xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนหลังเลือกตั้ง กกต.จุดชี้ขาด !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

มีการประเมินกันแบบที่เห็นตรงกันแล้วว่า หลังการเลือกตั้งบ้านเมืองจะ “ไม่เหมือนเดิม” แน่นอน เพียงแต่ว่ามากน้อยขนาดไหนเท่านั้น มีความ “เสี่ยง” ทั้งสองด้าน ไม่ว่าจะออกไปทางไหนล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น แม้ว่าหากพิจารณาในทางบวก ก็ยังเชื่อว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงก็ไม่มากนัก และอาจส่งผลดีต่อบ้านเมืองที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างตามสถานการณ์

อย่างที่รับรู้กันแล้วว่าในทางการเมืองเวลานี้มีการแบ่งออกเป็น “สองขั้ว” หลักๆ ส่วนจะเรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตย หรือ เสรีนิยม กับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็ว่ากันไป ซึ่งก็มีการแบ่งข้างของพรรคการเมืองออกมาเป็นสองกลุ่มใหญ่เช่นเดียวกัน

แน่นอนว่าฝ่ายแรกก็มีพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ ไทยสร้างไทย อะไรประมาณนี้ ขณะที่อีกฝ่ายก็มีกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิม มีพรรคพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา แต่ที่น่าสนใจก็คือ หากแบ่งออกเป็นสองกลุ่มดังกล่าว โดยมีกลุ่มมวลชนผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายมีจำนวนใกล้เคียงกัน ซึ่งหากว่ากันในรายละเอียด ฝ่ายหลังน่าจะมีมากกว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะมีจำนวนกลุ่ม“ผู้สูงวัย” ที่ยังมีอยู่จำนวนมาก ตามสภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่อยู่ในยุคผู้สูงอายุที่คล้ายคลึงกันกับหลายประเทศ

มาที่การเมืองไทย ที่แม้ว่ามองโดยรวมแล้วทั้งสองฝ่ายมีความก้ำกึ่งกันก็ตาม และเหลื่อมมาทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ตาม แต่ความร้อนแรงมักมาจากฝ่ายแรก คือฝ่ายที่อ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายเสรีนิยมหรือประชาธิปไตยนั่นแหละ เพราะกลุ่มนี้จะมีพวกเด็กๆ คนรุ่นใหม่เข้ามาเติม ซึ่งระบบคิด การใช้ชีวิตและประสบการณ์จะไม่เหมือนใคร จนบางครั้งอาจมองเป็นความ “แปลกแยก” ด้วยซ้ำไป

ที่ต้องบอกว่าหากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงก็มาจากกลุ่มหลังนี่แหละ เพราะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนอายุน้อย ไม่เคยผ่านประสบการณ์ยากลำบาก เหมือนกับในยุครุ่นพ่อ รุ่นแม่ รวมย้อนไปถึงปู่ย่าตายาย ที่ผ่านสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงมานาน ซึ่งจะเป็นการขัดแย้งทางความคิดในเชิงอุดมการณ์ก็ได้ ในยุค 14 ตุลาฯ16 ต่อเนื่องมาถึง 6 ตุลาฯ19 มีการต่อสู้กันระหว่างลัทธิ คือ คอมมิวนิสต์ ที่มีรัสเซีย และจีน กับฝ่ายประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกา และฝ่ายตะวันตก เป็นแกนหลัก

สถานการณ์ในยุคนั้น ในประเทศไทยความขัดแย้งเกือบเข้าสู่สงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบแล้ว แต่ด้วยความโชคดีที่สถานการณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งฝ่ายคอมมิวนิตย์ ที่ขัดแย้งกันเอง ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยที่มีการปรับตัวจนกลายมาเป็นกลุ่มที่ถูกเรียกว่าเป็นอนุรักษ์นิยมมาในวันนี้ มีการใช้จังหวะปรับนโยบายทางการเมืองให้มีความยืดหยุ่นที่เห็นภาพคือ นโยบาย 66/23 ที่เปิดทางให้กลุ่มนักศึกษาที่หลบหนีการปราบปรามเข้าสู่ป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีโอกาสกลับเข้าเมืองได้ใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง ซึ่งจะว่าไปกลุ่มนักศึกษาพวกนี้ก็คงไม่อยากอยู่ในป่าอยู่แล้ว

เพราะคนพวกนี้ ยังเป็นเด็กหนุ่มสาว มีความร้อนแรงในตำราจากรั้วมหาวิทยาลัย เร่าร้อนตามตำรา ซึ่งก็เป็นไปตามยุคสมัย ในยุคนั้นเรียกว่า “ยุคแสวงหา” ลักษณะการต่างกายก็เป็นแบบ “5 ย.” คือ เสื้อยืด ผมยาว รองเท้ายาง กางเกงยีน สะพายย่าม ประมาณนี้ แต่ถึงอย่างไร พวกเขาก็เคยอยู่ในเมือง อยู่กับครอบครัว แต่พอเกิดแรงบีบคั้นจนต้องเข้าสู่ป่า แรกๆก็ร้อนแรงตามอุดมการณ์ แต่นานเข้าเมื่อเกิดความลำบาก ประกอบกับฝ่ายรัฐที่มีการปรับนโยบายใหม่ ทั้งต่างประเทศและในประเทศ มีการเปิดสัมพันธ์กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ คือ จีน มันก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์ทั้งตามประเทศรอบบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา และเกิดสงครามสั่งสอนเวียดนาม ขณะที่ในไทยก็เลิกให้การสนับสนุนพรรครคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท.จนทำให้เกิดความอ่อนล้า และเมื่อฝ่ายรัฐมีการปรับนโยบาย 66/23 ขึ้นมา เป็นการเปิดทางให้กลับมาทำให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี

ที่ต้องปูพื้นกันแบบนี้ เพราะมันมีผลต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน ที่เกี่ยวข้อกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา แม้ว่าจะแตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิง เพราะยุคนี้ “ไม่ใช่เป็นลักษณะฝ่ายซ้าย” แต่เป็นแบบ ชื่นชมฝ่ายตะวันตก ตามแนวทางของบางประเทศ ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป ทั้งนี้ประเทศกลุ่มนี้ กลุ่มนักศึกษาในยุค 14-6 ตุลา ประณามว่าเป็นจักรวรรดินิยม เป็นพวกนายทุนผูกขาดอย่างแท้จริง แต่ในยุคนี้เด็กๆ ที่เรียกว่าเป็นคนรุ่นใหม่กลับเชิดชู จนกลายเป็นเรื่องแปลก

แม้ว่าอาจจะเหมือนกับในยุคอดีตคือ วิจารณ์ คุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ตาม แต่แนวทางของพวกเด็กรุ่นใหม่พวกนี้ กลับคุกคามภายใต้การหนุนหลังจากประเทศตะวันตก เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยเพื่อมาค้ำยันกับคู่อริอีกฝ่าย คือ จีน ที่กำลังขยายอิทธิพลเข้ามาอย่างน่ากลัวนั่นเอง

รับรู้กันแล้วว่า กลุ่มประเทศตะวันตกเคลื่อนไหวผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ และผ่านพรรคการเมืองบางพรรค ที่กำลังเคลื่อนไหวอย่างร้อนแรง และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าหลายฝ่ายประเมินกันว่ายังไม่อาจชนะก็ตามที แต่มันก็มีความเสี่ยงที่จะถูกปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะเหตุการณ์หลังการเลือกตั้งในครั้งนี้

เพราะคาดกันว่า พรรคฝ่ายที่เรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตย หรือเสรีนิยมมีความเติบใหญ่ ไม่ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม ก็จะมีความเสี่ยง เพราะหากเป็นรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลง รื้อโครงสร้างขึ้นมาจริงๆ มันก็ย่อมเกิดแรงต้านจากอีกฝ่ายที่มีพลังในสังคมไม่น้อย นี่แหละที่น่ากลัว

แต่หากฝ่ายอนุรักษ์นิยม เป็นฝ่ายชนะ ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งความเสี่ยงอาจจะลดลงน้อยกว่าฝ่ายแรก อย่างน้อยสถานการณ์ก็เหมือนกับที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผลการเลือกตั้ง ที่ออกมาในแบบค้านสายตา โดยเฉพาะการควบคุมการเลือกตั้งจากฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ไม่อาจทำให้เกิดความเชื่อมั่นจากทุกฝ่ายได้มากพอ นั่นแหละโอกาสหายนะจะเกิดขึ้น เพราะอีกฝ่ายจะไม่ให้การยอมรับและนำไปขยายผลจนเกิดความวุ่นวายบานปลาย ถึงตอนนั้นก็ย่อมมีความเสี่ยง

ดังนั้น ตัวแปรสำคัญในตอนนี้ก็คือ กกต.ที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้เกิดความน่าเชื่อถือ จนไม่เกิดความคลางแคลงใจจากทุกฝ่าย ผลการเลือกตั้งต้องได้รับการยอมรับ ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา อย่างน้อยก็จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง อีกทั้งด้วยความเชื่อที่ว่าในที่สุดแล้วฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นฝ่ายชนะก็ตาม !!


กำลังโหลดความคิดเห็น