การล่มสลายของ 3 ธนาคารในสหรัฐฯ Silvergate Bank, Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank โดยเฉพาะ SVB ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ไม่ได้ล่มสลายเพราะปัญหาหนี้เสีย (insolvency) แต่มีปัญหาขาดสภาพคล่องปัจจุบันทันด่วนอย่างรุนแรงจากการที่ผู้ฝากเงินถอนเงินจำนวนมากพร้อมๆ กัน ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลังไม่มีเงินพอบนหน้าตักเพื่อจ่ายเงินให้ผู้ฝากเงิน
ประเด็นคือทำไมจึงมีผู้ฝากเงิน ซึ่งส่วนมากจะเป็นพวกสตาร์ทอัพที่เป็นลูกค้าหลักที่ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ทำธุรกิจด้วยจึงมีการถอนเงินจำนวนมากออกจากธนาคารในช่วงหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก็เป็นได้ก่อนวันพุธที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ มีการรายงานว่าขาดทุน $1,800 ล้าน เพราะว่าต้องขายตราสารหนี้ออกไปก่อนเวลาอันสมควรเพื่อเอาเงินไปคืนลูกค้าที่ถอนเงินฝาก เมื่อขาดทุนจากการขายตราสารหนี้ ทำให้ธนาคารประกาศขายหุ้นเพื่อระดมเงินทุน $2,500 ล้าน
จุดนี้เองที่ทำให้ผู้ฝากเงินเกิดความไม่มั่นใจในฐานะการเงินของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ทำให้เกิดการแห่ถอนเงินกันอุตลุด ภายในระยะเวลาวันศุกร์วันเดียวธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ เจอการถอนเงินไป $42,000 ล้าน
ไม่ว่าธนาคารจะยิ่งใหญ่เพียงใด ถ้าหากเจอแบงก์รันอย่างนี้ก็ต้องล้มทั้งยืน
ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ มีขนาดใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ มีทรัพย์สิน $209,000ล้าน และมีเงินฝาก $175,000 ล้าน
เนื่องจากมีสภาพคล่องล้นเหลือจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ไม่ได้ปล่อยกู้มาก เงินฝากกว่า 50% เอาไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับผลตอบแทนไม่มาก เพราะดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่ธนาคารให้ดอกเบี้ยเงินฝาก 0.50% ให้กับลูกค้า
ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดได้ตรึงดอกเบี้ยระดับต่ำมานานตั้งแต่วิกฤตปี 2008 จนเกิดความเคยชินกันไปทั่วว่าสภาพคล่องที่ล้นเหลือจะอยู่คู่โลกตลอดไป ในปีที่ผ่านมา เฟดเริ่มหน้ามืดขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว และดุดันเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่หลุดกรอบเอาไม่อยู่ ทำให้ภายในหนึ่งปีดอกเบี้ยของธนาคารกลางเพิ่มจาก 0%-0.25% เป็น 4.50%-4.75% และมีแนวโน้มดอกเบี้ยจะขึ้นไปอีกจนอาจจะถึง 6% และจำเป็นต้องแช่ดอกเบี้ยระดับสูงนี้ต่อไปจนกว่าจะสามารถลากเงินเฟ้อลงมาที่เป้าหมาย 2% ซึ่งเป็นผลพวงของการเพิ่มปริมาณเข้าไปในระบบของธนาคารกลางสหรัฐฯ $8 ล้านล้าน และการใช้จ่ายงบประมาณขาดดุลมหาศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา
พันธบัตรอายุสั้นของรัฐบาลสหรัฐฯ เคยให้ผลตอบแทน 1.75% ในปีที่ผ่านมา ตอนนี้ปาเข้าไป 5% ทำให้สร้างปัญหาให้กับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ เพราะว่าตราสารหนี้ที่ถืออยู่ขาดทุนทางบัญชี เพราะว่าเมื่อยีลด์สูงขึ้น ราคาพันธบัตรจะลดลง แต่ถ้าถือจนครบอายุพันธบัตรจะไม่ขาดทุนแต่ประการใด
ปัญหาอยู่ที่ผู้ฝากเงินเห็นโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่า เพราะว่าฝากกับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ได้ดอกเบี้ย 0.50% แต่ถ้าไปซื้อพวกมันนี่มาร์เก็ตฟันด์จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าหลายเท่าตัวจากดอกเบี้ยในตลาดที่สูงขึ้น
นายจิม เบียนโก (Jim Bianco แห่ง Biancoresearch.eth) เขียนทวิตเตอร์อธิบายการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ได้อย่างน่าสนใจว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยอย่างนัยสำคัญแล้วที่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่สูงกว่ามากหลายเท่า การโยกเงินออกจากแบงก์อย่างรวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ทำให้ผู้ฝากเงินสามารถถอนเงินจำนวนมากออกจากแบงก์ได้ โดยไม่ต้องไปรอยืนต่อแถวถอนเงิน
ประการที่สอง ในยุคของโซเซียลมีเดียข่าวสารต่างๆ มีการแพร่กระจายกันฉับพลันรวดเร็ว เมื่อเกิดข่าวการถอนเงินจากธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ทำให้เกิดแพนิก ต่างแห่พอกันไปถอนเหมือนกัน เหมือนกับการที่มีคนตระโกนที่ในโรงหนังว่าไฟไหม้ ทำให้คนดูแห่หนีตายไปที่ประตูฉุกเฉิน โดยที่ไม่รู้ว่ามีไฟไหม้จริงหรือไม่
แบงก์รันของธนาคารซิลิโคนทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแคลิฟอร์เนียได้เรียกร้องให้สถาบันประกันเงินฝาก Federal Deposit Insurance Corporation เข้ามาดูแล ควบคุมกิจการ โดยสั่งให้ปิดแบงก์ และรอชำระบัญชี ลูกค้าที่มีเงินฝาก $250,000 จะได้เงินคืนครบถ้วน ผู้ที่ฝากมากกว่านั้นจะต้องรอการชำระบัญชีขายทอดตลาดทรัพย์สินของแบงก์เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยแบ่งคืนให้กับเจ้าหนี้
มีรายงานว่ามีอีกหลายธนาคารที่อยู่ในข่ายว่าอาจจะเจอชะตากรรมแบงก์รันเดียวกันกับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ดังรายชื่อต่อไปนี้ (ดูภาพประกอบ)
นายเจอโรม เพาเวลล์ ประธานเฟด และนางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐฯ มีการประชุมด่วนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหาทางเยียวยาแก้ไขสถานการณ์การล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ และสร้างความเชื่อมั่นในระบบธนาคารของสหรัฐฯ โดยประกาศชัดเจนว่าทางการจะไม่ใช้เงินภาษีของประชาชนมาอุ้มธนาคารซิลิโคนเป็นอันขาด แต่จะมีการตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารใดที่ขาดสภาพคล่องที่เกิดจากการถอนเงินของผู้ฝากสามารถมากู้ยืมได้ โดยต้องเอาตราสารหนี้ที่มีคุณภาพมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน กระทรวงการคลังได้นำเม็ดเงิน $25,000 ล้านจากกองทุน Exchange Stabilization Fund มาเป็นทุนประเดิมเพื่อโครงการเสริมสภาพคล่องแบงก์
ก็ต้องดูว่าวันนี้ จะเกิดแบงก์รันที่ธนาคารอื่นหรือไม่ และมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงินได้หรือไม่
ทั้งหมดนี้ คือการอธิบายการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ตามเนื้อผ้า แต่เราสามารถตั้งคำถามในเชิงสมคบคิดได้ว่าปัญหาของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ จะเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งของวิกฤตที่ใหญ่กว่าที่กำลังจะตามมาหรือไม่ และวิกฤตนั้นจะเป็นวิกฤตที่ถูกออกแบบเพื่อที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าของการรีเซตเงินสกุลหรือไม่
เราสามารถตั้งคำถามในเชิงสมคบคิดการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ว่ามีเรื่องราวที่ไม่ชอบมาพากล หรือมีวาระแอบแฝงเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
1. ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อยู่ในฐานะที่จะช่วยอุ้มธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ได้ แต่ทำไมไม่ทำ เพราะว่าธนาคารเพียงขาดสภาพคล่อง (liquidity crisis) ไม่ได้มีปัญหาหนี้เสียล้มละลาย (insolvency)
ตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008 เฟดได้ทำการพิมพ์เงินร่วม $8 ล้านล้าน เพื่ออัดสภาพคล่องดอลลาร์เข้าระบบ พร้อมทั้งกดดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำติดดิน โดยสภาพคล่องจากการทำคิวที่เพิ่มขึ้นมานำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้จำพวก mortgage- backed securities ที่มีหลักทรัพย์อสังหาฯ หนุนหลัง
เฟดเคยพิมพ์เงิน $40,000 ล้านต่อเดือนในการทำคิวอี ทำไมถึงจะปล่อยเครดิตไลน์ให้สภาพคล่องให้กับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ที่เจอการถอนเงินฝากไม่ได้?
ทุกครั้งที่ธนาคารในเครือวอลล์สตรีทที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเฟดมีปัญหาสภาพคล่อง เฟดจะรีบเข้าไปอุ้มทันทีผ่านการให้กู้ยืมในตลาดซื้อคืนพันธบัตร หรือตลาดรีโป้ พร้อมดันดอกเบี้ยลงต่ำในอัตรามิตรภาพ อันเห็นได้จากช่วงปลายปี 2019 ที่ตลาดกู้ยืมเงินระยะสั้นในระบบธนาคารวอลล์สตรีทเกิดการขาดสภาพคล่อง บางแบงก์เป็นหมาหัวเน่าเพื่อธนาคารด้วยกันไม่ให้กู้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้นถึง 10% เทียบกับไม่กี่เปอร์เซ็นต์ยามปกติ เฟดรีบอัดสภาพคล่องเข้าไปช่วย ทำให้ดอกเบี้ยในตลาดกู้ยืมเงินระยะสั้นลดลงอย่างรวดเร็ว เสร็จแล้ว เฟดประกาศอย่างภูมิใจให้กับนักลงทุนได้รับทราบโดยทั่วกันว่าไม่ต้องห่วง เฟดจะดูแลความมั่นคงของแบงก์วอลล์สตรีทให้อยู่ยงตลอดไป
แสดงว่าเฟดเลือกปฏิบัติมีสองมาตรฐาน ธนาคารระดับชุมชน (community banks) หรือธนาคารระดับภูมิภาค (regional banks) เป็นประชาชนชั้นสองในสายตาเฟด ที่ยามเกิดวิกฤตจะถูกปล่อยล้ม เพื่อเปิดทางให้แบงก์วอลล์สตรีทเข้าไปชอปของถูกด้วยการควบรวมกิจการ ส่วนธนาคารวอลล์สตรีทจะได้รับการอุ้มชู
ในวิกฤตการเงินปี 2008 มีบางธนาคารในเครือวอลล์สตรีทถูกปล่อยให้ล้มบ้าง เช่น เลห์แมน บราเธอรส์ แบร์สเติร์นเพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียด ท่ามกลางการล่มสลายของแบงก์ขนาดเล็กและกลางหลายพันแห่ง ส่วนแบงก์วอลล์สตรีทตัวหลักได้รับสภาพคล่องจากเฟดอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถเข้าไปยึดกิจการของแบงก์เล็กแบงก์กลางได้
2. โจ ไบเดนและรัฐสภาอเมริกันสุมหัวกันผ่านงบประมาณ $110,000 ล้านไปแล้ว เพื่อช่วยยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย ทั้งๆ ที่ยูเครนไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ โดยตรง แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กลับช่วยยูเครนเหมือนการตีเช็คเปล่า
มันเป็นเรื่องตลกที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีเงินภาษีช่วยยูเครนแบบไม่อั้น ส่งทหารส่งอาวุธไปช่วยรบ แต่ไม่มีเงินดูแลประชาชนผู้ฝากเงิน โดยปฏิเสธที่จะช่วยธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ อย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ธนาคารแห่งนี้ขอย้ำอีกทีไม่ได้มีปัญหาหนี้เสีย ปัญหาล้มละลายหรือฉ้อฉล (อันนี้ยังไม่แน่ใจ) การให้สภาพคล่องกับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ จะช่วยทำให้การแพนิกแห่ถอนเงินเบาบางลงหรือหมดไป แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กลับเลือกใช้วิธีการปิดกิจการแทน ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขา หรือความไม่ไว้วางใจของผู้ฝากเงินกับธนาคารอื่นๆ ที่มีฐานะคล้ายกับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ วิกฤตที่ป้องกันได้ ที่เกิดจากน้ำผึ้งหยดเดียวจะลามปาม จนอาจจะกลายเป็นวิกฤตที่ใหญ่ขึ้นก็ได้
ถ้าวิกฤตธนาคารสหรัฐฯ ลุกลามขยายวง จะเท่ากับว่าเฟดกับกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สนใจต้องการให้เกิดวิกฤตเสียเอง
ช่วงวิกฤต 2008-2009 เฟดเปิดสว็อปไลน์ให้กับธนาคารกลางของยุโรป และประเทศที่เป็นพันธมิตรที่ขาดสภาพคล่องดอลลาร์ และให้ธนาคารต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นดอยช์แบงก์ ยูบีเอส เครดิต ซูอิส บาร์คเลย์ รอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ กู้เงินนับหลายแสนล้านดอลลาร์ โดยอ้างเพื่อเพื่อปกป้องระบบการเงินโลก แต่ในปี 1997 เฟดไม่ได้ช่วยประเทศไทยแม้แต่เหรียญเดียว ทั้งๆ ที่แค่เปิดเครดิตไลน์ให้ไทย $10,000-$20,000 ล้าน เราก็คงไม่ต้องประกาศภาวะล้มละลาย และต้องเข้าโปรแกรมของไอเอ็มเอฟ
แค่ธนาคารกระจอกๆ อย่างธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แห่งเดียวกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่เฟดพิมพ์เงินได้ไม่อั้น มิหนำซ้ำเฟดกับกระทรวงคลังกลับทำตัวสูงส่งว่า ถ้าช่วยไปแล้วจะเกิด moral hazard คือการไม่สำนึกผิด แล้วจะกลับมาทำบาปทางการเงินอีกในอนาคต
3. ในระบบการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแม่แบบของทุนนิยมทางการเงิน (financial capitalism) ที่มีรากฐานมาจากระบบหนี้ (debt-based system) ที่มีการก่อหนี้ หรือใช้เงินในอนาคตเพื่อลงทุน ขยายกิจการ หรือใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจไปล่วงหน้าก่อน ทำให้จำต้องมีประสิทธิภาพในเรื่องของ productivity หรือความสามารถในการหาเงินเพื่อมาจ่ายหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ย แต่เป็นที่ทราบกันดี การใช้เงินมันง่ายกว่าการหาเงิน เมื่อเวลาผ่านไป ระบบหนี้จะอยู่ไม่ได้ เพราะว่ารายได้จะไม่พอการจ่ายเงินต้นกับดอกเบี้ย รวมทั้งภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่างก็มีหนี้สาธารณะที่เกินเยียวยา ไม่มีทางเก็บภาษีหรือหารายได้มาจ่ายหนี้คืนได้ รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่คิดจะจ่ายหนี้ $31.4 ล้านล้านอยู่แล้ว ซึ่งเทียบเท่า 130% ต่อจีดีพี ได้แค่ให้เฟดพิมพ์เงินอุ้มฐานะการคลังถูไถอยู่ๆ กันไป การเพิ่มหนี้เข้าไปในระบบทั้งจากการสร้างเงินของธนาคารกลาง ระบบเครดิตของธนาคาร และงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลทำให้เกิดเงินเฟ้อที่ในที่สุดจะกลับมาทำลายค่าเงิน และระบบเศรษฐกิจในที่สุด
คำถามคือ เรามาถึงจุดที่สหรัฐฯ และโลกตะวันตกต้องล้างหนี้ เพื่อเริ่มต้นกันใหม่ Debt Jubilee ผ่านการรีเซ็ตสกุลเงิน (currency reset) ที่มีการพูดกันมานานพักใหญ่แล้ว
ความจริง มีการเตรียมเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง Central Bank Digital Currency (CBDC) เพื่อเอาไว้รองรับการรีเซ็ตสกุลเอาไว้แล้ว มีการปล่อยเงินคริปโต บิทคอยน์ออกมาชิมลางเพื่อโยนหินถามทาง ก่อนที่จะใช้ CBDC เพื่อล้างหนี้ ใครถือหนี้ในรูปดอลลาร์เก่าก็ซวยไป เพราะว่า CBDC จะเป็นเงินสกุลใหม่ที่เอี่ยมอ๋องไร้มลทิน จะเอาดอลลาร์เก่ามาแลกดอลลาร์ดิจิทัลในสัดส่วนเท่าไหร่ก็ว่ากันอีกที
4. เป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่การกดดอกเบี้ยต่ำมานาน แล้วขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงทันทีเพื่อช็อกตลาดและการปล่อยให้ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ล้มเพื่อนำไปสู่การล้มระบบแบงก์ปัจจุบันที่เราคุ้นกันหรือไม่ ซึ่งจะเพื่อเปิดทางให้ธนาคารกลางที่เป็นผู้ออก CBDC เข้ามาทำหน้าที่แทน เพราะว่าประชาชนคนทั่วไปหรือบริษัทสามารถเปิดบัญชีโดยตรง (retail & corporate account) กับธนาคารกลางได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีบริการของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวกลาง (intermediary) เหมือนอย่างปัจจุบัน
จุดอ่อนของธนาคารพาณิชย์ในระบบปัจจุบันถือรับเงินฝาก แล้วไปปล่อยกู้ระยะยาว โดยมีเงินกองทุนเพียงเล็กน้อยรองรับหนี้เสีย ถ้าหากมีหนี้เสียมาก ธนาคารจะล้มละลายเมื่อเงินกองทุนหมดหน้าตัก หรือถ้าหากเจอผู้ฝากเงินถอนเงินพร้อมกันทันที จะไม่สามารถเอาเงินกู้ หรือเงินลงทุนแปลงเป็นสภาพคล่องมาคืนเงินให้ก็ผู้ฝากได้ จะทำให้ล้มละลายเหมือนธนาคารซิลิคอน วัลเลย์
ธนาคารกลางที่ทำตัวเป็นธนาคารพาณิชย์แทน จะไม่มีปัญหาสภาพคล่อง เพราะว่าสามารถพิมพ์ดอลลาร์ดิจิทัลได้ไม่จำกัน สามารถจำกัดการถอนเงินได้ หรือควบคุมการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบแบบเบ็ดเสร็จ ประชาชนจะได้อุ่นใจว่าจะไม่เกิดแบงก์รันอีกต่อไป แต่อำนาจทางการเงินทะลุฟ้าจะตกกับธนาคารกลาง ที่เตรียมการออกเงินดิจิทัล พร้อมกับการล้างหนี้ รีเซ็ตสกุลเงิน และกระชับอำนาจเผด็จการทางการเงินอย่างสมบูรณ์แบบ
ก็ต้องดูว่า การปล่อยให้ธนาคารซิลิโคนล้มละลายมีวาระแอบแฝงของเฟดที่จะรวบอำนาจทางการเงิน พร้อมๆ กับการล้างหนี้ของประเทศไปในตัวหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นไปตามวาระ The Great Reset ของ World Economic Forum