ผู้จัดการรายวัน 360 - “ภคพงศ์” ผู้ว่าการ รฟม. ซัด “ขบวนการนอกศาล” กดดัน “สายสีส้ม” หวั่นเป็นแท็กติกถ่วงทุกโครงการรัฐ ตีแสกหน้า “เจ้าสัวคีรี-BTSC” มโนตัวเลขส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบ. ทั้งที่ซองข้อเสนอใช้อ้างอิงไม่ได้ งัดผลตอบแทน “สีชมพู-สีเหลือง” ที่ BTSC เสนอตอบแทนรัฐ 250 ล้านบ. แต่ “สีส้ม” กลับอ้างว่าเสนอ 7 หมื่นล้านบ.
จากกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 ตีกลับผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และในส่วนของสัมปทานการเดินรถ 30 ปี ที่เสนอโดย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทน รมว.คมนาคม ผ่าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม โดยให้เหตุผลว่า เพื่อรอผลการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องในชั้นศาล และคำพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ยุติก่อนนั้น
วานนี้ (19 มี.ค.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า เดิมที นายอธิรัฐ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทน รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้ชะลอการเสนอผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก แต่ รฟม.ได้เข้าชี้แจงถึงสถานะของคดีที่เกี่ยวข้องกับสายสีส้มทั้งหมด ที่แม้จะมี 2 คดีที่ยังไม่ยุติ แต่อย่างน้อยก็มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ยืนยันว่า รฟม.ดำเนินคัดเลือกเอกชนจนได้ผู้ชนะแล้วนั้นชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคดีที่เกี่ยวกับการคัดเลือก หรือประมูลนั้นศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาใดๆ แต่มีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวตามที่เอกชนผู้ฟ้องคดีร้องเข้าไป ย่อมหมายถึงว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ไม่ได้เข้าข่ายล็อกสเปก หรือกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด และสามารถดำเนินการได้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ซึ่งก็เหลือเพียงขั้นตอนเสนอให้ ครม.เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และลงนามกับเอกชนต่อไป
“รฟม.ทำดีที่สุดแล้วตามอำนาจหน้าที่ที่มาตรา 36 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กำหนด และยังมีการยืนยันโดยศาล ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว หรือคำสั่งของศาลปกครองกลางในเรื่องการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ที่ครบถ้วนชัดเจน ไม่มีเหตุผลที่ รฟม.จะสามารถดึงเรื่องไว้ได้ เพราะจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม” นายภคพงศ์ ระบุ
นายภคพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่มีความเคลื่อนไหวโจมตีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกจากบางฝ่ายด้วยว่า ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายเคารพกติกาของสังคม เคารพคำพิพากษาของศาล อย่าใช้เวทีภายนอกมากดดัน ทั้งกดดันศาล หรือกดดันกระบวนการที่ต้องดำเนินต่อตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีข้อห้ามใดๆที่บอกว่า ถ้ามีการฟ้องคดีแล้วจะต้องหยุดการดำเนินการ มิเช่นนั้นในการประมูลโครงการรัฐต่อๆ ไปในอนาคต หากมีการฟ้องร้องก็ต้องหยุดดำเนินการ ก็จะทำให้รัฐ ประเทศชาติ และประชาชนต่างต้องสูญเสียโอกาส
ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวอีกว่า ที่สำคัญต้องขอวิงวอนไปถึง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) รวมถึง นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร BTSC ซึ่งก็ถือเป็นคู่สัญญากับ รฟม.ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่ใกล้เปิดเดินรถแล้วว่า เรื่องของคดีความในส่วนของสายสีส้ม BTSC ก็เลือกใช้ขบวนการทางกฎหมายยื่นฟ้องคดี ซึ่ง รฟม.เองก็ยอมรับในสิทธิ และเข้าต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จนมีผลคำพิพากษาออกมาแล้ว ก็ขอให้ นายคีรี และ BTSC ให้ความเคารพต่อคำพิพากษาศาล ซึ่งถือเป็นกติกาของสังคมที่ทุกคนต้องยอมรับด้วย
“ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า มีขบวนการนอกศาล ที่เหมือนกับไม่เคารพคำพิพากษาของศาล พยายามกดดันด้วยสื่อ ด้วยฝ่ายการเมือง ที่ซึ่งต้องพูดตรงๆว่า ออกมาเป็นแนวร่วมกับ คุณคีรี เพราะทั้งหมดมาจากที่ คุณคีรี เป็นผู้ฟ้องคดี แล้วพอคำพิพากษาออกมาไม่เป็นคุณ ก็ใช้การกดดันนอกศาลอย่างที่เป็นข่าว และ คุณชูวิทย์ (กมลวิศิษฏ์) เองก็บอกว่า รับงานมา แต่มีการรับเงินหรือไม่ ผมไม่ทราบ” นายภคพงศ์ ระบุ
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก มีส่วนต่างถึง 6.8 หมื่นล้านบาทนั้น นายภคพงศ์ กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงผู้ยื่นซองข้อเสนอในการคัดเลือกครั้งที่ 2 มีเอกชน 2 ราย คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และกลุ่มของบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) (ITD) ส่วน BTSC ไม่ได้ยื่นข้อเสนอ แต่ไปฟ้องศาลว่าถูกกีดกัน ซึ่งศาลก็พิพากษาแล้วว่า ไม่มีการกีดกันใดๆ โดยซองข้อเสนอที่ BTSC นำมากล่าวอ้าง เป็นซองข้อเสนอที่ BTSC มารับคืนไปจากการคัดเลือกครั้งแรกที่มีการยกเลิกไป ซึ่งไม่มีใคร รวมถึง รฟม.รู้รายละเอียดข้างใน แต่ BTSC และฝ่ายการเมืองกลับนำมากล่าวอ้างว่า BTSC ยื่นขอรับการสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาจากภาครัฐ 7.9 หมื่นล้านบาท และสามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับ รฟม.ตลอดอายุสัมปทานเดินรถ 30 ปีเป็นเงิน 7 หมื่นล้านบาท เมื่อหักลบแล้วก็จะเหลือการขอรับเงินสนับสนุนอยู่ที่ 9 พันล้านบาท เทียบกับข้อเสนอที่มีการยื่นอย่างถูกต้องของ BEM ที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด ขอรับการสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาจากภาครัฐราว 8.1 หมื่นล้านบาท และเสนอจ่ายผลตอบแทนให้กับ รฟม.ตลอดอายุสัมปทานเดินรถ 30 ปีเป็นเงิน 3.58 พันล้านบาท ยอดเงินชดเชยของ BEM ก็จะอยู่ที่ราว 7.8 หมื่นล้าน ก็มีการนำมาหักลบกับตัวเลขของ BTSC จนเป็นยอดส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาทที่มีการนำมากล่าวอ้างกัน
ผู้ว่าการฯ รฟม. ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทาง BTSC เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ รฟม.ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล ซึ่งผ่านการคัดเลือก หรือยื่นประมูลในลักษณะใกล้เคียงกัน ตอนที่ BTSC ยื่นข้อเสนอและเป็นผู้ชนะการคัดเลือกสายสีชมพู และสายสีเหลืองนั้น ข้อเสนอของ BTSC กลับไม่ได้ดีอย่างที่กล่าวอ้างในส่วนของสายสีสัม กล่าวคือ BTSC เสนอค่างานโยธาราว 2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับราคากลาง ส่วนผลตอบแทนอายุสัมปทาน 30 ปีเช่นกัน BTSC เสนอผลตอบแทนเพียง 250 ล้านบาท ใกล้เคียงกันทั้งสายสีชมพู และสายสีเหลือง และถ้าคิดตามฐานมูลค่าปัจจุบัน (PV) จะเหลือเพียง 151 ล้านบาทด้วยซ้ำ
“ก็มีข้อสงสัยว่า สายสีส้มที่ BTSC อ้างว่า จะจ่ายค่าตอบแทนให้ รฟม.ตั้ง 7 หมื่นล้านบาทเกือบเท่าค่างานโยธา แล้ว ชมพู-เหลือง ทำไมจ่ายให้แค่ 250 ล้าน เห็นชัดเจนว่า ของจริงคืออันที่ยื่นแล้วชนะ ส่วน 7 หมื่นล้านของสายสีส้ม ไม่ทราบว่าเป็นตัวเลขที่ปั้นขึ้นมาเองหรือเปล่า และเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้ผ่านการเปิดซองตามกระบวนการอย่างถูกต้อง ไม่น่าจะเป็นตัวเองที่จะนำมาอ้างอิงได้ด้วยซ้ำ หาก BTSC เสนอดีแบบสายสีส้ม ก็น่าจะแก้สัญญาสายสีชมพู และสีเหลือง เพื่อที่รัฐจะได้ค่าตอบแทนมากขึ้น” นายภคพงศ์ กล่าว
ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวอีกว่า การที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และในส่วนของสัมปทานการเดินรถ 30 ปี ยังไม่สามารถลงนามในสัญญากับเอกชนผู้ชนะการคัดเลือกได้ ส่งผลกระทบทำให้การเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออกต้องล่าช้าออกไปด้วย ตามแผนเดิมจะสามารถเปิดเดินรถในส่วนของสายสีส้มฝั่งตะวันออกที่การก่อสร้างงานโยธาใกล้ 100% ได้ในช่วงปลายปี 2567 แต่เราเสียเวลาในเรื่องของการต่อสู้คดีมาตั้งปี 2563 จนถึงปีนี้ 2566 เป็นเวลากว่า 2 ปีครึ่ง ขณะนี้เปิดเดินรถได้เร็วที่สุดอาจจะเป็นช่วงกลางปี 2569 ซึ่งมีผลกระทบทั้งในแง่เศรษฐกิจ ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินไว้ราว 4.8 หมื่นล้านบาท และประชาชนที่เสียโอกาสในการใช้บริการภาครัฐ ตลอดจน รฟม.ที่ต้องรับมอบงานโยธาฝั่งตะวันออกในเร็วๆนี้ ที่ต้องเสียงบประมาณค่าบำรุงรักษาในช่วงที่ยังไม่มีการใช้งาน ก่อนที่ผู้รับสัมปทานเดินรถจะมารับช่วงต่อไป
“ยิ่งช้าออกไปก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ประชาชนเสียโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลกำลังสู่ช่วงรักษาการ และจะมีการเลือกตั้งก่อนจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งกระบวนการตั้งรัฐบาลมีการคาดการณ์ว่า น่าจะล่วงไปถึงเดือน ส.ค.-ก.ย.66 ที่จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ก็อีกอย่างน้อยๆ ครึ่งปี แผนการเปิดเดินรถฝั่งตะวันออกก็ต้องล่าไปอีก” นายภคพงษ์ กล่าว.