xs
xsm
sm
md
lg

วิปโยคนาทีสวรรคต ๓ พระมหากษัตริย์ไทย! เตรียมพระองค์เสด็จสวรรคตอย่างมีพระสติ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์กับอาณาประชาราษฎร์ มีความแน่นแฟ้นลึกซึ้งอย่างแยกกันไม่ออก เสมือนพ่อกับลูก ฉะนั้นเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคตคราใด บ้านเมืองจึงถูกปกคลุมไปด้วยความมืดมนแห่งความโศกเศร้า

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯกลับจากทอดพระเนตรสุริยปราคาที่ตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้ทรงให้จัดมีงานฉลองขึ้นในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๑๑ งานเริ่มตั้งแต่ ๓ โมงเช้าโดยมิพิธีสงฆ์ที่พระที่นั่งไชยชุมพล ครั้นถึงค่ำก็ทรงจุดดอกไม้เพลิงบูชาพระแก้วมรกต จนเวลาล่วงเข้ายามเศษจึงเสด็จกลับไปประทับในพระบรมมหาราชวัง เพราะทรงครั่นเนื้อครั่นพระองค์ วันรุ่งขึ้นไม่เสด็จออกว่าราชการด้วยทรงประชวรด้วยไข้จับสั่น ได้แต่ทรงบรรทมและเสวยพระโอสถ

ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม พระอาการมิได้ทุเลาลง เวลาทุ่มเศษทรงจับไข้ไปจนถึงเวลา ๒ ยามเศษ ครั้นสร่างลงบ้างก็รับสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เข้าเฝ้า รับสั่งให้ไปประชุมหมอหลวงว่าควรจะทำประการใด กรมขุนวรจักรฯรับพระบรมราชโองการแล้วจึงออกมาสั่งให้หลวงทิพจักษุนำคณะแพทย์หลวงเร่งประกอบพระโอสถขึ้นถวาย

จากนั้นเวลาผ่านมาถึง ๖ วัน อาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ยังทรงอยู่ ครั้นวันที่ ๕ กันยายน เวลา ๔ โมงเศษพระอาการกลับกำเริบขึ้น พิษไข้ทำให้พระองค์ทรงเซื่องซึม เสวยพระกระยาหารได้เพียงเล็กน้อย ทรงกระหายแต่น้ำ อาการเริ่มแปรไปทางอุจจาระธาตุ ทำให้พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีต่างกังวลใจ จึงปรึกษากันว่าพระโอสถที่หลวงทิพจักษุนำขึ้นถวายมาหลายวันแล้วไม่ทำให้พระอาการคลายลงเลย และว่าผู้ใดจะขึ้นไปฉลองพระเดชพระคุณได้ก็ให้เร่งดำเนินการ ทุกคนต่างนั่งก้มหน้านิ่ง พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิทจึงรับจะเป็นผู้ฉลองพระเดชพระคุณเอง

ต่อมาในวันที่ ๒๑ กันยายน เวลาเที่ยงแล้ว ปรากฏพระอาการกำเริบรุนแรงยิ่งขึ้น ทรงปั่นป่วนในพระนาภีถึงกับทรงอาเจียนออกมาเป็นโลหิตตกลิ่ม รับสั่งให้พระยาบุรุษรัตรราชพัลลภ พระประศาสตร์ดำรง เข้าเฝ้าในพระที่ รับสั่งว่าพระโรคหนัก ถ้าเห็นว่าพระอาการเหลือปัญญาของหมอ ก็ให้กราบทูลตามความเป็นจริงอย่าปิดบัง เพื่อที่จะได้จัดการงานแผ่นดินให้เรียบร้อย

ต่อมาในวันที่ ๒๗ กันยายน พระราไชศวรรย์ เจ้ากรมพระคลังข้างที่ ข้าหลวงเดิม ได้ประกอบพระโอสถไพรกับเกลือเจือด้วยเวทย์มนต์ถวาย ทำให้พระอาการแน่นพระอุระลดลง จึงมีพระบรมราชโองการรับสั่งให้พนักงานนำสิ่งของที่พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีนำมาถวายเมื่อคราวเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นของใครก็ให้พระราชทานคืนไปทุกคน

วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๑๑ เวลา ๓ โมงเช้าเศษ รับสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนบำราบปรปักษ์ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กับเจ้าพระยาภูธราภัย เข้าเฝ้า ทรงตรัสเสมือนรู้พระองค์ว่า

“วันนี้เป็นวันจันทร์เต็มดวง นักปราชญ์ทั้งหลายก็ถึงความดับเป็นอันมากในวันเพ็ญดังนี้ ควรพระชนมายุจะหมดจะดับในวันนี้เป็นแน่แล้ว ซึ่งขัดเคืองว่ากล่าวแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวงมาแล้วแต่ก่อนนั้น ขออโหสิกรรมกันเสียเถิด อย่าให้เป็นเวรกันต่อไปเลย ขอฝากแต่พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอด้วย...”

แล้วทรงหันพระพักตร์ไปตรัสกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า

“ข้าเป็นคนลูกมากรากดก แล้วลูกก็ยังเล็กเด็กอยู่ ไหนๆคุณศรีสุริยวงศ์อุปถัมภ์บำรุงข้ามา ถ้าข้าไม่มีตัวแล้ว ขอให้คุณศรีสุริยวงศ์อุปถัมภ์บำรุงลูกข้าเหมือนตัวข้าด้วย ขออย่าให้มีภัยอันตราย หากเป็นที่กีดขวางด้วยการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่เนรเทศ...”

ผู้เข้าเฝ้าเมื่อได้ฟังที่ตรงตรัส ต่างก็รู้สึกสะท้านสะเทือนใจ ต่างพากันเศร้าโศก บ้างก็ถึงกับสะอื้นไห้ เมื่อทอดพระเนตรเห็นจึงรับสั่ง

“อย่าร้องไห้ ความตายไม่เป็นอัศจรรย์อะไรนัก เป็นของธรรมดา เกิดมาแล้วก็ต้องตายด้วยกันทุกคน...”

เมื่อเห็นว่าพระอาการทรงอ่อนเพลีย เพื่อให้ทรงพักผ่อนทุกคนจึงพากันถอยออกมา

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงปรึกษากับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทถึงกระแสพระราชดำรัส เพื่อมิให้พระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใย จึงควรกราบทูลให้ทรงทราบถึงการที่ได้เตรียมไว้แล้ว ที่จะอัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเสวยราชย์หากสิ้นแผ่นดิน เมื่อเห็นพ้องต้องกันจึงมอบให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง จางวางมหาดเล็กที่ทรงชุบเลี้ยงมาอย่างพระราชโอรสบุญธรรม นำความขึ้นกราบบังคมทูล ตลอดจนที่ได้ให้ทหารเข้าประจำซองล้อมวงถวายความปลอดภัยองค์ยุพราชไว้แล้ว ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงหมดความห่วงใย เตรียมพระองค์ที่จะสวรรคตอย่างมีสติ ยากที่ใครจะทำได้อย่างพระองค์

ครั้นถึงเวลาย่ำค่ำ รับสั่งให้พระยาราชบุรุษรัตนราชพัลลภเข้าเฝ้า รับสั่งให้พยุงพระองค์พลิกพระเศียรทับพระพาหาเหมือนอย่างพระไสยาสน์ พร้อมกับตรัสว่า

“เขาตายกันดังนี้”

แล้วรับสั่งให้จุดทียนไชย ทรงลาพระรัตนตรัย ศีรษะอยู่ทิศอุดร ผันพระพักตร์ประจิมทิศ แล้วทรงเจริญพระกรรมฐานสมาธิ ภาวนาว่า

“อรหัง สัมมาสัมพุทโธ...อรหัง สัมมาสัมพุทโธ...”

ทรงอัดนิ่งไป แล้วผ่อนอัสสาสะ ปัสสาสะ เป็นคราวๆ ยาวแล้วสั้นเข้าทีละน้อย...ทีละน้อย...จนกระทั่งหางพระสุรเสียงมี โธ..โธ.. สั้นเข้าและเบาลง จนถึงประถมยามก็มีเสียง...ครอก...เบาๆ

ขณะนั้นพระเจ้าลูกเธอและพระสนมเอกที่หมอบเฝ้าอยู่ภายนอกด้วยความวิตกกังวลและใจระทึก ต่างก็พยายามสงบและสำรวมท่ามกลางความเงียบสงัด มีเสียงนกกลางคืนร้องมาจากยอดหลังคา มีหมอกธุมเกตุ ซึ่งเป็นหมอกสีขาวมัวลอยเข้ามาในพระที่นั่ง ทำให้อากาศที่เย็นอยู่แล้วเยือกลงอีก เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตแน่แล้ว จึงออกมาประกาศสั้นๆว่า

“เสด็จสวรรคตแล้ว”

พร้อมกับคุกเข่าถวายบังคม ท่ามกลางเสียงคร่ำครวญเซ็งแซ่ก้องพระบรมมหาราชวัง

หลังจากสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางได้อัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิจประชานาถ ขณะมีพระชนมายุ ๑๕ พรรษาขึ้นครองราชย์ เป็นยุวกษัตริย์องค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ๕ ปี จนบรรลุนิติภาวะแล้วจึงทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองพัฒนาไปทุกด้าน และพาประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมมาได้ในยามที่มหาอำนาจตะวันตกออกล่าอาณานิคมในย่านนี้ ทรงเป็นที่รักของอาณาประชาราษฎร์ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระปิยมหาราช” และทรงครองราชย์ยาวนานกว่ากษัตริย์ทุกพระองค์ถึง ๔๒ ปี

จนถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๓๕ ทรงขับรถไฟฟ้าเสด็จทอดพระเนตรการเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างประเทศและบริเวณทั่วไปที่พญาไท แต่มิได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง รับสั่งว่า “ท้องไม่ค่อยสบายจะรีบกลับ” แล้วก็ทรงขับรถพระที่นั่งกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน

วันที่ ๑๗ ถึงวันที่ ๑๙ ตุลาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปีถวายรัชกาลที่ ๔ ในพระบรมมหาราชวัง แต่เนื่องด้วยพระนาภียังไม่เป็นปกติ จึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จไปแทนพระองค์ ในวันที่ ๑๙ ตุลาคมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้พระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระราชเทวี ทำขนมจีนน้ำยาเสวยกลางวัน แต่เมื่อเสวยก็เริ่มปวดพระนาภี จึงเสวยพระโอสถ ในตอนค่ำยังมีรับสั่งให้เชิญเจ้านายใกล้ชิดเข้าเฝ้าในที่บรรทม และยังทรงตรัสเล่นกับผู้เข้าเฝ้าเหมือนในเวลาทรงพระสำราญ

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๐ ตุลาคม พระอาการประชวรเริ่มปรากฏชัดเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปตามหมอฝรั่งมา ๓ คน คือหมอเบเกอร์ หมอไรเตอร์ และหมอปัวซ์ รีบมาเข้าเฝ้า ขณะนั้นเป็นเวลา ๓ โมงเช้า หลังจากตรวจพระอาการแล้วหมอไรเตอร์เป็นผู้รายงานว่า เป็นเพราะพระบังคลคั่งอยู่นาน เมื่อถวายพระโอสถจนพระบังคลหนักออกมา จึงทำให้อ่อนเพลียและทำให้กระเพาะอาหารอ่อนแอไปด้วย ควรพักบรรทมนิ่งๆ อย่าเสวยพระกระยาหารสัก ๒๔ ชั่วโมงก็จะเป็นปกติ หมอได้ฉีดมอร์ฟีนแก้ปวดให้เข็มหนึ่ง จนถึงเวลา ๕ ทุ่มของคืนนั้นพระเจ้าอยู่หัวจึงบรรทมหลับสนิท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งหมอฝรั่งก็ยังเฝ้าพระอาการอยู่ที่หน้าห้องตลอดเวลา

ย่ำรุ่งวันที่ ๒๑ ตุลาคม พระเจ้าอยู่หัวทรงตื่นบรรทม ตรัสว่าคอแห้งแล้วทรงดื่มพระสุธารสเย็น ขณะนั้นคณะแพทย์ไทยก็ถวายพระโอสถแก้พระเสมหะแห้ง รับสั่งว่าอยากเสวยอะไรให้ชุ่มพระศอ สมเด็จพระราชินีนาถจึงถวายน้ำผลเงาะคั้นผลหนึ่ง แต่พอเสวยได้ครู่เดียวก็ทรงพระอาเจียนออกมา สมเด็จพระราชินีนาถตกพระทัย ออกมาเรียกหมอฝรั่งทั้ง ๓ ให้รีบเข้าไป หมอตรวจพระอาการแล้วกราบทูลว่าที่เสวยน้ำผลเงาะแล้วทรงอาเจียน เป็นเพราะกระเพาะว่างและยังอักเสบอยู่ หากเสวยพระกระยาหารหรือพระโอสถก็จะทำให้ทรงอาเจียนออกมาอีก จะทำให้เสียพระกำลัง จึงควรจะอยู่เฉยๆจะดีกว่า ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว ตรัสว่า “อาหารก็ไม่ให้กิน ยาก็ไม่ให้กิน ให้นอนนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่รักษามันจะหายได้อย่างไร...”

เมื่อหมอกลับออกไปแล้ว มีรับสั่งให้สมเด็จพระบรมราชินีนาถตามใครๆมาพูดจาปรึกษากัน สมเด็จพระบรมราชินีนาถรับสั่งให้มหาดเล็กไปตามทูลเชิญพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัติวงศ์ และพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ มาเข้าเฝ้า เมื่อเจ้านายทั้ง ๔ มาถึงแล้วทรงเล่าพระอาการให้ฟัง เมื่อเจ้านายทั้ง ๔ กลับออกมาซักถามหมอ หมอก็ยืนยันอย่างเดิมว่าไม่เป็นอะไร บรรทมนิ่งๆจะดีกว่า ทุกพระองค์ก็เห็นด้วยกับหมอ จึงทูลถวายความเห็นกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่าหมอรักษาอยู่เวลานี้มีเหตุผลถูกต้องแล้ว เมื่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถนำความไปกราบทูล พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงนิ่งไม่รับสั่งอะไร

ช่วงเวลาผ่านไปอีกไม่นาน ขณะที่เจ้านายทั้ง ๔ เสวยพระกระยาหารเช้าร่วมกับหมอฝรั่งอยู่นั้น พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงอาเจียนออกมาเป็นน้ำสีเขียว ซึ่งหมอฝรั่งว่าเป็นน้ำดี หลังจากนั้นก็มีพระอาการเซื่องซึมและหลับอยู่เสมอ

เวลาเที่ยง เจ้านายทั้ง ๔ พร้อมหมอขึ้นตรวจพระอาการเป็นระยะ ทรงเซื่องซึมมีพระบังคลเบาครั้งหนึ่งประมานช้อนกาแฟ สีเหลืองอ่อน พระอาการอื่นๆยังปกติเหมือนเดิม ทุกคนจึงคลายวิตกลงบ้าง สมเด็จพระบรมราชินีนาถรับสั่งให้เจ้านายทั้ง ๔ ผลัดเปลี่ยนกันอยู่ประจำ เพื่อฟังพระอาการจากหมอ

ตอนบ่าย เมื่อรู้สึกพระองค์ หมอได้นำปรอทมาวัดความร้อนภายใน ปรอทขึ้น ๑๐๔ องศา มีพระเสโทซึมออกมาตามพระวรกาย มีพระบังคลเบาเป็นครั้งที่ ๒ ปริมาณเท่าครั้งแรก หมอให้คำอธิบายว่าเป็นเพราะไม่ได้เสวยอะไรเลย นอกจากพระสุธารส ๒-๓ ช้อน แต่ก็ซึมซาบไปตามพระองค์เสียหมด พระบังคลจึงน้อย หากเสวยพระกระยาหารได้บ้าง พระบังคลก็จะเป็นปกติ

พระเจ้าอยู่หัวบรรมทมหลับจนเย็น พอรู้สึกพระองค์เจ้านายและหมอก็รีบเข้าเฝ้าตรวจพระอาการอย่างละเอียด รับสั่งกับพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯว่า “การรักษาเดี๋ยวนี้ เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว” จากนั้นก็ไม่ตรัสอะไรอีก

หลังถวายการตรวจครั้งนี้หมอแสดงความวิตก ทูลกับบรรดาเจ้านายว่ารู้สึกว่าพระอาการจะมากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพราะธาตุพิการอย่างเดียว แต่เป็นทางพระวักกะ (ไต) เครื่องกรองพระบังคลเบาด้วย หมอจึงประชุมกันประกอบพระโอสถบำรุงพระบังคลเบา เร่งให้ออกมาเร็วที่สุด และยังใช้เครื่องสวนด้วย แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะไม่มีพระบังคลเบาออกมาเลย

ความวิตกกังวลยิ่งมีมากขึ้น เจ้านายกับหมอหารือกันคร่ำเคร่ง ตกค่ำ กรมขุนนครสวรรค์ฯนำคณะหมอขึ้นตรวจพระอาการ ปรากฏว่ายังบรรทมหลับอยู่ ได้ยินเสียงหายพระทัยดังและยาว ต้องปลุกขึ้นมาถวายพระโอสถ จากการตรวจพระอาการ การหายพระทัยและชีพจรยังดีอยู่ ความร้อนในพระองค์ก็ลดลง

ประมาณ ๑ ทุ่มเศษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯเข้าเฝ้า หมอทูลว่าเสวยน้ำซุปไก่ได้เป็นพักๆ พักละ ๓-๔ ช้อน ขณะนั้นมีพระบังคลเบาอีกเป็นครั้งที่ ๔ คราวนี้มีประมาณ ๑ ช้อนแกง จนถึงยามหนึ่งจึงมีพระบังคลหนักเป็นครั้งแรก เป็นสีดำๆ และมีอีก ๒ ครั้ง ทั้งหมอฝรั่งและหมอไทยเห็นพ้องกันว่าพระอาการดีขึ้น แต่ก็ยังวิตกที่ไม่มีพระบังคลเบาออกมาอีกเลย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมสรรพสิทธิประสงค์ขอชงน้ำโสมถวายให้จิบ เพื่อบำรุงพระกำลัง คณะหมอไม่คัดค้าน

เช้าวันที่ ๒๒ ตุลาคม กรมขุนนครสวรรค์ฯกับหมอฝรั่งทั้ง ๓ คนเข้าเฝ้าตรวจพระอาการ ทุกคนสีหน้าไม่สู้ดี เพราะพระเจ้าอยู่หัวกลับมีอาการทรุดลง เนื่องจากพระบังคลเบาซึ่งคาดว่าจะมีกลับไม่มี น่าจะเป็นด้วยพิษพระบังคลเบาซึมตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ จนกลายเป็นพิษทำให้อ่อนเพลียต้องบรรทมหลับตลอดเวลา จากนั้นได้ประชุมกันแล้วเขียนรายงานต่อเจ้านายและเสนาบดีว่า พระอาการเกินกำลังที่จะรักษา เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและเจ้านายทรงเห็นรายงานของหมอแล้ว ทรงปรึกษากันแล้วมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ มาตรวจพระอาการ

เมื่อพระองค์เจ้าสายฯเข้าเฝ้าตรวจพระอาการ พระเจ้าอยู่หัวรู้สึกพระองค์ทรงรับสั่งว่า “หมอมาหรือ” แล้วไม่รับสั่งอะไรอีก พระองค์เจ้าสายฯตรวจพระอาการแล้วยืนยันว่า พระอาการยังไม่เป็นอะไรเพราะชีพจรยังเต้นเป็นปกติ ที่เซื่องซึมนั้นเป็นด้วยฤทธิ์พระโอสถต่างๆ พอฤทธิ์พระโอสถหมดก็จะทรงสบายขึ้น แล้วปรุงยาแก้พระศอแห้งถวาย รอเฝ้าตรวจพระอาการต่อไป

วันนั้นพระอาการตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นไม่มีพระบังคลทั้งหนักและเบาเลย พระหทัยกลับอ่อนลงมาก ยังคงบรรทมนิ่งตลอดเวลา จนเวลาย่ำค่ำ กรมขุนนครสวรรค์ฯและหมอขึ้นตรวจพระอาการอีก พระเจ้าอยู่หัวหายพระทัยดัง ยาว และพ่นแรงออกมาทางพระโอษฐ์จนพระมัสสุไหวเห็นได้ชัด พระเนตรไม่จับอะไรเลย คงลืมพระเนตรลอยคว้าง แต่พระกรรณยังได้ยิน เพราะเมื่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถทูลให้เสวยน้ำ ยังคงพยักพระพักตร์รับ และเมื่อกราบทูลว่าเป็นพระโอสถแก้พระศอแห้งของพระองค์เจ้าสายฯ ก็ยังมีพระสุรเสียงพอได้ยินว่า “ฮือ...”

ทรงยกพระหัตถ์ทั้งขวาและซ้ายขึ้นช้าๆมาเช็ดน้ำพระเนตร พระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระราชเทวี รีบนำผ้าซับพระพักตร์ชุบน้ำขึ้นเช็ดพระเนตรถวาย ส่วนหมอก็ฉีดพระโอสถช่วยบำรุงพระหทัยถวายด้วย

นับตั้งแต่นาทีนั้น หมอฝรั่งต้องนั่งประจำใกล้ๆพระองค์คอยจับพระชีพจรอยู่ตลอด และสังเกตเห็นว่าพระหทัยค่อยๆเบาลง...เบาลงทุกที ไม่ทรงกระวนกระวายแต่อย่างใด คงดูเหมือนบรรทมหลับ

จนถึงเวลาประมาณ ๒ ยาม เจ้านายจะขอเข้าเฝ้า ก็พอดีหมอรีบออกมาทูลว่า พระเจ้าอยู่หัวสวรรคตเสียแล้ว เมื่อเวลา ๒ ยามกับ ๔๕ นาที ซึ่งเป็นเวลาย่างเข้าวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ทันใดเสียงร้องไห้ก็ดังระงมขึ้นที่หน้าห้องบรรทมแลเฉลียงที่เต็มไปด้วยฝ่ายในและฝ่ายนอก บ้างก็ทอดกายลงพื้นคร่ำครวญด้วยความโศกเศร้าอาดูร

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้ทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชให้เสด็จลงมาชั้นล่าง ประทับที่ห้อง “แป๊ะต๋ง” พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ต่างก็คุกเข่าลงกราบถวายบังคมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบสนองสมเด็จพระชนกาธิราชต่อไป

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฎราชกุมาร ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๓๐ พรรษา ทรงสำเร็จวิชาการทหารมาจากโรงเรียนนายร้อยแซนด์ เฮิร์ท และวิชาพลเรือนอีกหลายสาขาจากประเทศอังกฤษ ขณะศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์ เฮิร์ท ทรงประชวรด้วยโรคพระอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบถึงขั้นเป็นหนอง ซึ่งขณะนั้นการผ่าตัดหน้าท้องยังเป็นสิ่งที่น่ากลัวอันตรายมาก จะต้องกราบบังคลทูลพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบเสียก่อนว่าจะทรงอนุญาตหรือไม่ แต่การติดต่อจากกรุงลอนดอนมากรุงเทพฯขณะนั้นเร็วที่สุดก็คือทางโทรเลข ซึ่งต้องใช้เวลา ๕-๗ วัน เพราะต้องผ่านเป็นทอดๆหลายประเทศ แต่พระอาการของสมเด็จพระบรมฯก็เข้าขั้นอันตรายจนแพทย์จะไม่รับรองความปลอดภัยแล้ว ถ้ารอพระบรมราชานุญาตก็คงไม่ทันการ ในเวลาคับขันเช่นนี้แพทย์ลงความเห็นว่า ถ้าไม่รีบผ่าตัดก็ต้องเสด็จทิวงคตแน่ ถ้าผ่าตัดก็ยังมีความหวัง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน จึงตัดสินใจที่จะเสี่ยงพระราชอาญาหากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯทรงเป็นอะไรไป ยอมให้คำยินยอมแก่แพทย์ให้ทำการผ่าตัดโดยด่วน

ผลของการผ่าตัด เมื่อแพทย์เปิดพระนาภีออก พบว่าตรงยอดของพระอันตะเป็นฝีกลัดหนองขั้นรุนแรง แต่ก็พยายามอย่างที่สุดจนปลอดภัย จากคำรายงานของแพทย์กล่าวว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯทรงเป็นคนไข้รายที่ ๓ ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้อง นับตั้งแต่มีการทำศัลยกรรมแบบนี้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงสิริราชสมบัติมาได้ ๑๖ ปี จนถึงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ภายหลังพระราชพิธีฉัตรมงคลประจำปี ก็ทรงประชวรในพระอุทร ตอนเริ่มประชวรนั้นเสด็จกลับไปประทับที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
พร้อมด้วยพระนางสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งกำลังทรงครรภ์ใกล้ประสูติรัชทายาท ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามพระกุมารไว้ล่วงหน้า
ทั้งพระนามพระราชโอรสและพระราชธิดาทรงทำพิธีจองเปรียงเพื่อต้อนรับพระกุมารด้วยพระองค์เอง
โดยในเวลาพลบค่ำ ทรงชักรอกโคมไฟขึ้นไปแขวนไว้บนยอดเสา และชักลงมาเติมน้ำมันทุกวัน
ซึ่งต้องทำถึง ๑๕ วัน แต่เมื่อทำไปได้ ๑๐ วันทรงเกิดอาการปวดอย่างรุนแรงขึ้นที่พระนาภี

การปวดอย่างกะทันหันทำให้มีการเรียกประชุมคณะแพทย์เป็นการด่วน
เวลาผ่านไปหลายวันอาการก็ยังไม่คลาย จนวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน
คณะแพทย์ได้ประชุมปรึกษาถวายการรักษากันอีก เพราะเห็นว่าอาการมีแต่ทรุดลงมาก
จึงลงความเห็นว่าต้องทำการผ่าตัดที่พระอุทรข้างขวาโดยเร็ว

บริเวณพระอุทรข้างขวาก็คือตรงที่ทรงได้รับการผ่าตัดมาจากอังกฤษ
ปรากฏว่ามีก้อนเนื้อปูดขึ้นมาประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ต้องฉลองพระองค์อย่างหลวมๆ
คณะแพทย์ไทยที่ประชุมกันถวายการรักษา มีความเห็นกันว่าควรเชิญหมอเมนเดลสัน
ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน มาตรวจพระอาการและผ่าตัดจะดีกว่า

รุ่งขึ้นในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน
ซึ่งเป็นวันที่กำหนดว่าจะถวายการผ่าตัด แต่กลางดึกของวันที่ ๒๑
นั้นเองทรงมีอาการปวดกำเริบขึ้นอย่างรุนแรง เจ้าพระยายมราชจึงรีบไปตามหมอเมนเดิลสันที่บ้าน
ขณะนั้นหมอเมนเดลสันเพิ่งกลับมาจากเที่ยวเต้นรำยังไม่ทันเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว
เจ้าพระยายมราชเร่งให้ไปด่วน

หมอเมนเดนสันไปตรวจพระอาการแล้วก็ส่ายหน้า
บอกว่าพระอาการเพียบหนัก มีพระกำลังไม่พอที่จะวางยาสลบแล้ว
ถ้าจะผ่าตัดก็ต้องใช้วิธีให้น้ำเกลือ คณะแพทย์ไทยจึงยอมตกลงตามที่หมอเมนเดนสันแนะนำ
ครั้นเมื่อหมอลงมือทำการผ่าตัดเปิดปากแผลที่พระนาภี พบพระอันตะเน่า มีพระบุพโพ
(หนอง) จนคณะแพทย์ตกใจ แต่ได้พยายามถวายการอภิบาลจนสุดความสามารถ

หลังผ่าตัดแล้วพระอาการก็ไม่ดีขึ้น
แต่แล้วในคืนวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนขณะที่พระอาการกำลังเพียบหนัก
เสียงพิณพาทย์หลวงก็ประโคมขึ้นต้อนรับการประสูติของพระราชธิดา
แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปกราบทูลว่าเป็นพระราชธิดา
จนเมื่อคณะแพทย์ลงความเห็นว่าพระชนม์ชีพคงจะไม่ยืนยาวเกิน ๒๔ ชั่วโมงแล้ว
พระยาอัศวินอำนวยเวทย์ หรือหมออัลฟอง แพทย์หลวงได้เข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบการประสูติ
เมื่อเจ้าพระยารามราฆพอัญเชิญพระราชธิดาเข้าไปยังพระที่
มีพระราชดำรัสถามว่าเป็นชายหรือหญิง เจ้าพระยารามฯกราบบังคมทูลว่าเป็นหญิง
ก็ทรงนิ่งอึ้งอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะรับสั่งว่า

“ก็ดีเหมือนกัน มิน่าเล่าถึงไม่ได้ยินเสียงปืน”
ทรงพยายามที่จะยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา
แต่ก็ไม่มีพระกำลังจะยกได้
เจ้าพระยารามฯจึงยกพระหัตถ์ขึ้นวางบนพระอุระของพระราชธิดาครู่หนึ่งขณะที่น้ำพระเนตรไหลเอ่อล้น

ล่วงเข้าวันใหม่ของวันที่
๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ในเวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
ขณะพระชนมพรรษาได้ ๔๖ พรรษา
กำลังโหลดความคิดเห็น