xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.กาง 5 คดีพิพาท "สีส้ม" เหลือรอคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุด 1 คดี ชี้ล่าช้า 2 ปีแล้วถึงเวลาต้องเร่งรัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.กาง 5 คดี "สายสีส้ม" ถึงที่สุดแล้ว 1 คดี รอคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุด 1 คดี อีก 3 คดียกฟ้อง, ยกคำร้องขอทุเลาและไม่รับฟ้องให้จำหน่ายคดี ยัน กก.คัดเลือกฯ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 62 เปิดกว้างไม่กีดกัน ฟ้องร้องทำล่าช้ากว่า 2 ปีแล้ว ถึงเวลาต้องเร่งรัด

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงกรณีที่มีนักการเมืองกล่าวพาดพิงเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 2 และ 3 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ดังนี้

ประเด็นส่วนต่างของข้อเสนอ 68,613 ล้านบาทของข้อเสนอ BTSC นั้น ที่ผ่านมา รฟม. เคยชี้แจงไว้หลายครั้งแล้วว่า แม้ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของ BTSC ตามที่เป็นข่าวนั้นจะมีมูลค่าการให้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ค่อนข้างสูง แต่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน จะต้องมีการประเมินซองข้อเสนออื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และซองข้อเสนอด้านเทคนิค รวมถึงความน่าเชื่อถือของข้อเสนอทางการเงิน เพื่อให้ รฟม.มั่นใจได้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะสามารถดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดต่อประเทศชาติและประชาชนได้จริง มิใช่การพิจารณาเพียงตัวเลขสรุปผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐเท่านั้น

ดังนั้น แม้บริษัทฯ จะนำข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อปี 2563 มาแสดง แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบผลการยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนปัจจุบันได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิคของบริษัทฯ จะผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่ รวมทั้งข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนมีความเป็นไปได้ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือเพียงใด

จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าข้อเสนอของ BTSC จะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐจริง และตามระเบียบขั้นตอนของการประมูลภาครัฐนั้น จะไม่สามารถนำข้อมูลของผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมประมูลมาเปรียบเทียบได้

ประเด็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยแบ่งเป็น การคัดเลือกเอกชนครั้งแรกมีข้อพิพาท 3 คดี ได้แก่ 1. คดีศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการแก้ RFP ไม่ชอบ และละเมิด BTSC
(หมายเลขคดีแดงที่ อ.168/2566) โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ยกฟ้องเพราะ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แก้ RFP โดยชอบแล้ว ไม่เป็นการทำละเมิดต่อ BTSC จึงถือว่าถึงที่สุดแล้ว

2. คดีศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ไม่ชอบ (หมายเลขคดีดำที่ อ.1455/2565) ซึ่งตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุดแถลงว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น สถานะของคดี อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

3. คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง BTSC ฟ้องการแก้ RFP และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต (หมายเลขแดงที่ อท.133/2565) ซึ่งศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าการแก้ไข RFP เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และการยกเลิกการคัดเลือกฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

การคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ มีข้อพิพาท 2 คดี ได้แก่ 1. คดีศาลปกครองกลาง BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC (หมายเลขดำที่ 1646/2565) ซึ่งการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 1 นั้น ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับเนื่องจากเห็นว่า ประกาศเชิญชวนฯ และ RFP เป็นไปตามกฎหมายแล้ว RFP เปิดกว้างมากขึ้น ไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC ยื่นการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 2 ศาลไม่รับคำร้องขอทุเลาของ BTSC

2. คดีศาลปกครองกลาง นายสุรเชษฐ์ฯ ส.ส.พรรคก้าวไกล ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ สถานะ ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการประกาศเชิญชวนฯ และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดใน พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2562 ) เรื่อยมา ซึ่งศาลปกครองและศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางก็ได้มีคำพิพากษาในหลายคดีซึ่งถึงที่สุดแล้วว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยชอบแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาการฟ้องร้องเป็นคดีความในการดำเนินงานคัดเลือกเอกชนฯ ส่งผลให้โครงการมีความล่าช้ากว่า 2 ปีแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อศาลปกคลองกลางโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางก็ได้เห็นว่าการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ได้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน และประกาศเชิญชวนฯ ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2562 รวมทั้งมีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่ง BTSC สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซึ่งเป็นโครงการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพสูง และเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าและการเสียโอกาสของประชาชนในการใช้ประโยชน์โครงการ รวมถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในการดูแลโครงสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก ที่จะแล้วเสร็จในอนาคต รฟม. จึงเห็นสมควรเร่งรัดและผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามขั้นตอนเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป
 
รฟม.ขอยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดอย่างครบถ้วน



กำลังโหลดความคิดเห็น