โบรกฯ ประเมิน ปัญหาปิด SVB อาจกด SET ลงไปแถว 1,500 จุดได้ เชื่อกระทบแบงก์ไทยจำกัด แต่อาจจะทำให้เศรษฐโลกฟื้นช้า แนะลดพอร์ตหุ้น ถือเงินสดเพิ่มหากรับความเสี่ยงไม่ไหว ชะลอลงทุน ด้านนายแบงก์ มองแบงก์ไทย ไม่ได้รับผลกระทบการปิดกิจการธนาคารในสหรัฐฯ ยันไม่มีการลงทุน หรือมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง แถมมีสภาพคล่องสูง ระดับเงินกองทุนแข็งแกร่ง
หลังจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corporation : FDIC) สั่งปิด Silicon Valley Bank (SVB) หลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จากผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็ว จนส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวและทำให้ SVB มีรายการขาดทุนอย่างหนักจากการขายพันฐบัตร โดยถือเป็นวิกฤติการเงินหนักที่สุดอีกครั้งหลังจากปี 2551
ขณะที่ความเคลื่อนไหว ล่าสุดของตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (13 มี.ค. ) ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงทันทีที่เปิดการซื้อขาย โดยดัชนีเปิดที่ 1,592.82 จุด ลดลง -6.83 จุด หรือ -0.43% หลังจากนั้นระหว่างวันดัชนีฯ เคลื่อนไหวในแดนลบเกือบตลอดทั้งวัน และหลุดแนวรับ 1,580 จุด โดยลงไปต่ำสุดที่ระดับ 1,572.65 จุด ก่อนปรับดีดขึ้นเล็กน้อย มาปิดที่ 1,573.07 ลดลง 26.58 จุด หรือ 1.66% มีมูลค่าการซื้อขาย 7.96 หมื่นล้านบาท
ดาโอ ให้กรอบสัปดาห์นี้ 1,570-1,610 จุด มองเลวร้ายสุด ทำศก.โลกฟื้นช้า
บริษัท หลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเมิน กรอบดัชนีฯ สัปดาห์นี้ 1,570-1,610 จุด โดยดัชนีฯมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากกรณีของ SVB ความเสี่ยง Recession ของสหรัฐฯ จะสูงขึ้น เงินเฟ้อสหรัฐฯอาจมีผลต่อตลาดน้อยกว่าปัญหา SVB ที่ Fed ต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ
โดยการล้มของ SVB กระทบตลาดสั้นๆ แต่หากจัดการไม่ได้และลุกลามจะกระทบต่อสินทรัพย์ การเงินทั่วโลก (กำลังรอดูการแก้ปัญหา) โดยเฉพาะ Crypto และ Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยได้น้อยลง ส่วนหุ้นไทยอาจได้รับผลกระทบจาก ดอลลาร์แข็งค่า ทำให้นักลงทุนต่างประเทศขายหุ้น เพื่อลดความเสี่ยง
แนะนำให้ถือเงินสดรอให้ตลาดจบความกังวลในเรื่องนี้ก่อน ซึ่งในกรณีที่เลวร้าย หาก SVB อาจทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าลง หุ้นที่เสี่ยงจะเป็นธุรกิจอิงรายได้ต่างประเทศ หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ และหุ้นที่นักลงทุนต่างประเทศถือไว้มาก สำหรับนักเก็งกำไร หากตลาดเปิด panic จะเป็นจังหวะในการเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรช่วงสั้น
ทิสโก้ แนะติดตามสถานการณ์ แต่เชื่อแบงก์ไทยกระทบน้อย
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ประเมินว่า ตลาดหุ้นน่าจะลดลงตามหุ้นโลก เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังไม่สะท้อนข่าว แนวรับ 1,590- 1,580 จุด โดยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะน่าเป็นห่วง และกระทบแรงขายนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ติดตามการประชุมฉุกเฉินของเฟด เพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ว่าจะเรียกความเชื่อมั่นมากน้อยแค่ไหน
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินในสหรัฐฯ น้อย ส่วนสัปดาห์หน้ารอดูประชุมเฟดที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จากเดิมคาด 0.50% จากผลกระทบดังกล่าว
กลยุทธ์ รอดูสถานการณ์ พร้อมลดพอร์ตลงทุนหุ้นเหลือ 50% จากที่เคยแนะนำไว้ 80% และถือเงินสดเพิ่มขึ้น หรือไปลงทุนในหุ้นเชิงรับ อย่าง ADVAC BDMS หรือทองคำ แนวต้านวันนี้ 1,610 จุด
ฟินันเซีย มอง SET อาจลงมาถึง 1,500 จุด แนะชะลอลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ประเมิน SET Index ยังมีแนวโน้ม แกว่งตัวลงต่อเนื่องหลังหลุดระดับ 1,600 จุด โดยรับถัดไปที่ 1,580 จุด ปัจจัยกดดันหลักคือปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐฯหลังมี 3 ธนาคารต้องปิดกิจการ ทำให้ Bond Yield 2 ปี ของสหัรฐฯปรับตัวลงแรงถึง 50 bps เหลือราว 4.5% ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา แม้เฟด และกระทรวงการคลังของสหรัฐฯจะคุ้มครองเงินฝากใน SVB และออกโครงการ Bank Term Funding Program ให้กู้ 1 ปีโดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน จะช่วยลดความกังวลเรื่องความเสี่ยงสภาพคล่องได้ แต่เรามองเป็นปัจจัยระยะสั้น
ขณะที่โฟกัสของตลาดยังคงอยู่ที่แนวโน้มเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ โดยจับตา CPI เดือน ก.พ. สหรัฐฯคืนวันนี้ ว่าจะชะลอตัวลงได้ตามคาดหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการประชุมเฟด ในสัปดาห์หน้าว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.5% แนะนำนักลงทุนชะลอการลงทุนหลังให้สะสมหุ้นระดับแรกที่ 1,600 จุดแล้ว
โดยต้องติดตามสถานการณ์ภาคการเงินสหรัฐฯว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงและลุกลามหรือไม่ โดยจะประเมินระดับในการเข้าสะสมถัดไปอีกครั้งเบื้องต้นมองต่ำลงมาในกรอบ 1,500-1,550 จุด ส่วนระยะสั้นเน้นพักเงินในหุ้น Domestic และ Defensive Play อย่างกลุ่มการแพทย์ สื่อสารฯ โรงไฟฟ้า
อินโนเวสท์ เอกซ์ แนะนำ “Selective Buy”
บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ประเมินว่า ช่วงสั้นมอง SET แกว่งตัวผันผวนระหว่างรอประเมินผล กระทบของ SVB ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ รองลงมา คือติดตามตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ก.พ. ของสหรัฐที่จะประกาศในคืนวันอังคารที่ 14 มี.ค. นี้ ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกของเฟด ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุน จึงคงแนะนำ “Selective Buy”
โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ หลัง SET หลุดแนวรับเชิงจิตวิทยาบริเวณ 1,600 จุดแนะนำเก็งกำไรในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่ง อีกทั้งราคาหุ้นปรับลงแรง YTD และแย่ กว่า SET เลือก PTTEP HMPRO CPALL SCGP GULF
หุ้นที่คาดผลบวกเชิงจิตวิทยาและอานิสงส์จากเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วง เลือกตั้ง เลือก กลุ่มสื่อ BEC MAJOR และกลุ่มค้าปลีก CPN
หุ้นปันผลที่มีคุณภาพดี โดยเน้นจ่ายปันผลต่อเนื่อง 20 ปีขึ้นไป คาดให้ Div. Yield (หลังหักจ่ายระหว่างกาลไปแล้ว) ปี 65 สูงเกิน 4% และปี 66 คาด Div. Yield ดีขึ้นหรือใกล้เคียง เดิม อีกทั้งปี 66 ผลประกอบการยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งราคาหุ้นยังมี Upside เกิน 10% เลือก KTB และ AP
นายแบงก์ เชื่อ ไม่กระทบแบงก์ไทย เหตุไม่มีธุรกรรมกับ SVB
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TTB ยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อธนาคารอย่างแน่นอน เนื่องจากธนาคารไม่มี exposure (ภาระ) กับ SVB ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตราสารในสกุลดอลลาร์สหรัฐ หรือ คริปโทเคอเรนซี รวมถึงธนาคารอื่นๆ เนื่องจากธนาคารของไทย เน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นหลัก ประกอบกับเกณฑ์การกำกับดูแลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเข้มงวดในเรื่องเหล่านี้
นอกจากนี้ธนาคารในไทยมีสภาพคล่องสูงเกินกว่าที่ ธปท.กำหนดเกินกว่าเกือบเท่าตัว เช่นเดียวกับมีส่วนของทุนอยู่ในระดับที่สูงมากกว่าเกณฑ์เช่นกัน
ด้านนายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO กล่าวว่า การกำกับดูแลภาคการเงินของไทยโดย ธปท. มีความรอบคอบ รัดกุม และมีความเข้มงวดกว่ามาก ซึ่งในส่วนของธนาคารไม่มีการลงทุนในสตาร์ตอัพ และ ไม่มีการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มที่ยังไม่มีรายได้ที่แน่นอน โดยธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อให้กับคนที่มีหลักประกัน อีกทั้งระบบธนาคารไทยมีความแข็งแกร่งโดยเฉพาะเงินกองทุน