xs
xsm
sm
md
lg

ความถดถอยของฝ่ายอนุรักษนิยม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งหน้ามีเดิมพันที่สูงที่จะชี้อนาคตของประเทศว่าจะก้าวไปทางไหน ตามกระแสทางการเมืองที่มีกลุ่มคนขึ้นมาท้าทายการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนท้องถนน

สถานการณ์การเมืองเริ่มชัดเจนขึ้นว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายเสรีนิยม และการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เกิดและเติบโตมาในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ที่มีแนวคิดเป็นพวกเสรีนิยมใหม่ที่ในทางการเมืองต้องการลดบทบาทของรัฐในทุกด้าน และในทางเศรษฐกิจยึดหลักการตลาดเสรีนิยมแบบสุดโต่ง ซึ่งทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจคือการลดบทบาทของภาครัฐลงมา

แน่นอนคนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงไม่ยอมรับระบอบกษัตริย์และเรียกร้องความเท่าเทียม โดยไม่ได้ใส่ใจประวัติศาสตร์และรากเหง้าของสังคมตัวเองและการก่อร่างสร้างชาติของบรรพบุรุษ

ต้องยอมรับว่าแม้พรรคพลังประชารัฐจะเกิดขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช.แต่ก็เป็นปราการของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ทัดทานข้อเรียกร้องที่ต้องการการเปลี่ยนประเทศแบบพลิกฝ่ามือของคนกลุ่มหนึ่งที่แม้วันนี้คนกลุ่มนั้นอาจจะยังมีเสียงที่ไม่มากพอ แต่แนวโน้มของอนาคตก็เป็นเรื่องที่น่าหวั่นไหว

พรรคพลังประชารัฐจะยังมีมนต์ขลังอีกไหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปต่อไหม แล้วจะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรีพ่วงไปด้วยเพราะพล.อ.ประยุทธ์มีวาระเหลืออีกเพียง 2 ปี เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ เพราะมีผลต่อสมาชิกหลายคนว่าจะตัดสินอนาคตของตัวเองอย่างไร

การที่ยังไม่รู้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร ทำให้สมาชิกพรรคหลายคนลังเลต่ออนาคตของพรรคและตัวเอง ต้องยอมรับนะว่า การเข้ามาอยู่พรรคพลังประชารัฐของหลายคนก่อนหน้านี้เพราะรู้ว่าพรรคพลังประชารัฐได้เปรียบทางการเมือง ทั้งอำนาจรัฐและจากการได้เปรียบจากรัฐธรรมนูญที่ให้ 250 ส.ว.ที่ คสช.ตั้งมาสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

แต่วันนี้พรรคพลังประชารัฐไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ทั้งกระแสของพรรคที่ตกต่ำ และความเบื่อหน่ายของประชาชนที่พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจมายาวนานกว่า 8 ปี

ข่าวการย้ายพรรคของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหนือคาดหมาย แม้ต่อมาหลายคนออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง รวมทั้งแกนนำกลุ่มสามมิตรอย่างสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจและสมศักดิ์ เทพสุทิน ก็ออกมาการันตีว่าไม่หนีไปไหน แถมยังบอกว่าสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

แต่หากพล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อจากวาระที่เหลืออยู่เพียง 2 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องเสนอชื่อคนอื่นพ่วงด้วยคำถามว่าจะเป็นใคร เป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคไหม เพราะต้องยอมรับว่า 30 กว่าวันที่พล.อ.ประวิตร รักษาการนายกรัฐมนตรีนั้น เขาแสดงบทบาททดลองงานได้เป็นอย่างดี

แต่พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้ป็อปปูลาร์ในสายตาของประชาชนไม่มีแรงดึงดูดมากพอที่จะทำให้ประชาชนกลุ่มที่ไม่ใช่ฮาร์ดคอร์มาลงคะแนนให้ได้ แต่จะมีใครคนอื่นอีกไหมในฝั่งนี้ที่ได้รับความนิยมบอกตรงๆ ว่าขณะนี้ยังมองไม่เห็นตัว

การเลือกตั้งครั้งที่แล้วพรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายอุตตม สาวนายน ร่วมด้วยแต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอม แต่ต่างกันครั้งนี้เป็นภาคบังคับว่าจะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์คนเดียวคงจะไม่ได้ต้องเสนอชื่อคนอื่นพ่วงด้วย เพื่อจะได้สืบทอดเมื่อพล.อ.ประยุทธ์อยู่ครบ 8 ปีตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญในปี 2568 และครบ 10 ปีตามความเป็นจริงหากได้ไปต่อในสมัยหน้า

แต่มีคำถามว่าวันนี้กระแสของพล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมือนเดิมแล้ว จะเป็นแรงดึงดูดให้สมาชิกในพรรคยังอยู่กับพรรคต่อไปได้ไหม เมื่อมองเห็นว่าพรรคไม่ได้เปรียบเหมือนเดิมและมีแนวโน้มที่จะแพ้มากกว่าชนะ ส.ส.พื้นที่ที่น่าจะมีความหวั่นใจมากที่สุดก็คือ ส.ส.กทม.ของพรรค เพราะต้องยอมรับว่า การได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในรอบที่แล้วนั้นส่วนหนึ่งเพราะกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ แต่จากการเลือก ส.ก.นั้นก็พิสูจน์แล้วว่า วันนี้คนกรุงส่วนใหญ่เทเสียงไปให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล

แล้วถ้าคนที่ถูกเสนอชื่อของพรรคพลังประชารัฐเป็นพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรจริงๆ ถามว่านี่เป็นตัวเลือกที่สอดรับกับกระแสและทิศทางของสังคมหรือ

วันนี้นอกจากพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพลังของฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังถดถอยแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลอื่นอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ในภาวะของขาลง แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยถูกมองว่าจะเป็นพรรคที่จะแย่งเสียงกับพรรคเพื่อไทยในภาคอีสาน แต่ล่าสุดนิด้าโพลบอกว่าพรรคที่คนอีสานมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต ในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 54.35 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 13.60 ระบุว่าเป็นพรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 8.50 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 4 เพียงร้อยละ 5.60 ระบุว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย

แม้ว่ามวลชนฝั่งอนุรักษ์จะไม่สวิงไปเลือกพรรคฝั่งตรงข้ามหรือพรรคฝั่งที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่ต้องยอมรับนะว่า มวลชนฝั่งอนุรักษ์ไม่ได้มีมากกว่ามวลชนอีกฝั่งที่จะทำให้ชนะเลือกตั้งได้ ต้องอาศัยมวลชนกลางๆ ที่เป็นพวกสวิงโหวตด้วย แต่จากผล ส.ก.ใน กทม.และจากโพลหลายสำนักบ่งชี้ว่าครั้งหน้ากระแสของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลมาแรงมาก แม้การเลือกตั้ง ส.ก.จะเป็นการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น แต่มันก็สะท้อนชัดเจนว่าคนจำนวนหนึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงขั้วการเมือง

ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งหน้ามีเดิมพันที่ท้าทายต่อสิ่งที่เรียกว่าระบอบรัฐอยู่ด้วย วันนี้กำลังถูกทดสอบด้วยพรรคของคนรุ่นใหม่อย่างพรรคก้าวไกลที่สอดรับกับการเคลื่อนไหวบนท้องถนนที่ท้าทายต่อความมั่นคงของรัฐและอนาคตของประเทศ ซึ่งมีคำถามว่า หากพรรคก้าวไกลขึ้นมาเป็นฝ่ายรัฐบาลพวกเขาจะแสดงออกถึงอุดมการณ์ที่ท้าทายต่อระบอบของรัฐออกมาอย่างไร และฝ่ายความมั่นคงจะยอมรับได้ไหม

ขณะเดียวกันความถดถอยของฝ่ายอนุรักษนิยมก็มาจากการอยู่ในตำแหน่งอย่างยาวนานของพล.อ.ประยุทธ์ด้วย เพราะ 8 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากกว่าการอยู่เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง และโชคร้ายที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดและสงครามที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นทั่วโลกแต่มันก็พิสูจน์ถึงศักยภาพและความสามารถของพล.อ.ประยุทธ์ด้วย

ความหวังของฝ่ายอนุรักษนิยมตอนนี้คือพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้จะยังผนึกกำลังอย่างเหนียวแน่นและสามารถรวบรวม ส.ส.ได้เกิน 250 คนหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า ณ ตอนนี้สถานการณ์ของฝั่งนี้ตกเป็นรอง หรือฝากความหวังไว้กับทักษิณว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเขาจะดึงพรรคก้าวไกลมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งจะพิสูจน์จุดยืนของทักษิณต่อระบอบของรัฐด้วย

แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าฝ่ายอนุรักษนิยมที่กำลังถดถอยอาจจะยังสามารถชะลอกระแสคลื่นของการเปลี่ยนแปลงไว้ได้ แต่อนาคตของประเทศไทยต่อจากนั้นก็เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่อยู่กับความไม่แน่นอน

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น