xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยร่วงแรง -26.58 จุด กลุ่มแบงก์ดิ่ง รับลูก SVB ล้มละลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นไทยปิดตลาดร่วงแรง ปิด -26.58 จุด โบรกฯชี้กระแสล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ฉุดความเชื่อมั่นในการลงทุนของตลาด หวั่นกระทบสภาพคล่องทางการเงินทำให้เกิดแรงกดดันหุ้นกลุ่มแบงก์ของไทยโดยตรง มองกรอบการลงทุนวันพรุ่งนี้แนวรับที่ 1,570 จุด และแนวต้าน 1,590 จุด

ตลาดหุ้นไทยปิดทำการซื้อขายวันที่ 13 มีนาคม 2566 ปรับตัวลดลง -26.58 จุด หรือ -1.66% โดยปิดตลาดที่ 1,573.07 จุด มูลค่าการซื้อขาย 79,662.39 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมการซื้อขายในวันนี้ดัชนีแกวงตัวผันผวนในแดนลบตั้งแต่เปิดทำการซื้อขาย โดยระหว่างวันปรับตัวขึ้นสูงสุด 1,602.65 จุด ขณะที่ในทิศทางขาลงทำจุดต่ำสุดที่ 1,572.65 จุด
 
ขณะที่หลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในวันนี้เพิ่มขึ้นจำนวน 315 หลักทรัพย์ ไม่เปลี่ยนแปลงจำนวน 318 หลักทรัพย์ และปรับตัวลดลงจำนวน 1,408 หลักทรัพย์


ด้านปริมาณการซื้อขายจำแนกตามกลุ่มนักลงทุนพบว่า นักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิกว่า +3,502.71 ล้านบาท และ นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิกว่า +552.46 ล้านบาท ในทางกลับกันพบว่านักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิกว่า -2,193.40 ล้านบาท และ บัญชี บล. ขายสุทธิกว่า -1,861.77 ล้านบาท

ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์
1.KBANK มูลค่าการซื้อขาย 7,411.74 ล้านบาท ปิดที่ 128.00 บาท ลดลง 8.00 บาท
2.BTS มูลค่าการซื้อขาย 2,685.35 ล้านบาท ปิดที่ 6.90 บาท ลดลง 0.65 บาท
3.SCB มูลค่าการซื้อขาย 2,593.78 ล้านบาท ปิดที่ 99.75 บาท ลดลง 2.75 บาท
4.AOT มูลค่าการซื้อขาย 2,580.84 ล้านบาท ปิดที่ 67.75 บาท ลดลง 0.75 บาท
5.DELTA มูลค่าการซื้อขาย 2,569.28 ล้านบาท ปิดที่ 978.00 บาท ลดลง 14.00 บาท

ด้านดัชนี SET100 ที่มีราคาปรับตัวบวกเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
1.CPN ปิดที่ 65.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาทหรือ 1.15%
2.HANA (XD) ปิดที่ 53.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.50บาทหรือ 0.94%
3.PTTEP ปิดที่ 146.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50บาทหรือ 0.34%
4.TU ปิดที่ 14.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.30บาทหรือ 2.07%
5.BGRIM ปิดที่ 38.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.25บาทหรือ 0.66%

ส่วนดัชนี SET100 ที่มีราคาปรับตัวลดลงมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
1.DELTA ปิดที่ 978.00 บาท ลดลง 14.00 บาทหรือ 1.41%
2.KBANK ปิดที่ 128.00บาท ลดลง 8.00 บาทหรือ5.88%
3.ADVANC ปิดที่ 202.00บาท ลดลง 7.00 บาทหรือ3.35%
4.BBL ปิดที่ 153.00บาท ลดลง 5.00 บาทหรือ 3.16%
5.BH (XD) ปิดที่ 210.00บาท ลดลง 5.00 บาทหรือ 2.33%

ขณะที่ดัชนี SET100 ปิดที่ 2,111.33 จุด ลดลง -35.99 จุด หรือ -1.68% ส่วนดัชนี SET50 ปิดที่ 939.39 จุด ลดลง -14.89 จุด หรือ -1.56% และดัชนีตลาด mai ปิดที่ 543.85 จุด ลดลง -16.28 จุด หรือ -2.91%

นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย (PI) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ร่วงลงรับ Sentiment เชิงลบจากซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยี ที่ได้ล้มละลายปิดกิจการลงจากปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าอาจเกิดภาวะเดียวกันกับธนาคารอื่นๆ อีกหรือไม่ ทำให้มีแรงขายในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยออกมาอย่างหนัก ทั้ง KBANK, BBL, SCB ขณะเดียวกันนักลงทุนยังรอดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ (14 มี.ค.66) ด้วย

ขณะที่ล่าสุดช่วงท้ายตลาดมีรายงานข่าวว่าหุ้นธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ร่วงลงกว่า 60% ในการซื้อขายก่อนที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะเปิดทำการในวันนี้ ถูกกดดันจากการปิดกิจการซิกเนเจอร์ แบงก์ และ SVB โดยเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ เข้าถึงสภาพคล่องได้กว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศโครงการ Bank Term Funding Program

ส่วนแนวโน้มวันพรุ่งนี้ คาดว่าดัชนีมีโอกาสฟื้นตัว หลังนักลงทุนรับรู้ปัจจัยลบดังกล่าวไปค่อนข้างมากแล้ว และพื้นฐานตลาดหุ้นไทยยังแข็งแกร่ง รวมถึงนักลงทุนคลายกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยแรง โดยให้น้ำหนักว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% จากเดิมคาด 0.5% ในการประชุมเดือน มี.ค.นี้ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ SVB โดยประเมินแนวรับที่ 1,570 จุด และแนวต้านที่ 1,590 จุด

ขณะที่นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีวิกฤติธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) บลจ.ยูโอบี อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบที่แน่นอนจากลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ SVB ผ่าน Master fund ในกอง FIF แต่เบื้องต้นคาดว่าจะมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของมูลค่าการลงทุนใน Master fund ซึ่งไม่ใช่การลงทุนที่มีสาระสำคัญ โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยกระทบกับภาพรวมตลาดมากกว่า โดย บลจ.ยูโอบี ได้เตรียมสภาพคล่องพร้อมไว้ไม่น้อยกว่า 40% เพื่อรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

"การล้มของ SVB มองว่าแม้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะ SVB มีฐานลูกค้าไม่เหมือน Retail Bank ทั่วไป แต่เป็นกลุ่มเทคเป็นส่วนใหญ่ และปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากที่ SVB นำเงินลงทุน Mismatch ผิดแปลกไปจากปกติ โดยลงทุนตราสารหนี้ระยะยาว แต่เมื่อต้องการขายก่อนครบกำหนดจึงเกิดผลขาดทุน ทำให้แบงก์ขาดสภาพคล่อง แต่กรณีนี้ทางการสหรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาได้เร็วมาก แสดงว่าเป็นเรื่องที่ทางการจับตาอยู่ แม้จะไม่ใช่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหา แต่การเข้าไปของทางการสหรัฐเพื่อไม่ให้กระทบนักลงทุน"

นอกจากนั้น ผลดีที่เกิดจากรณีทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเดิมคาดว่าการประชุมในรอบเดือนมี.ค.นี้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เป็นคาดว่าเฟดจะปรับขึ้น 0.25% หรืออาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย เพราะเฟดไม่ได้มองเพียงการเติบโตของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องดูแลระบบการเงินด้วย

"มุมมองกลยุทธการลงทุนของ บลจ.ยูโอบี ในปีนี้ ยังมองว่าตราสารหนี้ยังน่าสนใจมากกว่าหุ้น เพราะมีโอกาสเฟดจะคงดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ย ส่วนหุ้นให้น้ำหนัก Neutral"


กำลังโหลดความคิดเห็น