xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งบราซิล...กับ “โลกหลายขั้วอำนาจ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท


ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล - ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา อดีตประธานาธิบดีบราซิล
เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องขออนุญาตแวะไปแถวๆ ละตินอเมริกา แถวๆประเทศบราซิลน่าจะเข้าท่ากว่า การหนุบหนับ นัวเนีย อยู่กับเรื่องยูเครน เรื่องอียู-อีย้วย ที่ยังหา “จุดลงตัว”แทบไม่เจอ อีกทั้งช่วงประมาณสัปดาห์หน้า หรือช่วงวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคมที่จะถึงนี้ การเลือกตั้ง “รอบสุดท้าย”ว่าใครจะเป็นผู้นำ เป็นประธานาธิบดีประเทศนี้ ก็คงได้เวลาวัดตัดสิน ได้เวลาชี้ขาด ให้รู้แล้ว-รู้แรด กันไปซะที...

คืออันที่จริง...เลือกตั้งรอบแรก ก็เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาฯ หรือวันที่ 2 ตุลาคมมาแล้ว เพียงแต่ว่าโดย “สัดส่วนคะแนน”ยังถือว่าไม่ถึงกับ “แพ้ขาด-ชนะขาด” หรือตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย (Workers’ Party-PT) อย่างอดีตประธานาธิบดี 2 สมัยที่ถูกกลั่น ถูกแกล้ง จนต้อง “ติดคุกหัวโต”มาก่อนหน้านี้ “นายลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา” (Luiz Inacio Lula da Silva) ที่โดย “ผลโพล”ก่อนการเลือกตั้ง ว่ากันว่าน่าจะมาแรงแซงโค้ง ทิ้งห่างคู่แข่ง อย่างประธานาธิบดีคนปัจจุบัน “นายฌาอีร์ โบลโซนารู” (Jair Bolsonaro) ตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายขวา (Liberal Party-PL) ที่ค่อนข้างเอียงไปทางคุณพ่ออเมริกาโดยเฉพาะยุค “ทรัมป์บ้า”จนเคยได้ชื่อ ฉายา ว่า “ทรัมป์ 2” หรือ“ทรัมป์แห่งละตินอเมริกา”อะไรทำนองนั้น ถึงประมาณ 14 จุด 14 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน แต่พอ “เข้าคูหา-กาบัตร”เข้าจริงๆ คะแนนเลือกตั้งของ “ลูลา” กลับทิ้งห่างจาก “นายโบลโซนารู” เพียงแค่ 5 จุด หรือ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือระหว่าง 48.4 เปอร์เซ็นต์ กับ 43.2 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญคือต่างไม่ได้คะแนนเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ตามมาตรฐานการเมืองของบราซิลเขา เลยมีอันต้องหันมาเลือกตั้งใหม่ หรือเลือกกันในรอบสุดท้าย รอบตัดเชือก รอบไฟนอล ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้...

ส่วนใครจะแพ้-ใครจะชนะในโค้งวัดเบญฯ โค้งสุดท้าย ก็คงต้องคอยติดตามกันต่อไป แต่ที่ออกจะน่าจับตา น่าติดตามมิใช่น้อย ก็น่าจะเป็นอย่างที่นักเขียน นักข่าว และคอลัมนิสต์ชาวอเมริกัน อย่าง “นายBradley Blankenship” เขาได้ชี้แนะ ชี้นำ ไว้ในข้อเขียน บทความ ชิ้นล่าสุด ว่าด้วยเรื่อง “What Brazil’s ongoing presidential election means for Latin America and the world” นั่นแหละ คือถือเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้มีความหมายแต่เพียงแค่ภูมิภาคละตินอเมริกาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงโลกทั้งโลกอีกด้วย เพราะความแตกต่างระหว่างอดีตประธานาธิบดี “ลูลา”กับประธานาธิบดีปัจจุบัน อย่าง “นายโบลโซนารู” คงไม่ใช่แค่ฉลาก แค่ยี่ห้อ แห่งความเป็น “ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา” เท่านั้น แต่โดยพฤติกรรมหรือโดยแนวนโยบาย ยังออกจะผิดแผกแตกต่างแบบคนละเรื่อง-คนละม้วน โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ อย่างเช่นเรื่อง “ผืนป่าอะเมซอน”ที่ถือเป็น “เครื่องปรับอากาศ”ของโลกทั้งโลกก็ว่าได้ ขณะที่นักการเมืองฝ่ายซ้ายอย่าง “นายลูลา”มุ่งอนุรักษ์รักษาเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่สำหรับนักการเมืองฝ่ายขวา อย่าง “นายโบลโซนารู”เห็นว่าควรนำมาทำประโยชน์ ทำกำไรทางการค้าน่าจะเข้าท่ากว่า ส่งผลให้เกิดการตัดไม้ ทำลายป่า ในช่วงที่ตัวเองเป็นประธานาธิบดีสูงกว่ายุค “นายลูลา”ถึง 57 เปอร์เซ็นต์ เอาเลยถึงขั้นนั้น!!!

หรือเรื่องการคบหากับประมุขโลกอย่างคุณพ่ออเมริกา ที่ถือว่าภูมิภาคละตินอเมริกาทั้งแถบ เป็นแค่ “สวนหลังบ้าน”ของตัวเองเท่านั้น ส่งผลให้ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน อย่าง “นายโบลโซนารู” ที่พยายามอี๋ๆ อ๋อๆ กับอเมริกามาตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีเพียงแค่ชื่อ ฉายา ว่า “ทรัมป์บ้า 2” เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้มีส่วนสำคัญไม่มาก-ก็น้อย ในการสร้างแรงกดดันให้กับผู้ที่ตั้งตัวเป็น “ปฏิปักษ์” กับอเมริกา อย่างเช่นผู้นำเวเนซุเอลา “นายนิโคลัส มาดูโร”จนหวิดๆ ไปไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี มาแล้วหลายครั้ง ขณะที่นักการเมืองฝ่ายซ้ายอย่าง “นายลูลา” นั้น กลับถือเป็น “กระดูกชิ้นโต”ของคุณพ่ออเมริกา ที่ต้องหาทางโค่นล้ม หาทางยัดเยียดข้อหาให้อดีตผู้นำรายนี้ต้องติดคุกหัวโตจนได้ การหวนกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งของ “นายลูลา” จึงไม่เพียงแต่ถือเป็นชัยชนะของพวกฝ่ายซ้ายในละตินอเมริกา ที่นับวันจะมาแรงแซงโค้ง ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าชัยชนะของผู้นำโบลิเวีย “นายLuis Arce”ในการขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ. 2020 ชัยชนะของ “นายGabriel Boric” ที่ผงาดขึ้นเป็นประธานาธิบดีชิลี เมื่อปี ค.ศ. 2021 และที่สำคัญเอามากๆ ก็คือชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของ “นางGustavo Petro”ที่ผงาดขึ้นเป็นผู้นำโคลอมเบีย ประเทศที่เคยถูกครอบงำโดยอเมริกามาโดยตลอด เมื่อปี ค.ศ. 2022 หรือเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง ฯลฯ อันอาจถือเป็นโฉมหน้าใหม่ของภูมิภาคละตินอเมริกา ที่ไม่น่าจะเป็นแค่ “สวนหลังบ้าน”ของอเมริกาอีกต่อไปแล้ว...

ยิ่งไปกว่านั้น...ชัยชนะของ “นายลูลา”ยังอาจเป็นตัวช่วยกระตุ้นความกระปรี้กระเปร่าของกลุ่มประเทศที่เรียกตัวเองว่า “BRICS”ซึ่งตัวเองมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งมาตั้งแต่แรก หรือตั้งแต่ยังเป็นแค่ “BRIC”เป็นแค่บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ยังไม่ได้มี “ตัว S”หรือประเทศแอฟริกาใต้ต่อท้าย อันถือเป็น “ทางเลือก”ที่สำคัญเอามากๆ ของบรรดาประเทศต่างๆ ทั้งหลายในโลก ที่หวังเป็นอิสระจากการครอบงำโดยเบ็ดเสร็จของโลกตะวันตก หรือของคุณพ่ออเมริกา ที่อาศัยองค์กรโลกบาลต่างๆ อาศัยระบบการเงิน-การทองเป็นเครื่องมือ ในการหันซ้าย-หันขวาโลกทั้งโลกมาโดยตลอด รวมทั้งการ “แซงชั่น” ประเทศต่างๆ อย่างเช่นประเทศหมีขาวรัสเซียอยู่จนทุกวันนี้ หรืออาจช่วยให้กลุ่มประเทศ “BRICS”มีศักยภาพพอที่จะเป็น“เบ้าหลอม”ให้กับสิ่งที่เรียกว่า “ระเบียบโลกแบบใหม่” ไม่ต่างไปจากกลุ่มประเทศ“SCO” (Shanghai Cooperation Agreement) ฯลฯ อะไรทำนองนั้น...

ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้...ในการเลือกตั้งผู้นำประเทศบราซิลอีกไม่กี่วันนับจากนี้ จึงมีส่วนสำคัญอย่างแยกไม่ออกไปจากความเป็นไปของโลกทั้งโลกอย่างมิอาจปฏิเสธ ยิ่งโดยเฉพาะในโลกที่กำลังเกิดการแบ่งขั้ว แบ่งฝ่าย การแยกข้าง แยกฝ่าย ชัดเจนยิ่งเข้าไปทุกที ชัยชนะของ “ฝ่ายซ้าย”ในภูมิภาคละตินอเมริกา จึงเป็นอะไรที่แทบไม่ต่างไปจากชัยชนะของพวก “ฝ่ายขวา” ในยุโรป ที่ทำท่าว่าชักจะมาแรงแซงโค้งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าในฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน ฯลฯ หรือล่าสุดชัยชนะของ “นางGiorgia Meloni” แห่งพรรคแนวร่วมฝ่ายขวา “Brother of Italy”ในอิตาลี ที่ถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เพราะแม้ว่าต่างฝ่ายต่างจะผิดแผกแตกต่างกันในแง่ “แนวคิด” หรือ “ทฤษฎี” แต่สิ่งที่มี “จุดร่วม” เหมือนกัน ก็คือการปฏิเสธ คัดค้าน ต่อความพยายามครอบงำ ควบคุม และบงการโลกทั้งโลก หรือความพยายามดำรงรักษา ความเป็น “ประมุขโลก”ของคุณพ่ออเมริกา การอาศัย “โลกาภิวัตน์จากด้านบน”หรือโลกาภิวัตน์ที่มีทุนนิยมเสรีเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ใช่ “โลกาภิวัตน์จากด้านล่าง”หรือโลกาภิวัตน์ที่มีปวงชนในประเทศต่างๆ เป็นศูนย์กลาง เป็นตัวหลอมรวมให้เกิดการ “อยู่ร่วมกันโดยสันติ” ของแต่ละประเทศบนโลกใบนี้ ไม่ว่าแต่ละประเทศจะผิดแผกแตกต่าง หรือจะมี “ลักษณะพิเศษ”ออกไปในแนวไหนก็ตามที...

และถ้า “มองจากมุมสูง”หรือ “มองแบบป่าทั้งป่า” แล้ว...ไม่ว่าชัยชนะของพวกฝ่ายซ้ายในละตินอเมริกาพวกฝ่ายขวาในยุโรป ไปจนพวกที่ชักจะเริ่มไม่ “แคร์แดม” กับอำนาจ-อิทธิพลของคุณพ่ออเมริกา อย่างกลุ่มประเทศอ่าว (GCC) หรือประเทศ “OPEC”ในตะวันออกกลางที่นำโดยอภิมหาเศรษฐีน้ำมันอย่างราชอาณาจักรซาอุฯ และเพิ่งตัดสินใจลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงไปถึงวันละ 2 ล้านบาร์เรล โดยไม่ได้สนใจคำขอร้อง วิงวอนของคุณพ่ออเมริกาเอาเลยแม้แต่นิด ยิ่งน่าจะมองเห็นความเป็นไปของโลกทั้งโลกว่ากำลังจะ “ไหล” ไปในทิศทางไหน???

ด้วยเหตุนี้...แม้จะมีการลงมติ “ประณามรัสเซีย” ในสหประชาชาติคราวล่าสุด อันเนื่องมาจากการผนวกดินแดนยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “รัสเซียใหม่” ไปเมื่อวัน-สองวันนี้ ด้วยคะแนนเสียงถึง 143 เสียงจาก 193 ประเทศ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ “พิธีการ” (Ceremony) ไม่ใช่ “กระบวนการ” (Process) แต่อย่างใด และย่อมถือเป็นเรื่องถูกต้อง ชอบธรรม ยิ่งแล้ว สำหรับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา ที่ให้เหตุผลและคำอธิบายอย่างมีน้ำหนัก ถึงการตัดสินใจ “งดออกเสียง”เช่นเดียวกับอีก 35 ประเทศ ว่าการประณามรัสเซียนั้น ไม่ได้ช่วยให้เกิดทางออก-ทางไป เกิดการแก้ปัญหา การหาจุดลงตัวในการ “อยู่ร่วมกันโดยสันติ”ของประเทศต่างๆ ในโลกนี้เอาเลยแม้แต่น้อย มีแต่จะยิ่งนำไปสู่ทางอับ-ทางตันระดับถึงขั้นสิ้นยุค-สิ้นโลกเอาง่ายๆ อันเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาเอาเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะสำหรับประเทศเล็กๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่อยากเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใดๆ ด้วยเลย ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อกระแสโลก ความเป็นไปของโลก ยิ่งทำท่าว่าจะไหลไปสู่ความปรารถนาและต้องการที่จะเป็นอิสระ การให้ความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ หรือไหลไปสู่ความเป็น “โลกหลายขั้วอำนาจ”อย่างเห็นได้ชัดเจนยิ่งเข้าไปทุกที...




กำลังโหลดความคิดเห็น