คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
หนังสือชื่อ the English Constitution (ค.ศ. 1867) ของ วอลเตอร์ แบจอจ์ท (Walter Bagehot) ถูกใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลายในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร ซึ่งแบจอร์ทย้ำว่า การปกครองของอังกฤษในสมัยของเขานั้นเป็นการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ซึ่งรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นจารีตประเพณีการปกครอง และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะถูกจำกัดโดยจารีตประเพณีการปกครองซึ่งเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการได้ตามยุคสมัย
ในหนังสือเล่มดังกล่าว แบจอร์เขียนประเมินและวิจารณ์พระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ ในอดีตได้โดยไม่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่พระเจ้าจอร์จที่หนึ่งและสอง และพระเจ้าจอร์จที่สี่และพระเจ้าวิลเลียมที่สี่ เพราะสิ่งที่เขากล่าวนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นที่รับรู้กันในสังคมอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พระเจ้าจอร์จที่หนึ่งและพระเจ้าจอร์จที่สอง ที่มีพื้นเพเป็นเจ้าต่างแดน หรือเกิดและโตในต่างแดน จึงไม่รู้เรื่องราวบ้านเมืองของอังกฤษที่ตนมาเป็นพระมหากษัตริย์ หรือในกรณีที่ทั้งสองพระองค์อยู่ภายใต้อิทธิพลของสมเด็จพระราชินีหรือนางสนม เป็นต้น
และที่สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่เจตนาในการวิจารณ์พระมหากษัตริย์ของแบจอร์ท ด้วยเขาต้องการชี้เห็นถึงความจริงที่ว่า ในประวัติศาสตร์ ยากที่จะคาดหวังให้พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ติดต่อกันเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งต่อเนื่องทุกรัชกาล ซึ่งข้อวิจารณ์ของเขาเป็นส่วนหนึ่งของความจริงที่เขาต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจในสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ควรจะคาดหวังอะไรที่เกินความเป็นจริง
นอกจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว แบจอร์ทยังชวนมองในทางทฤษฎีอีกด้วย โดยเขาได้กล่าวว่า
“ถ้าเรามองในทางทฤษฎี ยิ่งมีเหตุผลน้อยที่จะคาดหวังเช่นนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจที่เป็นประโยชน์เมื่อพระองค์ทรงสามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และปฏิบัติได้ผลอย่างแท้จริงแก่บรรดารัฐมนตรีของพระองค์ แต่แน่นอนว่า คนที่เป็นรัฐมนตรีได้นั้นก็จะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถมากที่สุดสมัยของพวกเขา พวกเขาจะต้องดำเนินกิจการของรัฐสภาให้เป็นที่พอใจของรัฐสภา และพวกเขาจะต้องแถลงหรืออภิปรายในรัฐสภาได้อย่างเป็นที่พอใจของรัฐสภา ภารกิจดังกล่าวของรัฐมนตรีจะไม่สามารถสำเร็จได้ยกเว้นบุคคลนั้นจะต้องเป็นคนที่มีความสามารถมากและมีความสามารถรอบด้านด้วย และคนที่จะขึ้นมาเป็นถึงรัฐมนตรีได้จะต้องเรียนรู้และผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมามากพอสมควร”
แบจอร์ทชี้ให้เห็นถึงความจริงในทางหลักการหรือทฤษฎีว่า พระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ผ่านทางสายโลหิต พระองค์ไม่ได้จำเป็นต้องต่อสู้ เรียนรู้ และฟันฝ่าด่านต่างๆ อย่างนักการเมืองที่ไต่มาจนเป็นรัฐมนตรี
แบจอร์ทกล่าวว่า พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นมกุฎราชกุมารหรือมกุฎราชกุมารีไม่จำเป็นต้องขวนขวายต่อสู้ในทางการศึกษา เพราะพระองค์ไม่รู้สึกว่า ปริญญาจะทำให้พระองค์ได้อะไร เช่น การได้งานที่ดี มีเกียรติสูง เหมือนสามัญชนที่จำเป็นต้องศึกษาเล่าเรียน
จริงๆ แล้ว ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับนักการเมืองอังกฤษที่ส่วนใหญ่จะต้องจบการศึกษาจากโรงเรียนประจำชั้นดี และเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ หรือหากไม่ได้จบการศึกษาจากโรงเรียนประจำชั้นดี แต่ก็ต้องมีเป็นคนเรียนดีและสามารถชิงทุนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และเมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้ว ก็จะต้องแข่งขันผ่านการเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่เวทีการเมืองในรัฐสภา และต่อสู้ไปจนถึงสามารถเป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนที่เป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีคือกลุ่มคนที่มีโอกาสจะได้เข้าเฝ้าองค์พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ตามประเพณีการปกครองของอังกฤษโดยปกติ จะต้องเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์เป็นประจำทุกสัปดาห์ และในโอกาสดังกล่าวนี้เองที่พระมหากษัตริย์จะต้องมีบทสนทนากับคนที่อยู่ในระดับสูงสุดของประเทศ ที่เป็นคนที่มีคุณวุฒิ มีประสบการณ์ทางการเมือง มีความรู้ความเข้าใจในปัญหากิจการบ้านเมือง รวมทั้งต้องมีข้อเสนอในการกำหนดนโยบายสาธารณะทั้งภายในและระหว่างประเทศด้วย
จากการเปรียบเทียบข้างต้น แบจอร์ทกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ทรงไม่ต่างจากบุคคลในระดับทั่วไป (an average man) เพราะนักการเมืองระดับรัฐมนตรีคือคนที่จะต้องได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร บางครั้งพระมหากษัตริย์จะทรงพระปรีชาญาณ (clever) แต่บางครั้งพระองค์ก็ไม่ (stupid) แต่ในระยะยาว พระองค์จะไม่ได้ทั้งทรงพระปรีชาญาณหรือไม่ทรงพระปรีชาญาณ แต่พระองค์จะเป็นคนธรรมดาๆ ทั่วๆ ไป (the simple, common man) ที่ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจประจำวันปกติที่เป็นพระราชภารกิจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย
แบจอร์ทชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ว่า มันไร้เหตุผลที่จะคาดหวังให้คนที่เป็นเจ้าเป็นนายที่มีสติปัญญาระดับธรรมดา (ordinary man) แต่มีอัจฉริยภาพที่ยิ่งใหญ่เหนือคนที่มีสติปัญญาพิเศษ (extraordinary man) แต่ไม่ได้เกิดเป็นเจ้าเป็นนาย
มันไร้เหตุผลที่จะคาดหวังให้คนที่อยู่ในสถานะที่ถูกกำหนดไว้แล้ว (whose place has always been fixed) มีวินิจฉัยการตัดสินใจที่ดีกว่าคนที่ต้องดำเนินชีวิตของเขาด้วยวิจารณญาณของเขาเอง เพราะผู้ที่ถูกวางตัวให้ขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ไม่จำเป็นต้องใช้วินิจฉัยการตัดสินใจใดๆ ในการไต่ไปสู่การเป็นพระมหากษัตริย์ เพราะสถานะของพระองค์เป็นอะไรที่ถูกกำหนดไว้แล้ว (fixed) ในขณะที่คนทั่วไปจะต้องใช้วินิจฉัยการตัดสินใจอยู่ตลอดเวลาในเรื่องประจำวันในชีวิต และรวมทั้งการต่อสู้ไต่เต้าในทุกๆ เรื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานะหน้าที่การงาน มันไร้เหตุผลที่จะคาดหวังให้บุคคลที่อาชีพหน้าที่การงานเขา (career) เหมือนเดิมตลอด - ไม่ว่าเขาจะสุขุมรอบคอบหรือไม่---มีดุลยพินิจที่ดีอย่างคนที่ไต่เต้าขึ้นมาจากสติปัญญาของเขา และจะล่วงหล่นลงเมื่อเขาหยุดที่จะมีดุลยพินิจที่ดี
ข้อความข้างต้นนี้ แบจอร์ทต้องการชี้เห็นความจริงอีกเช่นกันว่า ไม่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงมีดุลยพินิจที่ดีหรือไม่ พระองค์ก็ยังทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดไป (ในที่นี้ หมายถึงพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ) ต่างจากบุคคลทั่วไปที่จะต้องพยายามที่จะมีดุลยพินิจที่ดีเพื่ออนาคตหน้าที่การงาน ดังนั้น เขาจึงเห็นว่า มันไม่มีเหตุผลนักที่จะคาดหวังให้พระมหากษัตริย์จะต้องมีดุลยพินิจที่ดีเหมือนอย่างคนที่อนาคตหน้าที่การงานของเขาผูกอยู่กับดุลยพินิจของเขา
แม้ว่าการที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในตำแหน่งประมุขของรัฐตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้นจะไม่ทำให้พระองค์ต้องขวนขวายในเรื่องการใช้ดุลยพินิจเหมือนกับคนธรรมดาดังที่กล่าวไปแล้ว แต่กระนั้น แบจอร์ทชี้ให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งว่า การที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในตำแหน่งประมุขของรัฐตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้นก็จะกลายเป็นข้อได้เปรียบของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญด้วย เพราะเงื่อนไขดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้พระองค์ได้มาซึ่งประสบการณ์ความรู้ที่ต่อเนื่องของการบริหารราชการของประเทศที่มีความสลับซับซ้อน
แต่แบจอร์ทย้ำว่า เงื่อนไขดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการเปิดโอกาสเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ พระมหากษัตริย์จะทรงใช้โอกาสดังกล่าวนั้นหรือไม่ ซึ่งแบจอร์ทกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาญาณ (แบจอร์ทใช้ว่า the king) จะไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นผ่านไป โดยไม่ใช้มันให้เป็นประโยชน์ “This gives him the opportunity of acquiring a consecutive knowledge of complex transactions, but it gives only an opportunity. The king must use it.”