SCB CIO มองธนาคาร SVB ปิดกิจการเป็นปัญหาเฉพาะตัว โอกาสยังค่อนข้างน้อยที่จะนำไปสู่วิกฤตการเงิน แต่ Fed จะพิจารณาผลการขึ้นดอกเบี้ยสะสมต่อเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น แนะรอประเมินประสิทธิภาพมาตรการของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูงได้
นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB CIO) เปิดเผยว่า กรณีที่ Silicon Valley Bank (SVB) ธนาคารในแคลิฟอร์เนีย ถูกทางการสั่งปิดกิจการนั้น
เป็นปัญหาเฉพาะตัวที่เกิดจากโครงสร้างฐานลูกค้าที่มีการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) และ Startup รวมทั้งมีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ผิดพลาด โดยในส่วนของหนี้สิน หรือเงินฝาก ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากระยะสั้น และเป็นดอกเบี้ยลอยตัว เมื่อต้องเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนของธนาคาร SVB จึงขยับขึ้นค่อนข้างเร็ว
ขณะที่ฝั่งสินทรัพย์ ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ SVB ได้นำเงินฝากกว่า 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ที่มีอยู่ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนระยะยาว เมื่อต้องเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นแบบเร็วและแรง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเหล่านี้เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายถึงราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน จึงทำให้มูลค่าการลงทุนลดลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นผลขาดทุนที่ต้องรับรู้ค่อนข้างมาก และกระทบฐานทุน ยิ่งมีการแห่ถอนเงินฝาก ทำให้ SVB ต้องขายพันธบัตรเหล่านี้ออกมา ธนาคารจึงขาดทุนส่วนนี้มากขึ้น จนส่งผลให้อัตราส่วนทุนของธนาคารไม่เพียงพอตามเกณฑ์ของทางการสหรัฐฯ และถูกทางการสั่งหยุดดำเนินกิจการในที่สุด
อย่างไรก็ตาม SCB CIO มีมุมมองว่า โอกาสที่ประเด็นปัญหาของ SVB จะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการเงินการธนาคารทั้งระบบ คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ในปี 2551 ยังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากในรอบนี้ปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาเฉพาะตัวของธนาคารที่มีเงินฝากเติบโตรวดเร็วแต่ฐานกระจุกตัว และมีการนำเงินฝากส่วนใหญ่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยคงที่ แต่ราคาลดลงเมื่อในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แทนที่จะนำไปปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถ้าเป็นดอกเบี้ยลอยตัว อย่างน้อยรายได้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา Fed ได้จัดตั้ง 2 เครื่องมือหลัก ได้แก่ Systematic Risk Exception (SRE) และ Bank Term Funding Program (BTFP) เพื่อเข้ามาจัดการเงินฝากของลูกค้าของ SVB และธนาคารที่ถูกปิดอีกแห่งคือ Signature Bank (ในส่วนที่เกินกว่า 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองเงินฝาก) รวมถึงดูแลปัญหาสภาพคล่องที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ
"ทั้ง 2 เครื่องมือนอกจากจะจัดการกับปัญหาเงินฝากของธนาคารที่มีปัญหาเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ฝากเงินทุกคนจะสามารถถอนเงินได้ หรือในกรณีธนาคารที่ถูกสั่งปิด (เช่น SVB และอีกธนาคารคือ Signature Bank ได้เงินคืนอย่างรวดเร็ว) จะยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงินในสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาแห่ถอนเงิน (Bank run) ตามมา โดยธนาคารที่เริ่มมีประเด็นสภาพคล่องแทนที่จะเอาพันธบัตรหรือ MBS หรือหลักทรัพย์อื่นๆ ออกไปขายขาดทุนในตลาด สามารถนำเอามาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมสภาพคล่องเป็นเวลา 1 ปี เพื่อจะเอาเงินไปให้ผู้ฝากเงินที่ต้องการถอนเงินคืน"
สำหรับมุมมองดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้เชื่อว่า Fed จะนำประเด็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นในระบบการเงินแม้จะมีการอุดรอยร้าวนี้ทันมาเป็นปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจในการประชุม FOMC 21-22 มี.ค. โดย Fed fund futures และตลาดพันธบัตร บ่งชี้ว่า ตลาดเริ่มประเมินว่า โอกาสที่ Fed จะกลับไปขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรงเริ่มมีน้อยลง ทั้งนี้ SCB CIO ยังคงมุมมอง Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน มี.ค. สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อๆ ไป เราวิเคราะห์เป็น 2 กรณี คือ
1) Base Case (โอกาส 80%) : มาตรการ SRE และ BTFP เข้ามาจัดการปัญหาสภาพคล่องสถาบันการเงินอย่างทันท่วงที ทำให้ Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อีก 1-2 ครั้ง ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal rate) จะอยู่ที่ 5.25%-5.5% และคงดอกเบี้ยไว้ระดับนี้จนถึงปลายปี 2566
2) Worse case (โอกาส 20%) : Fed ให้น้ำหนักกับเสถียรภาพระบบการเงินและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่ยังห่วงเงินเฟ้อที่ลงช้า Fed อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจน Terminal rate อยู่ที่ 5.75-6% แต่ในกรณีนี้เราเชื่อว่ามีโอกาสที่ Fed อาจจะต้องลดดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน คือ การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังคงต้องติดตามว่ามาตรการ SRE และ BTFP จะมีประสิทธิภาพในการจัดการเรื่องสภาพคล่องของภาคธนาคารมากน้อยและรวดเร็วแค่ไหน อย่างไรก็ดี SCB CIO มองว่า จากแนวโน้มนโยบายของ Fed ที่น่าจะเริ่มเห็นการหยุดขึ้นดอกเบี้ยภายในไตรมาสที่ 2 นี้ บวกกับแรงขายพันธบัตรจากสถาบันการเงินที่มีก่อนหน้าเริ่มชะลอลง หลังจาก Fed น่าจะเริ่มเข้าไปจัดการกับปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่มีปัญหา ดังนั้น เรายังเชื่อว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เป็นจังหวะที่ทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูง