ในขณะที่เราผ่านวาระ 90 ปีของการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครองชิงสุกก่อนห่าม เมื่อปี 2475 พรรคประชาธิปัตย์พรรคเก่าแก่ที่สุดที่ยังดำเนินการอยู่ก็ผ่านวาระ 76 ปีมาแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ความเก่าแก่ของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ถูกยกย่องว่าเป็นสถาบันทางการเมือง
พรรคประชาธิปัตย์มีที่มาจากการตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับนายปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร มีพื้นฐานมาจากพรรคอนุรักษนิยมแม้วันนี้จะพยายามสลัดคราบของอนุรักษนิยมไปเป็นพรรคเสรีนิยม แต่ความเป็นอนุรักษนิยมก็ยังติดตัวอยู่
พรรคประชาธิปัตย์เคยรุ่งโรจน์และตกต่ำสลับกันมา เคยได้ ส.ส.เกินหลักร้อยและต่ำกว่าหลักร้อย แบบเรียกว่าเดี๋ยวฟุบเดี๋ยวฟื้น ในขณะนี้มี ส.ส.จำนวน 53 คน ตกลงจากการเลือกตั้งปี 2554 ที่มี ส.ส.ถึง 159 คน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 คน
ในการสำรวจของนิด้าโพลล่าสุดนั้น พรรคประชาธิปัตย์มีความนิยมมาเป็นอันดับ 5 เพียงร้อยละ 6.32 เท่านั้น ในขณะที่อันดับ 1 ร้อยละ 36.36 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย อันดับ 3 ร้อยละ 17.88 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 4 ร้อยละ 7.00 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ
ถ้าเทียบความนิยมในขณะนี้จากความนิยมในโพลในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์จะมีจำนวน ส.ส.เพียง 31.6 คน จากจำนวน 500 คน
ในขณะที่บุคคลที่ประชาชนเห็นควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เพียงร้อยละ 1.56 เป็นอันดับที่ 11โดยอันดับ 1 คือ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของทักษิณได้ร้อยละ 25.28 แบบทิ้งห่างกันไกลโข
พูดง่ายๆ ว่าในสายตาของประชาชนพรรคประชาธิปัตย์และนายจุรินทร์ไม่อยู่ในสายตาเลย
ตอนนี้หากถามว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมีโอกาสฟื้นจากฟุบแบบในอดีตไหม หรือว่าจะได้ ส.ส.น้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 คำตอบที่มองเห็นก็คือ ไม่มีปัจจัยอะไรเลยที่จะทำให้ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มากกว่าเดิม
เดิมฐานของพรรคประชาธิปัตย์นั้นอยู่ในภาคใต้และกทม. แต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งในภาคใต้น้อยลงมาก และไม่ได้ที่นั่งในกทม.เลยแม้แต่ที่เดียว และจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจะเห็นว่าคนใต้เลือกพรรคการเมืองที่หลากหลายขึ้นไม่ได้ฝังใจกับพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวแบบในอดีตที่พรรคประชาธิปัตย์จะส่งเสาไฟฟ้าลงคนใต้ก็จะยังเลือก
ต้องยอมรับนะครับว่า ปัจจุบันกระแสนิยมของรัฐบาลกำลังตกต่ำทั้งจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบมาจากโรคระบาดและสงคราม คะแนนของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรครวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ก็ดูจะตกต่ำลงด้วย แต่เมื่อเราเปรียบเทียบพรรคร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยจะพบว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีความตกต่ำกว่าพรรคภูมิใจไทยมาก
ในขณะที่เรามองไม่เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.มากขึ้นจากเดิม แต่คนส่วนใหญ่ก็มองว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคภูมิใจไทยจะได้ ส.ส.มากขึ้น
ในกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยนั่งบริหารอยู่เมื่อเทียบกับกระทรวงที่พรรคประชาธิปัตย์นั่งบริหาร เราจะเห็นความโดดเด่นของรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยมากกว่า ไม่เชื่อลองเปรียบเทียบคนที่เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ระหว่างนายจุรินทร์ กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อนกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
แม้ในอดีตเราจะเห็นว่าคนของพรรคประชาธิปัตย์เป็นพวกที่จัดเจนในเกมการเมือง แต่วันนี้เกมการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์สู้กับพรรคภูมิใจไทยที่มีนายเนวิน ชิดชอบอยู่ข้างหลังไม่ได้เลย
การบริหารกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น เรามองไม่เห็นการกำหนดนโยบายที่ก้าวล้ำหรือการสร้างปรากฏการณ์ออกมาเลย เมื่อเทียบกับกระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุขที่พรรคภูมิใจไทยบริหาร
พรรคประชาธิปัตย์เมื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมักจะได้ชื่อว่า เป็นพรรคที่บริหารตามระบบราชการ ในยุคสมัยของนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมีภาพของคนใจซื่อมือสะอาด แต่ก็กลายเป็นชวนเชื่องช้าที่มีคนเรียกขานว่า เป็นปลัดประเทศมากกว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ก็บริหารกระทรวงทบวงกรมด้วยท่วงทำนองเดียวกัน
ในการเลือกตั้งครั้งหน้ายังมองไม่เห็นเลยว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเอาอะไรมาหาเสียงและจะรักษาจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ปัจจุบันได้อย่างไร ต้องยอมรับว่าวันนี้คนรุ่นเก่าๆ ที่เคยมีความภักดีกับพรรคประชาธิปัตย์ทั้งใน กทม.และภาคใต้ ได้ล้มหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว และมีคนจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนใจไปจากพรรคประชาธิปัตย์เพราะรับไม่ได้กับสภาพของพรรคในปัจจุบัน
คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็หันไปนิยมพรรคการเมืองที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย คนวัยทำงานปัญญาชนคนชั้นกลางในเมืองในอดีตมักเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว ทำให้มองไม่ออกเลยว่า วันนี้คนที่เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์นั้นคือคนกลุ่มไหน
ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องทำอย่างไรที่จะเรียกความนิยมของพรรคให้กลับคืนมา หรือต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างฐานกับคนรุ่นใหม่ได้ บอกตรงๆ ว่ามองตรงนี้ยังไม่เห็นหนทาง และไม่เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะฟื้นคืนมาได้ในชั่วเจเนอเรชันของผู้บริหารพรรคชุดนี้ เมื่อมองบุคลากรของพรรคที่มีอยู่บวกกับกระแสทิศทางของสังคมในปัจจุบัน
มองเข้าไปในพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ มองไม่เห็นจุดขายของหัวหน้าพรรคอย่างนายจุรินทร์ และมองเห็นความขัดแย้งในพรรคที่ไม่ลงรอยกันระหว่างสายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับนายจุรินทร์ เราจึงเห็นว่ามีคนจำนวนมากเดินออกจากพรรค แม้พรรคจะพยายามอธิบายว่า มีคนใหม่เข้ามาพรรคเหมือนกัน แต่เรายังมองไม่เห็นเลยว่า มีคนใหม่ที่มีความโดดเด่นคนไหนเข้าไปร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์บ้าง
ทั้งด้วยสภาพแวดล้อมและภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมือง ด้วยศักยภาพของพรรคและผู้บริหารพรรคในปัจจุบันก็คาดหวังไม่ได้เลยว่าจะพลิกฟื้นพรรคกลับมาได้อย่างไร
ไม่กล้าบอกหรอกครับว่า พรรคประชาธิปัตย์จะต้องทำอย่างไร แต่เป็นความเห็นที่มองจากภายนอกเข้าไปในฐานะที่เคยมองว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่พอจะเป็นความหวังได้ แม้วันนี้ความรู้สึกต่อพรรคประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนไปเหมือนกับคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ก็ยังอยากให้พรรคการเมืองที่เก่าแก่พรรคนี้ยังคงสืบสานอุดมการณ์ของพรรคต่อไปได้
ผมไม่ได้พูดถึงพรรคพลังประชารัฐเพราะมองว่า เป็นพรรคเฉพาะกิจเมื่อหมดยุค 3 ป.แล้วพรรคนี้ก็คงจะล่มสลาย และในการเลือกตั้งครั้งหน้าคาดว่าจะมีหลายคนออกจากพรรค แต่พรรคประชาธิปัตย์คงจะรู้อยู่แล้วว่า คนส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคพลังประชารัฐก็คือคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ คนเหล่านี้ไม่สวิงโหวตไปเลือกพรรคที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแน่ แต่จะทำอย่างไรทำให้คนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐเหล่านี้กลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งในวันที่พรรคพลังประชารัฐล่มสลาย
ในขณะเดียวกันก็อย่ามั่นใจนักว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่เป็นสถาบันการเมือง เคยฟุบแล้วฟื้นกลับมาได้ เพราะสัจธรรมที่ว่า การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan