xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นกลุ่มแบงก์ยังคงแดงเถือกทั่วโลก ตั้งแต่นิวยอร์กจนถึงเอเชีย แม้‘ไบเดน’ออกมาแถลงรับรองก็เอาไม่อยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรยากาศในห้องค้าที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) เมื่อวันจันทร์ (13 มี.ค.)
หุ้นกลุ่มแบงก์ทั่วโลกตกระนาวตั้งแต่วันจันทร์ (13 มี.ค.) จนถึงวันอังคาร (14) เฉพาะแบงก์ในอเมริกามูลค่าหายวับเฉียด 2 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 3 วันทำการ ทั้งๆ ที่ ไบเดน ออกมาประกาศดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าระบบการธนาคารสหรัฐฯมีความมั่นคงปลอดภัย ภายหลัง 2 ธนาคาร คือ ซิลลิคอนแวลลีย์แบงก์ และ ซิกเนเจอร์แบงก์ ถูกพวกผู้ฝากตื่นกลัวแห่ถอนเงินจนไปไม่รอดแล้วก็ตามที

ความพยายามของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อวันจันทร์ (13) ในการฟื้นความมั่นใจของตลาดและผู้ฝากเงิน มีขึ้นหลังจากมาตรการฉุกเฉินของพวกหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ซึ่งเปิดทางให้พวกธนาคารสามารถเข้าถึงเงินทุนเพิ่มเติม ไม่สามารถคลายความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ปัญหาของซิลลิคอนแวลลีย์แบงก์ (เอสวีบี) และซิกเนเจอร์แบงก์ จะลุกลามไปยังธนาคารอื่นๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ ทำเนียบขาวแถลงว่า กระทรวงการคลังกำลังร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ในการดำเนินการขั้นตอนถัดไป

ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนว่า อาจมีแบงก์ล้มเพิ่มขึ้นอีก มูลค่าของพวกธนาคารชั้นนำของอเมริกาตามราคาซื้อขายในตลาดหุ้น ได้หายวับไปราว 90,000 ล้านดอลลาร์เฉพาะในวันจันทร์ และเมื่อรวมมูลค่าความสูญเสียตลอดช่วง 3 วันทำการ ก็อยู่ที่เกือบๆ 190,000 ล้านดอลลาร์

พวกธนาคารระดับภูมิภาคของอเมริกา คือแบงก์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะราคาหุ้นของ เฟิร์สต์พับลิกแบงก์ ดิ่งลงกว่า 60% หลังจากข่าวการระดมทุนครั้งใหม่ไม่สามารถฟื้นความมั่นใจของนักลงทุนได้ เช่นเดียวกับราคาหุ้นของ เวสเทิร์นอัลลิอันซ์แบงก์คอร์ป และแพ็กเวสต์แบงก์คอร์ป

สำหรับภูมิภาคอื่นๆ ยุโรปคือด่านแรกที่รับรู้ผลกระทบจากวิกฤตแบงก์ล่มในอเมริกา โดยปราปฏว่าราคาหุ้น คอมเมิร์ซแบงก์ ของเยอรมนีร่วง 12.7% และ เครดิตสวิส ดิ่ง 9.6% ทำสถิติต่ำสุดครั้งใหม่เมื่อวันจันทร์

ต่อมาในวันอังคาร (14) ตลาดหุ้นฝั่งเอเชียทรุดดิ่งตามไปด้วย ตลาดโตเกียว ฮ่องกง และโซลดิ่งลงกว่า 2% ขณะที่ซิดนีย์ ไทเป มะนิลา จาร์กาตา และตลาดหุ้นไทยตกกว่า 1%

ไบเดนกล่าวปลอบขวัญในวันจันทร์ (13) ว่า การดำเนินการของคณะบริหารของเขา หมายความว่า คนอเมริกันสามารถมั่นใจได้ว่า ระบบการธนาคารมีความปลอดภัย และยังให้สัญญาว่า จะปรับกฎระเบียบให้เข้มงวดหลังเอสวีบีล้มซึ่งถือเป็นความล้มเหลวครั้งรุนแรงที่สุดในอุตสาหกรรมการธนาคารของอเมริกานับจากวิกฤตการเงินปี 2008

ทว่า ในตลาดเงิน ดัชนีความเสี่ยงด้านเครดิต ทั้งของระบบการธนาคารสหรัฐฯและยูโรโซน ยังคงพุ่งขึ้น

ริก เมคเลอร์ หุ้นส่วนของเชอร์รีเลนอินเวสต์เมนต์ อธิบายว่า เมื่อมีการประกาศใช้มาตรการขนาดใหญ่โจอย่างรวดเร็ว สิ่งแรกที่นักลงทุนคิดคือ สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตได้แล้ว ทว่าความคิดที่จะติดตามต่อมาคือ วิกฤตและความเสี่ยงรุนแรงขนาดไหนกันถึงต้องใช้มาตรการใหญ่มโหฬารอย่างรวดเร็วระดับนี้

นอกจากนั้น จากการที่พวกนักลงทุนเอนเอียงมาข้างวางเดิมพันว่า สถานการณ์ตอนนี้อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะตกลงยอมชะลอการขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งการที่นักลงทุนพากันหาแหล่งลงทุนอื่นๆ ที่ปลอดภัยกว่า ก็ส่งให้ราคาทองคำทะยานทะลุระดับ 1,900 ดอลลาร์

จากมาตรการของพวกหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ พวกลูกค้าของเอสวีบีจะเข้าถึงเงินฝากทั้งหมดของพวกเขาได้ตั้งแต่วันจันทร์ ขณะที่กำลังมีการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินใหม่และอำนวยความสะดวกให้พวกธนาคารเข้าถึงกองทุนนี้

ในอีกด้านหนึ่ง มาร์ก โซเบล อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และประธานกลุ่มคลังสมอง โอเอ็มเอฟไอเอฟ กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างจริงจังว่า เหตุใดหน่วยงานกำกับดูแลจึงไม่สังเกตเห็นสัญญาณอันตรายของวิกฤตแบงก์ล่มครั้งนี้ และจำเป็นต้องยกเครื่องส่วนงานใดบ้าง

สำหรับบริษัททั่วโลกที่เปิดบัญชีกับเอสวีบี ต่างเร่งประเมินผลกระทบต่อสถานะการเงินของตนเอง โดยที่เยอรมนี ธนาคารกลางเรียกประชุมฉุกเฉินประเมินแนวโน้มผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน หลังจากหารือมาราธอนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เอชเอสบีซีประกาศเข้าซื้อบริษัทในเครือในอังกฤษของเอสวีบีด้วยราคา 1 ปอนด์

แม้เอสวีบี ยูเคเป็นธุรกิจขนาดเล็ก แต่การล้มกะทันหันทำให้มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเมืองผู้ดีเข้าช่วยเหลืออุตสาหกรรมสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเทคโนโลยีชีวภาพที่แบงก์แห่งนี้ปล่อยกู้ให้จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงเชิงระบบในระบบการธนาคารอังกฤษซึ่งมีสถานะเงินทุนแข็งแกร่งและสภาพคล่องที่ดี

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น