของตนในภูมิภาคนี้

ชื่อเสียงเกียรติภูมิของอเมริกายังไม่สามารถกอบกู้ฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ได้เลยแม้กระทั่งจนถึงวันนี้ ประเทศส่วนใหญ่ของโลกตอนนี้ต่างพากันถอยห่างออกจากการสู้รบขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และต่างไม่เชื่อถือการป่าวร้องเชิงข่มขู่ของสหรัฐฯ ในเรื่องว่าด้วย “ระเบียบระหว่างประเทศที่ยึดโยงอยู่กับกฎระเบียบ” โดยมองว่าเป็นเรื่องที่วอชิงตัน “มือถือสาก ปากถือศีล” ส่วนอิทธิพลของจีนกลับแผ่กว้างออกไป ขณะที่สหรัฐฯ ต้องตะเกียกตะกายอยู่ในสงครามต่างๆ ที่ดูไม่จบไม่สิ้นเสียทีในตะวันออกกลาง

ชาวอเมริกันเวลานี้เบื่อหน่ายกับสงครามที่ปราศจากชัยชนะ ส่วนสื่อมวลชนพากันใช้เครดิตความน่าเชื่อถือของพวกตนอย่างสุรุ่ยสุร่ายจนหมดเปลืองไปมาก และแล้วความโอหังและความไม่รับผิดชอบของพวกชนชั้นนำในด้านการต่างประเทศ-การกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ ก็ถูกเปิดโปง ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมีคุณูปการทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016

ความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่โศกนาฏกรรม

20 ปีหลังจากการเริ่มต้นขึ้นมาของสงครามอิรัก พวกผู้ป่าวร้องให้การสนับสนุน และพวกผู้ที่คอยแก้ตัวให้แก่สงครามคราวนี้ยังคงพยายามดิ้นรนสร้างความชอบธรรมให้แก่เส้นทางแห่งความฉิบหายของพวกเขา หรือไม่ก็หาทางทำให้คำวินิจฉัยตัดสินต่างๆ มีน้ำหนักเบาลงมา และบรรลุถึงสิ่งที่ ริชาร์ด ฮาสส์ (Richard Haass) ประธานของกลุ่มคลังสมอง “สภาว่าด้วยความสัมพันธ์ต่างประเทศ” (Council on Foreign Relations) ใช้ถ้อยคำอันคลุมเครือเรียกว่า “ฉันทมติที่เข้าใจได้ยากเกี่ยวกับมรดกของสงครามครั้งนี้” [6]

ข้อแก้ตัวประการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้กันบ่อยๆ ก็คือ บอกว่าสงครามคราวนี้เป็นความผิดพลาดหรือเป็นโศกนาฏกรรม แต่ไม่ใช่อาชญากรรม พวกที่แก้ตัวเช่นนี้เสนอว่า คณะบริหารบุชนั้นเชื่อจริงๆ ว่า ซัดดัมมีอาวุธเพื่อการทำลายล้างอยู่ในครอบครอง ขณะที่ ฮัล แบรนด์ส (Hal Brands) เขียนเอาไว้ในวารสารฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส (Foreign Affairs) โดยใช้ถ้อยคำสวยหรูว่า สงครามอิรักคือ “โศกนาฏกรรมที่สามารถเข้าใจกันได้ และถือกำเนิดขึ้นมาด้วยแรงจูงใจอันมีเกียรติ รวมทั้งมีความเป็นห่วงเป็นใยอย่างแท้จริง” [7]

ถึงแม้ขาดไร้หลักฐาน แต่ “พวกเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอที่จะกลายเป็นมวลวิกฤต (critical mass) ... ได้มีการพูดจากับอีกคนหนึ่งไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความเชื่อถือเหตุผลความชอบธรรมข้อซึ่งพรักพร้อมที่สุดที่จะสามารถหามาได้” นี่เป็นบทสรุปของ แมกซ์ ฟิชเชอร์ (Max Fisher) แห่งนิวยอร์กไทมส์ [8]

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้ว “สงคราม (ที่สหรัฐฯ) เลือกที่จะก่อขึ้นมา” (war of choice) ครั้งนี้ เป็นผลผลิตของความอหังการ และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ กำลังอยู่ในจุดสูงสุดของอำนาจของตน สงครามนี้ขับดันโดยพวกกระตือรือร้นเกินเหตุจนถึงขั้นคลั่งไคล้ ซึ่งดูหมิ่นดูแคลนทั้งกฎหมาย หลักฐาน และ “ระเบียบโลกที่ยึดโยงอยู่กับกฎหมาย” หรืออย่างที่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอลิน พาวเวลล์ ผู้ล่วงลับ ได้พูดวิจารณ์ออกมา ภายหลังศึกษาทบทวนวัสดุที่พวกเจ้าหน้าที่จัดหาให้เขาเตรียมตัวสำหรับการไปกล่าวปราศรัยที่สหประชาชาติว่า “นี่มันช่างไร้สาระ” [9]

ที่น่าขันก็คือ ยังมีคนอื่นๆ เสนอแนะออกมาว่า ทุกวันนี้อิรักดีขึ้นกว่าสมัยก่อน โดยดีขึ้นเพราะเป็นผลมาจากการถูกรุกรานคราวนั้น ซัดดัม ฮุสเซน เป็นคนเลว เป็น “หนึ่งใน WMD ที่แท้จริงอย่างชนิดไม่มีทางโต้แย้งได้ในอิรัก” เบรต สตีเฟนส์ (Bret Stephens) คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์เขียนเอาไว้เช่นนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การที่เขาสนับสนุนสงครามคราวนี้ สตีเฟนส์โต้แย้งอีกว่า การกำจัดซัดดัมออกไปคือสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่ชาวอิรัก โดยที่ทั้ง “อิรัก ตะวันออกกลาง และโลก ต่างดีขึ้นกว่าเดิมจากการกำจัดจอมเผด็จการที่มีอันตรายรายหนึ่งไปเสีย” [10]

ข้อสรุปที่น่างงงวยเช่นนี้ สามารถบรรลุถึงได้ก็มีแต่ต้องละเลยเพิกเฉยกับการจ้องทำลายล้างผลาญที่กระทำกับอิรัก กระทำกับภูมิภาคแถบนี้ ตลอดจนกระทำกับเครดิตความน่าเชื่อถือของอเมริกา แล้วมันก็เป็นความโอหังแบบเดียวกันอีกที่นำไปสู่ความพยายามการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในลิเบีย ซึ่งผลลัพธ์ก็คือเกิดสงครามกลางเมืองปะทุขึ้นมาใหม่ที่นั่น ที่นองเลือดยิ่งขึ้นกว่าเดิม

บางคนอย่างเช่น เดวิด ฟรุม (David Frum) มือเขียนคำปราศรัยให้บุช ที่กล่าวกันว่าเป็นผู้คิดวลี “อักษะแห่งปีศาจ” (Axis of Evil) ขึ้นมา (เป็นการจับให้ 3 ประเทศรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกันอย่างประหลาดพิลึก เนื่องจาก อิรัก และอิหร่าน เวลานั้นเป็นศัตรูกันอย่างแรงกล้ามาก ขณะที่ระบอบปกครองของเกาหลีเหนือนั้นไม่ได้มีการเชื่อมโยงใดๆ กับ 2 ประเทศแรก) เวลานี้เสนอแนะว่า ชาวอิรักนั่นแหละสมควรที่จะถูกประณามมากกว่าใครเพื่อน เรา “เสนออนาคตที่ดีกว่าเดิมให้อิรัก” ฟรุม ทวีต เช่นนี้ “ไม่ว่าฝ่ายตะวันตกจะมีความผิดพลาดอย่างไรก็ตามที สงครามระหว่างคนต่างนิกายต่างเชื้อชาติก็คือทางเลือกซึ่งชาวอิรักเลือกให้แก่พวกเขาเอง” [11]

ราคาสำหรับความล้มเหลวที่ไม่สามารถนำเอาพวกผู้กระทำความผิดก่อความหายนะคราวนี้มารับความผิด ก็คือว่าโลกทัศน์ของพวกเขายังคงมีอิทธิพลครอบงำพวกชนชั้นนำทางด้านชาติ-ความมั่นคงของอเมริกา

ไบเดน ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีโดยให้สัญญาที่จะสร้างนโยบายการต่างประเทศสำหรับชนชั้นกลางขึ้นมา แต่แล้วเขาก็กลับเดินหน้าตอกย้ำอาการจิตหลอนหลงผิดคิดว่าตนเองเป็นจักรวรรดิใหญ่ของอเมริกา --ความเชื่อที่ว่าเรามีทั้งทรัพยากร สติปัญญา และกฎบัตรที่จะเป็นตำรวจโลก ที่จะต่อต้านทั้งรัสเซียและจีนในย่านเพื่อนบ้านของพวกเขาเอง โดยที่เวลาเดียวกันนั้น เราก็เที่ยวไล่ล่าพวกผู้ก่อการร้าย ทิ้งระเบิดจากโดรนลงมาใน 7 ประเทศ และกระจายกองกำลังออกไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

เราประณามอย่างสมเหตุสมผลว่าการที่รัสเซียรุกรานยูเครนเป็นการล่วงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ทว่า ริชาร์ด ฮาสส์ สมาชิกระดับผู้ก่อตั้งของชนชั้นนำด้านการต่างประเทศ-กำหนดนโยบายของเรา กลับสามารถเขียนออกมา –โดยดูเหมือนว่าไม่ได้ตั้งใจให้เป็นการเหน็บแนมเย้ยหยัน— ว่า บทเรียนที่สามารถสรุปออกมาได้จากอิรัก ไม่ใช่การคัดค้านสงครามก้าวร้าวรุกราน แต่ข้อสรุปควรจะเป็นว่า “สงครามที่เราเลือกจะก่อขึ้นมานี้ควรต้องดำเนินการต่อเมื่อมีการใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง และมีการพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่น่าจะเกิดขึ้นกันแล้ว”

แน่นอนทีเดียว หนึ่งในความโหดเหี้ยมเลวร้ายที่คงทนยั่งยืนของสงครามอิรักก็คือว่า ถึงแม้เกิดความฉิบหายขนาดนี้แล้ว ทว่าพวกชนชั้นนำด้านการต่างประเทศ-การวางนโยบายของอเมริกายังคงไม่ได้รู้สึกหวั่นไหว และโลกทัศน์ของพวกเขายังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แคทรินา วานเดน ฮูเวล เป็นผู้อำนวยการกองบรรณาธิการ และผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของ เดอะเนชั่น (The Nation) และเป็นประธานของคณะกรรมการอเมริกาเพื่อการตกลงกันระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซีย (American Committee for US-Russia Accord หรือ ACURA) เธอเขียนคอลัมน์ในวอชิงตันโพสต์สัปดาห์ละครั้ง และเป็นคอมเมนเตชันทางด้านการเมืองสหรัฐฯ และการเมืองระหว่างประเทศ ที่ได้รับเชิญให้ไปปรากฏตัวบ่อยครั้งทั้งทาง Democracy Now, PBS, ABC, MSNBC และ CNN

ข้อเขียนนี้เผยแพร่โดย โกลบทร็อตเตอร์ (Globetrotter) โดยร่วมมือกับ เดอะ เนชั่น (The Nation)

เชิงอรรถ
[1] https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2023/02/22/remarks-by-president-biden-before-meeting-with-the-leaders-of-the-bucharest-nine/
[2] https://www.counterpunch.org/2023/03/23/selling-the-iraq-war-a-how-to-guide/
[3] https://www.nytimes.com/2003/02/17/world/threats-and-responses-news-analysis-a-new-power-in-the-streets.html
[4] https://www.pewresearch.org/politics/2021/09/02/two-decades-later-the-enduring-legacy-of-9-11/
[5] https://www.pewresearch.org/politics/2023/03/14/a-look-back-at-how-fear-and-false-beliefs-bolstered-u-s-public-support-for-war-in-iraq/
[6] https://www.cfr.org/article/revisiting-americas-war-choice-iraq
[7] https://www.foreignaffairs.com/reviews/iraq-war-lessons-blundering-into-baghdad-hal-brands
[8] https://www.nytimes.com/2023/03/18/world/middleeast/iraq-war-reason.html
[9] https://www.theguardian.com/world/2003/jun/02/usa.iraq
[10] https://www.nytimes.com/2023/03/21/opinion/20-years-on-i-dont-regret-supporting-the-iraq-war.html

[11]https://twitter.com/davidfrum/status/750649573245329408?ref_src=twsrc%5Etfw%7Ctwcamp%5Etweetembed%7Ctwterm%5E750649573245329408%7Ctwgr%5E646ec90bec7ec0dfec0d44da35f5fd3b1f88a047%7Ctwcon%5Es1_&ref_url=https%3A%2F%2Ftherealnews.com%2Fus-medias-iraq-war-pushers-20-years-on-where-are-they-now-rich-and-influential
กำลังโหลดความคิดเห็น