xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยที่เหนือคาดหวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ 250 ส.ว.จะมีโอกาสเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. แต่ผมคิดว่าเสียง 250 ส.ว.ไม่น่าจะมีความหมายอะไร เพราะสุดท้ายแล้วชี้ขาดกันว่า ฝ่ายไหนจะรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 คนก่อนกัน

และหากฝ่ายค้านตอนนี้สามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 คน ก็เชื่อว่า 250 ส.ส.ก็ไม่น่าจะขัดขืนไปเลือกฝ่ายที่มีเสียงข้างน้อยในสภาฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะแม้ว่าจะได้เสียงเกินครึ่งของ 2 สภาฯ คือ 376 คน แต่เมื่อไม่มีเสียง ส.ส.เกินครึ่งก็ไม่อาจบริหารบ้านเมืองได้

ดังนั้น ส.ว. 250 คนไม่มีความหมายอีกต่อไป และอีกเพียงปีเดียวหลังจากนั้นก็จะหมดวาระของ 250 ส.ว. จากนั้นรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 จะให้ไปเลือกตั้ง ส.ว. 200 คนตามกลุ่มวิชาชีพ ดังนั้นการหาเสียงเพื่อปิดสวิตช์ 250 ส.ว.ก็ไม่มีความหมายอะไรเพียงแต่ทำให้พรรคที่ใช้เรื่องนี้หาเสียงดูเท่เท่านั้นเอง เพราะสุดท้ายแล้ว 250 ส.ว.ก็ต้องปิดสวิตช์ตัวเองอยู่ดี

ในครั้งที่แล้วแม้ว่า 250 ส.ว.ตั้งธงไว้แล้วว่าจะเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 คน แม้ 250 ส.ว.จะเลือกพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถบริหารงานได้ แต่นั่นก็ต้องยอมรับว่า เพราะ 250 ส.ว.ตั้งธงอยู่แล้วว่า จะเลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ทำให้พรรคเพื่อไทยแม้จะได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ก็ไม่มีพรรคไหนไปร่วมจับมือตั้งรัฐบาลด้วย จึงเป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อพรรคพลังประชารัฐไปโดยปริยาย

และเมื่อพิจารณาจากตัวเลขในมือของ 2 ฟากฝั่งทางการเมืองก็ทำให้อ้างได้ว่าเพราะพรรคฝั่งอนุรักษนิยมนั้นสามารถรวบรวม ส.ส.ได้มากกว่า พรรคฝั่งที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ดังนั้นในครั้งหน้าถ้าพรรคฝั่งที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะตั้งรัฐบาลเพื่อฝ่า 250 เสียง ส.ว.ให้ได้ก็จะต้องรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้เกิน 250 คนนั่นเอง

ตอนนี้โพลส่วนใหญ่นั้นต่างเชื่อมั่นว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง ซึ่งคงจะเป็นเช่นนั้น แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเท่าไหร่และจะรวบรวม ส.ส.ทั้งจากพรรคตัวเองพรรคเดียวหรือรวบรวม ส.ส.ในฝั่งเดียวกันได้เกินครึ่งหรือไม่นั่นแหละ

จากผลโพลทำให้ดูเหมือนว่า พรรคฝั่งรัฐบาลตอนนี้หรือฝ่ายที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมจะดูเป็นรอง ทั้งความแตกแยกในพรรคเดียวกันอย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกันว่าครั้งหน้าถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่าครั้งนี้ก็ต้องถือว่าเก่งมากแล้ว มีเพียงพรรคภูมิใจไทยของเนวิน ชิดชอบเท่านั้นที่ดูพอจะมีภาษีว่าน่าจะได้จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เป็นที่ทราบกันว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้นพรรคพลังประชารัฐนั้นได้เปรียบทั้งการถือครองอำนาจรัฐ เพราะเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช.และกระแสฟีเวอร์ของพล.อ.ประยุทธ์ที่มวลชนฝั่งอนุรักษนิยมต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปพล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะอยู่ในสมการการเลือกตั้งแล้วด้วยเงื่อนไขของ 8 ปี หรือถ้าสุดท้ายพลิกความคาดหมายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก 4 ปี (ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก) ก็ต้องยอมรับว่ากระแสฟีเวอร์ของพล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมือนเก่าแล้ว

สิ่งที่เป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็คือกระแสคนกลางๆ ที่เลือกพล.อ.ประยุทธ์ เพราะเคลิ้มกับความเชื่อที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำให้บ้านเมืองสงบเหมือน 5 ปีที่อยู่ใต้ คสช. แต่สุดท้ายไม่เป็นความจริง เพราะสถานภาพรัฐบาลภายใต้การเลือกตั้งกับภายใต้ คสช.ไม่เหมือนกัน ทำให้มีม็อบออกมาบนถนนจำนวนมาก และสุดท้ายบานปลายเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อเราไปพิจารณามวลชนของทั้งสองฝั่งคือฝ่ายอนุรักษนิยมและฝั่งที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะพบว่าทั้งสองฝ่ายมีมวลชนที่ไม่แตกต่างกันนัก ดังนั้นหากคนกลางๆ เทไปฝั่งไหนฝั่งนั้นก็จะเป็นฝ่ายชนะในทันที

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้ฝ่ายที่ได้เปรียบก็คือ ฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรือพรรคร่วมฝ่ายค้านเพราะคนจำนวนมากเริ่มเบื่อหน่ายรัฐบาลที่อยู่ภายใต้อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ที่ต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 8 ปี และคนจำนวนหนึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลงในสภาวะของเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปรอบด้าน แม้ว่าจะส่งผลมาจากการระบาดของโควิดหรือสงครามก็ตาม แต่คนจำนวนหนึ่งก็ต้องการคนที่เป็นมืออาชีพที่มีความรู้ทางเศรษฐกิจจริงเข้ามาบริหารประเทศ

จากผลโพลที่ออกมาในช่วงนี้ที่พอจะมีความน่าเชื่อถืออย่างนิด้าโพลก็น่าจะชี้ชัดแล้วว่า คนส่วนหนึ่งได้ตัดสินใจแล้ว คะแนนนิยมของพรรคร่วมฝ่ายค้านตอนนี้หรือฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจึงมีคะแนนนิยมนำหน้าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายอนุรักษนิยมทั้งตัวบุคคลและพรรค

อย่างไรก็ตาม ยังไม่น่าเชื่อนักว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคเดียวที่ได้เสียงข้างมากเกินครึ่งแบบแลนด์สไลด์อย่างที่คาดหวังกัน แม้ว่าตอนนี้ตระกูลชินวัตรถึงกับเชื่อมั่นมากว่าจะได้รับชัยชนะแบบถล่มทลาย ดังนั้นสุดท้ายจึงกลับไปเหมือนการเลือกครั้งที่แล้วว่าฝ่ายไหนจะรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 ก่อนกัน

หากให้ชี้ขาดตอนนี้ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร ฝ่ายไหนจะได้รับชัยชนะก็ต้องตอบว่า อาจมีความเป็นไปได้ทุกทาง

ในทางการเมืองไทยนั้นปัจจัยชี้ขาดทางการเมืองไม่ใช่มาจากภาพและข้อมูลที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้า แต่มีปัจจัยนอกเหนือความคาดหมายที่เราไม่อาจจะปฏิเสธได้ที่จะชี้ขาดให้ฝ่ายไหนเป็นรัฐบาล เพราะสุดท้ายแล้วพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้อาจจะจับมือกันอย่างเหนียวแน่น และสามารถรวบรวมเสียงได้เกินครึ่งหนึ่งอีกครั้ง หรือบีบให้พรรคเล็กจากฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมาร่วมกับฝั่งนี้ก็อาจจะเป็นได้

หรือว่าในครั้งหน้าหากว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลสามารถจับมือกันแล้วได้ ส.ส.เกิน 250 คน ก็ไม่แน่นักว่าจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ เพราะต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกลนั้นเป็นพรรคที่ท้าทายต่อระบอบของประเทศและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นสุดท้ายแล้วพรรคเพื่อไทยอาจจะต้องหันไปจับมือกับพรรคที่เป็นฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ด้วยเหตุผลที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ผมเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งหน้ายังคงเล่นอยู่กับพรรคการเมืองหลักๆ ตอนนี้คือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเล็กๆ อื่นเป็นองค์ประกอบอย่างพรรคชาติไทย หรือพรรคชาติพัฒนาซึ่งคงจะมีไม่กี่เสียง

ถ้าถามถึงพรรคเกิดใหม่อย่างพรรคสร้างอนาคตไทย หรือพรรคไทยสร้างไทยก็ยังมองไม่เห็นกระแสฟีเวอร์แบบที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นปัญหาของพรรคสร้างอนาคตไทยและพรรคไทยสร้างไทยก็คือ การต้องมี ส.ส.ให้ได้ 25 คนขึ้นไปเพื่อให้คนที่พรรคเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีสามารถเป็นตัวเลือกได้ แต่ถึงตอนนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร

หากพิจารณา ณ เวลานี้ต้องยอมรับว่า ฝ่ายรัฐบาลกำลังตกเป็นรอง แต่การเมืองแบบไทยไทยนั้นก็มีสิ่งที่เกินคาดหวังได้เสมอ

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น