รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 22 กันยายน 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 342,079 คน ตายเพิ่ม 907 คน รวมแล้วติดไป 618,386,136 คน เสียชีวิตรวม 6,534,535 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 19 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.46 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 70.89
สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 7 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
อัพเดตความรู้โควิด-19
1. สัดส่วนสายพันธุ์ที่ระบาด
องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อคืนนี้ 21 กันยายน 2565
Omicron สายพันธุ์ BA.5 (และลูกหลาน) ยังครองการระบาด 76.6%, BA.4 (และลูกหลาน) 7.5%
ในขณะที่สายพันธุ์ย่อยที่กำลังเป็นที่จับตามองคือ BA.2.75 นั้นเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ปัจจุบันพบ 1.26% โดยมีประเทศที่ตรวจพบแล้ว 48 ประเทศทั่วโลก
ความสำคัญ
ทั้งนี้ไวรัสที่กลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นนั้นมักพัฒนาสมรรถนะการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน การแพร่เชื้อ การจับกับตัวรับที่เซลล์เป้าหมาย และ/หรือนำไปสู่การป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ หากมองไปในอนาคต ภูมิจากวัคซีนที่ฉีดจะลดลงตามกาลเวลา หากนโยบายและสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตประจำวันมีการเดินทาง พบปะกันมาก คนติดเชื้อไม่ได้แยกตัวจากคนอื่น ความใส่ใจสุขภาพและการป้องกันตัวเองของประชาชนแต่ละคนจะกลายเป็นปัจจัยเดียวที่เหลืออยู่ และมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
เพราะสุดท้ายแล้ว จะเกิดปัญหาติดเชื้อ ป่วย ตาย และ Long COVID ตามมาอย่างแน่นอน จะมากน้อยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนในสังคม แต่ผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นนั้นจะมีทั้งเรื่องความสูญเสียด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ไม่ว่าจะต่อตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว และประเทศ
2. การดูแลรักษา Long COVID
การศึกษาของทีมงานมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย Long COVID ที่มีอาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าและมีปัญหาด้านความคิดความจำ โดยใช้วิธีฟื้นฟูสภาพร่างกายผ่านการจัดโปรแกรมอาหารและออกำลังกายนั้น หลังดำเนินการศึกษามา 3 เดือนแล้ว พบว่าไม่ได้ผล จึงจำเป็นต้องทำการศึกษากลไกการเกิดปัญหา เพื่อหาแนวทางอื่นในการรักษา
ทั้งนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องหาทางปรับตัวที่จะดำเนินชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับอาการป่วยของตน เช่น การทำกิจกรรมที่พอจะทำได้เท่าที่จำเป็น
3. กระบวนการอักเสบสัมพันธ์กับภาวะ Long COVID
ทีมงานจากประเทศแอฟริกาใต้ เผยแพร่ผลการศึกษา พบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID นั้นจะตรวจพบสารเคมีในเลือดที่บ่งถึงกระบวนการอักเสบ และส่งผลให้เกิดความผิดปกติของกลไกการละลายลิ่มเลือด
ทีมวิจัยคาดว่า การเกิดพยาธิสภาพเหล่านี้น่าจะนำไปสู่ปัญหาการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย จนนำมาสู่อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย Long COVID
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
อัตตาหิ...อัตตโน...นาโถ
อ้างอิง
1. WHO Weekly Epidemiological Update. 21 September 2022.
2. Owens B et al. How “long covid” is shedding light on postviral syndromes. BMJ. 21 September 2022.
3. Kruger A et al. Proteomics of fibrin amyloid microclots in long COVID/post-acute sequelae of COVID-19 (PASC) shows many entrapped pro-inflammatory molecules that may also contribute to a failed fibrinolytic system. Cardiovascular Diabetology. 21 September 2022.