การประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้เริ่มขึ้นแล้วขณะนี้ และวาระที่ผู้นำของประเทศสมาชิกต่างทยอยนำเสนอต่อที่ประชุมกำลังถูกจับจ้อง ซึ่งประเทศใหญ่ๆ ต่างพูดถึงเรื่องสงครามยูเครน, วิกฤตพลังงาน, วิกฤตอาหารคน, อาหารสัตว์, อาหารพืช รวมทั้งต่างใช้อุปกรณ์จากวัตถุดิบสำคัญๆ รวมทั้งอุปกรณ์ในการผลิตต่างๆ ที่ยังเป็นปัญหาที่ยิ่งทวีความรุนแรง ซึ่งได้เริ่มขึ้นตั้งแต่การเริ่มล็อกดาวน์ช่วงโควิด จนเลยมาถึงช่วงสงครามยูเครน...รวมถึงปัญหาสินค้าข้าวของราคายังแพงหูฉี่ มาผสมกับนโยบายการปราบเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของทั้งโลก...
สำหรับเลขาธิการยูเอ็น อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส จากพรรคพลังสังคมนิยม นายกูเตอร์เรส ได้ออกมาตีแสกหน้าท้าทายเหล่าผู้นำประเทศสมาชิก ซึ่งเขาเน้นย้ำปัญหาสำคัญที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ และดูเหมือนจะถูกละเลยเสียแล้วในช่วงที่พลังงานและวัตถุดิบต่างๆ กำลังราคาสูงลิ่ว
นั่นก็คือ ปัญหาภาวะอากาศรวนเรสุดๆ จากโลกร้อน ซึ่งเชื่อมโยงกับภาวะราคาพลังงานและวัตถุดิบกำลังราคาแพงสุดๆ จาก Supply Disruption ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสงครามยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซีย แต่อีกส่วนหนึ่งคือ สงครามการค้าที่ยังดำรงอยู่ในระดับสูง
แต่ครั้งนี้ เขายังเน้นในความตะกละตะกลามของบริษัทยักษ์เจ้าของพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นแบบฟอสซิลหรือแบบไม่ฟอสซิล (หมุนเวียน) ก็ตาม
เขายกเอาคำพูดรุนแรงที่เขาเคยใช้เมื่อกลางสิงหาคมมาตีแสกหน้าบริษัทพลังงานที่กำลังโกยกำไรมหาศาล...อีกครั้งหนึ่งคือ “Grotesque Growth” หรือบริษัทพลังงานที่กำลังมีกำไรและเติบโต...แบบน่ารังเกียจ...แบบน่าสะอิดสะเอียน...ท่ามกลางความอดอยากยากแค้นของประชาชน ที่ประสบภัยพิบัติจากความสุดขั้วของสภาพอากาศในดินแดนต่างๆ ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือยังไม่พัฒนา
ที่ไม่มีก๊าซหุงต้มทำอาหาร เพราะราคาก๊าซแพงมากจนไม่มีปัญญาซื้อ (เช่นในศรีลังกา และหลายประเทศในแอฟริกา)
รวมทั้งประชาชนในเขตอากาศหนาวเช่นในยุโรปหรือในอเมริกาใต้ ที่กำลังจะต้องเลือกระหว่าง Eating หรือ Heating เพราะมีเงินจำกัด ต้องเลือกจะซื้ออาหารมากินหรือจะซื้อ (หยอดเหรียญ) พลังงานมาทำความอบอุ่นในที่อยู่อาศัย
เลขาฯ กูเตอร์เรส เพิ่งเดินทางกลับมาจากปากีสถาน ที่เขาได้เห็นความพินาศย่อยยับในดินแดนที่เจอทั้งน้ำท่วมดินถล่ม และผู้คนยากไร้ต้องเสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมที่เกิดจากการรวนเรของธรรมชาติที่มาจากสาเหตุของภาวะคาร์บอนที่มนุษย์ในประเทศที่มั่งคั่งได้ปล่อยเข้าสู่บรรยากาศ ในการสร้างความมั่งคั่งแก่ประเทศพัฒนาแล้ว และยังชักช้าในการเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลมาใช้พลังงานหมุนเวียนเช่น ดวงอาทิตย์, กระแสลม เป็นต้น เขาบอกว่า ขณะนี้บริษัทพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานจากฟอสซิลกำลังชนแก้วเฉลิมฉลองจากการยังได้รับความช่วยเหลืออุดหนุนจากรัฐบาล ที่ให้เดินหน้าใช้พลังงานทำลายโลกนี้ต่อไป ยิ่งราคาพลังงานโดยเฉลี่ยราคาแพงขึ้น รัฐบาลหลายรัฐบาล (ในประเทศมั่งคั่ง) ก็หยุดพักการเดินหน้าเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน ตรงข้ามกลับเปลี่ยนแผน โดยชะลอจากข้อตกลง COP26 เพื่อลดการใช้พลังงานจากคาร์บอน แต่กลับไปเปิดเหมืองถ่านหิน และขุดน้ำมันต่อไป (ประเทศอังกฤษ โดยรัฐบาลชุดใหม่ตกลงจะเลิกคว่ำบาตร Fracking Oil ซึ่งได้เคยประกาศห้ามเอาไว้ เพราะในยามหน้ามืดก็ต้องเดินหน้าเปิดบ่อน้ำมันให้มากขึ้น ขนาดจะอุดหนุนกันเลยทีเดียว!!)
เขาสนับสนุนให้มีการเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Profit Tax) เพื่อเก็บจากบริษัทพลังงาน (น้ำมัน, ถ่านหิน, แก๊ส เป็นต้น) ที่นั่งอยู่เฉยๆ ราคาพลังงานก็ขึ้นเอาๆ โดยไม่ใช่ได้กำไรมาจากการบริหารงานเก่งกาจทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะโชคช่วยเกิดภาวะลาภลอยมา ทำให้กำไรอู้ฟู่อย่างน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง
ในลิสต์นักธุรกิจร่ำรวยของโลก (และของไทย) ขณะนี้ มีเจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทพลังงานวิ่งแซงหน้าธุรกิจอื่นๆ มาอยู่แถวแนวหน้า รวมทั้งบริษัทผลิตไฟฟ้าด้วย! ทั้งๆ ที่กำไรมหาศาลไม่ได้มาจากฝีมือการบริหารที่เก่งฉกาจ แต่เป็นความตะกละตะกลามอย่างน่าสะอิดสะเอียน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดให้บริษัทเหล่านี้ทำกับประชาชนเพื่อนร่วมชาติของตนได้ลงคอ
เขายังเสนอว่า จะต้องมีการเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับบริษัทพลังงานที่ได้ลาภลอยเช่นนี้แล้วนำเงินมาทำ 2 เรื่องคือ
หนึ่ง ช่วยเหลือประเทศ (กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่ยากจน) เช่นที่ปากีสถานกำลังประสบภัยพิบัติรุนแรง เพื่อบูรณะซ่อมแซมโยกย้ายประชากรหรือดูแลสร้างอาชีพแก่กลุ่มชนที่ต้องอพยพหนีจากสภาพอลหม่านจากโลกร้อน
สอง ช่วยเหลือด้านอาหาร, ยารักษาโรค และพลังงานที่ทำให้เกิดความอบอุ่น จากการที่ประเทศมั่งคั่งได้เป็นตัวการสร้างปัญหาโลกร้อนจนโลกรวนไปหมด
การช่วยเหลือประเทศยากจนที่กำลังรับเคราะห์จากฝีมือของประเทศมั่งคั่ง ที่ได้พัฒนาล่วงหน้าไปก่อน และสร้างปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างมหาศาลขณะนี้
ไม่ว่าจะเป็นการให้ความอบอุ่นแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุโลกร้อน ในประเทศที่หนาวเหน็บหรือการช่วยประชาชนที่กำลังเผชิญกับความร้อนที่กำลังทำลายสถิติกันหลายหย่อมหญ้าจนเกิดภาวะไฟป่า พร้อมๆ กับในหลายจุดทั่วโลก (เช่นที่จีน, ยุโรป, อเมริกาใต้ เป็นต้น)
ภาษีลาภลอยจำเป็นเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้มีรายได้น้อย ที่กำลังเผชิญกับปัญหาอุทกภัย, น้ำท่วม หรือแห้งแล้งอย่างไม่เคยประสบมาก่อน; รวมทั้งไฟป่าที่ตกเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องให้การช่วยเหลือ ขณะที่บริษัทพลังงานที่เป็นตัวปัญหากลับลอยนวล