“BEM-ช.การช่าง” แจงตัวเลขประมูล "สีส้ม" ทำได้จริง แถมเจรจาเพิ่มช่วยตรึงค่าโดยสารเท่า "สีน้ำเงิน" 10 ปีแรก เผยกติกาเปิดกว้าง ไม่กีดกันรับหมาหลายรายเข้าได้ มั่นใจเปิดเดินรถได้ใน 3 ปี ไม่กังวลข้อพิพาทรอได้ทุกรัฐบาล ส่วนค่าก่อสร้าง 9 หมื่นล้านแต่ขอรัฐหนุน 9 พันล้านเป็นไปไม่ได้
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่บริษัทฯได้เข้าประมูล และชนะการคัดเลือก ว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีข้อมูลที่สับสนและเกิดความไม่เป็นธรรมต่อบริษัทฯ จึงขอชี้แจงข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถือได้ว่าเป็นโครงการก่อสร้างที่ใหญ่มาก เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินตลอดสาย โดยส่วนแรก ด้านตะวันออก ช่วง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) อยู่ระหว่างก่อสร้าง ด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ รัฐประมูลหาเอกชนมาดำเนินการก่อสร้างและเดินรถตลอดสาย ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งบริษัทฯ ได้เข้าร่วมประมูลภายใต้กติกาที่รัฐกำหนด
สายสีส้มก่อสร้างงานยากมาก เพราะแนวเส้นทางสายสีส้มด้านตะวันตกเป็นอุโมงค์ใต้ดินตลอดสายลอดผ่านย่านห้วยขวาง -วิภาวดีรังสิต-ราชปรารภ-เพชรบุรี-ศรีอยุธยา-ผ่านฟ้าฯ-ราชดำเนิน-สนามหลวง-ม.ธรรมศาสตร์-ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานพระปิ่นเกล้า-ศิริราช เป็นพื้นที่สำคัญ คาดว่าต้องใช้หัวเจาะเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-7 เมตร จำนวน 8-10 หัว ทำงานพร้อมๆ กัน บริษัทฯ ประเมินความพร้อมด้านเครื่องมือ เทคโนโลยี แรงงาน และบุคลากรด้านการเดินรถที่มีความเชี่ยวชาญรถไฟฟ้าใต้ดิน ประเมินแล้วมีศักยภาพทำได้จึงเข้าประมูล โดย BEM ร่วมกับ ช.การช่าง เป็นการแข่งขันตามปกติ
@ เผย TOR กติกาเปิดกว้าง ผู้รับเหมาเข้าได้หลายราย
นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวว่า ที่พูดกันว่า กำหนด TOR เพื่อ ช.การช่าง เป็นไปไม่ได้ TOR กำหนดคุณสมบัติผู้รับเหมา ต้องมี 1. ผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน ไม่เฉพาะอุโมงค์รถไฟฟ้าเท่านั้น เป็นอุโมงค์ระบายน้ำ หรืออุโมงค์อื่นก็ได้ 2. ผลงานก่อสร้างสถานีใต้ดินหรือยกระดับ 3. ผลงานระบบราง ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าผู้รับเหมารายเดียวที่ต้องมีผลงานครบทั้ง 3 ด้าน เพราะผู้รับเหมาหลายรายนำผลงานแต่ละด้านมาร่วมกันได้ ส่วน ช.การช่าง นั้นทำงานมา 40 กว่าปี มีคุณสมบัติครบ มีศักยภาพจึงไม่ได้ร่วมกับรายอื่น
“ตรงนี้อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันออกที่กำลังสร้าง ก็มีทั้ง บริษัท ช.การช่าง, บมจ.อิตาเลียนไทย, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง เป็นต้น เข้ามาประมูลได้ ยืนยัน TOR สีส้ม ไม่ได้ทำให้เฉพาะ ช.การช่าง บริษัทฯ ทำธุรกิจมาหลายสิบปี ประเมินโครงการไหนคุณสมบัติครบแข่งขันได้ก็ยื่นประมูล หากคุณสมบัติไม่พอก็หาพันธมิตรมาร่วม เดิมเมื่อ 30 ปีก่อน ช.การช่าง ไม่มีคุณสมบัติด้านอุโมงค์ จะเข้าประมูลจึงไปจับมือกับพันธมิตร เช่น บิลฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์, โตคิว เพื่อให้คุณสมบัติครบ”
ส่วนกติกาประมูล รัฐกำหนด 2 ส่วน คือ 1. เสนอขอให้รัฐอุดหนุนค่างานโยธาเท่าไร ซึ่งรัฐกำหนด (ผลศึกษา) ที่ 91,983 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) ที่ 84,756 ล้านบาท โดย BEM เสนอที่ 91,500 ล้านบาท หรือ PV ที่ 81,871 ล้านบาท 2. เอกชนจะแบ่งผลตอบแทนให้รัฐเท่าไร ซึ่งผลศึกษารัฐจะไม่มีการอุดหนุนค่าเดินรถให้เอกชนเลย โดย BEM เสนอจ่ายผลตอบแทนให้รัฐที่ 10,000 ล้านบาท หรือ PV ที่ 3,583 ล้านบาท เมื่อนำผลตอบแทนให้รัฐหักกับค่าอุดหนุนงานโยธา เป็นผลประโยชน์สุทธิ PV ขออุดหนุนที่ 78,288 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าผลศึกษาหรือราคากลางประมาณ 7%
@ตรึงค่าโดยสาร "สีส้ม" 10 ปีแรกเท่า "สีน้ำเงิน" ช่วยประชาชน
นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวว่า ในการเจรจารัฐได้ต่อรองขอให้บริษัทฯ ลดการอุดหนุนค่าก่อสร้าง แต่ประเมินตัวเลขที่รัฐกำหนดผลศึกษาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าแรง ทุกอย่างตอนนี้ปรับขึ้นหมด เฉพาะราคาเหล็กปรับจาก 16 บาทเป็น 24-28 บาท/กก. เป็น 24-28 บาท/กก. เฉพาะเหล็กต้นทุนเพิ่ม 4,000 ล้านบาทแล้ว บริษัทยืนยันราคาที่เสนอ แต่ได้มีการเจรจาเพิ่มผลประโยชน์ให้รัฐและประชาชน 2 ข้อ คือ
1. ตรึงอัตราค่าโดยสารสายสีส้ม เท่ากับค่าโดยสารสายสีน้ำเงิน ในช่วง 10 ปีแรก และเงื่อนไขค่าแรกเข้าครั้งเดียว กรณีเดินทางข้ามระบบภายใต้โครงข่ายของ รฟม. ซึ่งทำให้บริษัทฯ สูญเสียรายได้กว่า 10,000 ล้านบาท โดยตามเงื่อนไขค่าโดยสารสีส้ม ณ ปีเปิดบริการ คิดตามอัตราเงินเฟ้อ เริ่มต้นที่ 20 บาท สูงสุด 50 บาท หากเก็บเท่าสายสีน้ำเงินประมินในปีเปิด จะเริ่มต้น 17 บาท และในปีที่ 11 จะคิดค่าโดยสารสายสีส้มตามกติกาที่กำหนด
2. บริษัทยินดีรับภาระค่าบำรุงรักษาโครงสร้าง สถานี และระบบ สายสีส้มด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ที่กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ประเมินวงเงิน 40-50 ล้านต่อเดือน
@ค่าก่อสร้าง 9 หมื่นล้านบาท ขออุดหนุน 9,000 ล้านบาท เป็นไปไม่ได้
นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวผ่านสื่อว่ามีรายอื่นทำถูกกว่าขออุดหนุนรัฐแค่ 9,000 ล้านบาท ต้องบอกว่าสายสีส้มค่าก่อสร้าง 90,000 ล้านบาท การขออุดหนุน 9,000 ล้านบาทเป็นไปได้หรือไม่ และเสนอแบ่งค่าตอบแทนรายได้ให้รัฐกว่า 100,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ผู้โดยสารสีส้มต้องมีระดับ 1 ล้านคนขึ้นไป แต่ในความเป็นจริง สายสีส้มวิ่งจากด้านตะวันตก-ตะวันออก กทม.เป็นเส้นทางที่มีผู้โดยสารไม่มาก จะมีช่วงเช้า และเย็น เหมือนกับสายสีม่วง แต่สีส้มผ่านชุมชนมากกว่าเท่านั้น ผลศึกษาปีเปิดบริการประมาณ 100,000-200,000 คน และกำหนดว่าจะไม่อุดหนุนค่าโดยสาร โดยให้เอกชนรับความเสี่ยงเอง
หากย้อนดูโมเดล รถไฟฟ้าสีเขียวส่วนแรก เปิดบริการก่อน มีผู้โดยสารมากที่สุด เพราะเส้นทางผ่านกลางเมือง มีการเดินทางตลอดทั้งวัน เอกชนลงทุนทั้ง 100% รัฐไม่อุดหนุน เอกชนไม่แบ่งรายได้ ผู้โดยสารประมาณ 800,000 คน
รองลงมาคือ สายสีน้ำเงิน เส้นทางเป็นวงกลม รัฐสร้างงานโยธา 104,509 ล้านบาท เอกชนเดินรถ จ่ายผลตอบแทน 50,000 ล้านบาท ผู้โดยสารประมาณ 400,000 คน สีชมพู และสีเหลือง รัฐอุดหนุนค่างานโยธา 19,975 ล้านบาท และ 22,239 ล้านบาท ตามลำดับ เอกชนแบ่งรายได้ 152 ล้านบาททั้ง 2 สาย ผู้โดยสารประมาณ 200,000 คนทั้ง 2 สาย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รัฐอุดหนุนค่าโยธา 117,227 ล้านบาท เอกชนแบ่งรายได้ 300 ล้านบาท ผู้โดยสาร 20,000 คน
จะเห็นได้ว่า โครงการรถไฟฟ้าที่ผ่านมา ไม่มีกำไรหากรัฐไม่เข้าไปอุดหนุนค่าก่อสร้าง ดังนั้น สายสีส้มตัวเลขอุดหนุน 9,000 ล้านบาท แต่ต้องก่อสร้าง 90,000 ล้านบาท หากทำได้ เท่ากับสายสีเขียว สีน้ำเงินก็คิดผิดมาตลอด รัฐถูกเอกชนต้ม อีกทั้งสายสีส้ม เส้นทางยาวผู้โดยสารไม่ได้มีทั้งวันเหมือนสีเขียวกับสีน้ำเงิน
@ เร่งเปิดเดินรถด้านตะวันออกภายใน 3 ปี หลังลงนาม
นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวว่า บริษัทฯ ยืนยันมีเงินทุน ก่อสร้างได้จริง คุณภาพดีจริง แบ่งผลประโยชน์ให้รัฐได้จริง สามารถทำได้ตามที่ตกลงทุกประเด็น โดยพร้อมจัดหาขบวนทันทีหลังลงนามสัญญา เงื่อนไขเปิดเดินรถด้านตะวันออก ภายใน 3 ปี 6 เดือน ซึ่งมั่นใจว่าจะเปิดได้ภายใน 3 ปี (ลงนามสัญญาปี 2566 เปิดเดินรถปี 2569) ในขณะที่ก่อสร้างด้านตะวันตกจะเสร็จใน 6 ปี เปิดเดินรถในปี 2572
@ไม่กังวลข้อพิพาท รอรัฐบาลตัดสิน มั่นใจประมูลตามกติกา
กรณีที่มีการฟ้องร้องข้อพิพาทต่างๆ บริษัทไม่ได้กังวล เท่าที่ทราบ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินเรื่องแก้ไข TOR ไม่ผิด ส่วนการประมูลครั้งแรกที่มีการยกเลิกไปแล้วมองว่าจบแล้ว จากที่บริษัทได้เข้าร่วมประมูลหลายโครงการ มียกเลิกประมูลตามเหตุผลของเจ้าของโครงการไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งสายสีส้มยกเลิกประมูลครั้งแรกแล้ว รับซองคืนและคืนเงินหมดแล้ว คือจบแล้ว กลับไปประมูลใหม่ไม่ได้
ส่วนกรณีที่โครงการอาจจะล่าช้าเพราะอาจต้องรอรัฐบาลใหม่ตัดสิน บริษัทไม่กังวลเช่นกัน เพราะเข้าประมูลและชนะตามกติกา พร้อมรอรัฐจะเดินหน้าอย่างไร ส่วนจะเป็นรัฐบาลไหนก็ไม่กังวลเพราะเราเป็นคนไทย บริษัทยืนยันเข้าร่วมประมูลตามกติกา เมื่อถูกพาดพิง มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทำให้มีความเข้าใจผิด มีข่าวที่สับสนบ้าง จึงขอชี้แจงสื่อสารข้อมูลให้สังคมเข้าใจ และขอความเป็นธรรมให้กับบริษัท เราไม่ทะเลาะกับใคร ขณะที่เมื่อประมูลแล้วบริษัทชนะ มีการเจรจาต่อรอง รัฐขอให้ลดค่าก่อสร้าง เมื่อทำไม่ได้ บริษัทยอมตรึงค่าโดยสาร 10 ปี