xs
xsm
sm
md
lg

พรรคก้าวไกลจะยึดกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



น่าสนใจว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดปรากฏการณ์แบบที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคประชากรไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 โดยผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น พรรคประชากรไทยได้รับเลือกตั้ง 29 ที่นั่ง จากจำนวน 32 ที่นั่งใน กทม.และการเลือกตั้งวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคพลังธรรมได้รับความนิยมสูงสุดจากพื้นที่ กทม.โดยสามารถกวาดตำแหน่ง ส.ส.ได้มากถึง 32 ที่นั่ง จากทั้งหมด 35 ที่นั่ง

การเลือกตั้งสองครั้งนั้นเกิดจากความโดดเด่นส่วนตัวของหัวหน้าพรรคคือนายสมัคร สุนทรเวช และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งต้องยอมรับว่า ทั้งสองคนนั้นมีความเป็นขั้วการเมืองฝ่ายขวาหรืออนุรักษนิยม

หรือคล้ายๆ กันคือการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร กวาดที่นั่งใน 29 ที่นั่งจาก 37 ที่นั่ง ซึ่งครั้งนั้นก็เกิดจากกระแสของทักษิณหัวหน้าพรรคเช่นเดียวกัน

แต่จากนิด้าโพลล่าสุดพบว่า บุคคลที่คนกรุงเทพฯ จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 20.40 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล เหนือกว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่มาเป็นอันดับ 2 ร้อยละ 15.20

ในขณะที่การเลือกตั้ง ส.ส.นั้นคนกรุงเทพฯ ระบุว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทยอันดับ 1 ร้อยละ 28.50 ใกล้เคียงกับพรรคก้าวไกลที่มาเป็นอันดับ 2 ร้อยละ 26.45 และตามมาห่างๆ อันดับ 3 เพียงร้อยละ 9.50 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ

เป็นไปได้หรือไม่เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งคนกรุงเทพฯ จะเทคะแนนไปในทิศทางเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต นั่นคือ ความโดดเด่นของนายพิธาจะทำให้พรรคก้าวไกลกวาดที่นั่งใน กทม.อย่างถล่มทลายหรือไม่ แม้ว่าผลของนิด้าโพลจะบอกว่าพรรคเพื่อไทยยังมีความเหนือกว่าพรรคก้าวไกลอยู่เล็กน้อยในการเลือก ส.ส.ของคนกรุงเทพฯ ก็ตาม

และเราได้เห็นมาแล้วในการเลือกตั้ง กทม.ซึ่งคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เลือก ส.ก.จากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเหนือกว่า แต่เขตกรุงเทพฯ ชั้นในซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นส่วนใหญ่เลือกพรรคก้าวไกล และเขตที่พรรคเพื่อไทยชนะส่วนใหญ่ก็มีพรรคก้าวไกลได้อันดับรองลงมา

ซึ่งถ้าคนกรุงเทพฯ ตัดสินใจอย่างนั้นอีกครั้งในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าก็จะนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ชี้กระแสทิศทางของสังคมว่า คนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคนเมืองหลวงเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีความรู้และความเข้าใจทางการเมืองต้องการจะเปลี่ยนขั้วการเมืองจากขั้วอำนาจเดิมที่บริหารประเทศมาอย่างยาวนาน และจะสะท้อนว่าคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนจากความเป็นอนุรักษนิยมมาอยู่ฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และเลือกพรรคก้าวไกลที่มีทัศนคติในเชิงลบกับสถาบันพระมหากษัตริย์

เพราะพรรคก้าวไกลนั้นชัดเจนว่า เป็นพรรคที่ต้องการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ และสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมาจากจุดยืนของผู้ก่อตั้งพรรคอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล

ล่าสุดปิยบุตร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ต้องมี “ส.ส.แบบปฏิวัติ” ให้มากกว่า “ส.ส.แบบราชการ”

ปิยบุตรระบุว่า ส.ส.แบบราชการ (Bureaucrat MP) คือ คนที่ได้เป็น ส.ส.แล้ว ก็อยากเป็นอีก ราวกับตำแหน่ง ส.ส.เป็นอาชีพ หรือสมบัติของตระกูลตนเอง คนแบบนี้ จะเฉื่อยชา เสมือนถูกหลอมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ ทำเท่าที่ทำ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง

ส.ส.แบบปฏิวัติ (Revolutionary MP) คือ ส.ส.ที่ตระหนักดีว่า เมื่อโอกาสมาถึง ต้องทำ เมื่อโอกาสยังมาไม่ถึง ต้องเตรียมพร้อมและเร่งให้โอกาสมาถึงคือ ส.ส.ที่กล้าพูดในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า แม้มีกรงขังที่ครอบไว้แน่นหนา ก็ต้องเพียรพยายามหาเหลี่ยมมุมเพื่อไต่เส้น ไต่เพดาน ไปให้ได้

เมื่อเราฟังแล้วก็เข้าใจได้ว่า ส.ส.แบบปฏิวัตินี่เองที่น่าจะเป็นคัมภีร์ของพรรคก้าวไกลที่ผู้ก่อตั้งพรรคต้องการให้เป็นที่น่าสนใจว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต้องการ ส.ส.แบบนี้หรือ

โดยปิยบุตรขยายความ ส.ส.แบบราชการ ไม่กล้าเสนอและไม่กล้าลงมติยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ ส.ส.แบบปฏิวัติ ผลักดันการยกเลิก 112

ส.ส.แบบราชการ ไม่กล้าอภิปรายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และลงมติให้ความเห็นชอบโดยไม่ปริปากแม้แต่คำเดียว แต่ ส.ส.แบบปฏิวัติ อภิปราย ตรวจสอบ ตัดลดงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ส.ส.แบบราชการ ลงมติกฎหมายที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจหรือวงงานของสถาบันกษัตริย์อย่างศิโรราบ เข้าประชุม แสดงตน กดลงคะแนนอย่างพร้อมเพรียง หากมาไม่ทัน ก็ต้องรีบวิ่งตาลีตาเหลือกมาลงคะแนนทีหลัง หากกดผิด ก็ต้องรีบแถลงชี้แจง แต่ ส.ส.แบบปฏิวัติ ต้องพิจารณาตรวจสอบ อภิปราย กฎหมายเหล่านี้

ส.ส.แบบราชการ พร้อมใจกันประกาศว่าไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ขนาดรัฐธรรมนูญให้แก้ได้ ก็ยังไปร่วมมือกันกำหนดว่าห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 เสียอย่างนั้น แต่ ส.ส.แบบปฏิวัติต้องแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญหมวด 1 คือ หมวดทั่วไป ที่มีมาตรา 2 ระบุว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐธรรมนูญหมวด 2 พระมหากษัตริย์ที่ว่าด้วยสถานะของพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทั้งสองหมวดเป็นเครื่องมือในการกำหนดว่า ประเทศไทยนั้นมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นโครงสร้างและรูปแบบของรัฐ

แต่พวกที่ท้าทายและผลักเพดานสูงขึ้นเรื่อยๆ ต้องการแก้ไขสองหมวดนี้เพื่อแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์และทลายโครงสร้างและรูปแบบของรัฐนั่นเอง

นั่นคือ ปิยบุตรขีดเส้นให้ ส.ส.ก้าวไกลกล้าที่จะท้าทายต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าโพลของนิด้ามีความแม่นยำก็แสดงว่าบัดนี้คนกรุงเทพฯส่วนมากต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ และแสดงว่าพวกเขาเห็นด้วยกับบทบาทของพรรคก้าวไกลทั้งในและนอกสภาฯ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตาม ถ้าตัดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไป เราคงต้องยอมรับว่าการเข้ามาในสภาฯ ครั้งแรกของ ส.ส.พรรคก้าวไกลที่สืบเนื่องมาจากพรรคอนาคตใหม่นั้นส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทในสภาฯ ได้อย่างน่าชื่นชม พวกเขามีข้อมูลและทำการบ้านมาอย่างดีในการอภิปรายแตกต่างจากนักการเมืองรุ่นเก่าที่เน้นในเรื่องลีลาและโวหาร

เมื่อพรรคก้าวไกลชัดเจนว่ามีความมุ่งหมายอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งจากบทบาทของ ส.ส.ในสภาฯ และนอกสภาฯ ทั้งจากจุดยืนของผู้ก่อตั้งพรรคที่มีทัศนคติเชิงลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ผลของนิด้าโพลออกมาอย่างชัดแจ้งว่าพรรคก้าวไกลทั้งตัวหัวหน้าพรรคและพรรคได้รับความนิยมสูงมากจากคนกรุงเทพฯ ในยุคนี้ นั่นย่อมเป็นภาพสะท้อนว่าจุดยืนทางการเมืองของคนกรุงเทพฯ กำลังเปลี่ยนไปหรือคนกรุงเทพฯ ที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังกลายเป็นคนส่วนน้อย

และหากพรรคก้าวไกลสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ ได้อย่างถล่มทลายอย่างที่พรรคประชากรไทยและพรรคพลังธรรมเคยทำได้ในอดีต มันต่างกับสองพรรคนั้นที่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้มันจะท้าทายต่อระบอบและรูปแบบของรัฐที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้เป็นไปด้วย

ดังนั้นจึงมีคำถามต่อฝ่ายอนุรักษนิยมด้วยว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นไปอย่างไร และจะยอมรับผลที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะตอบคำถามว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต้องการผลลัพธ์ที่นิด้าโพลออกแบบสำรวจมาจริงๆ หรือ

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น