xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แนะสภาทบทวน รบ.ครอบงำฝ่ายนิติฯ เวทีเป็นเทศกาลมาตอบแค่งบ-ซักฟอก ชี้เบาไปติงนายกฯ หนีสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อภิสิทธิ์” แนะสภาทบทวนบทบาท หลังปล่อย รบ.ครอบงำฝ่ายนิติฯ มองเป็นเทศกาลมาตอบแค่ซักฟอก-ถกงบฯ ชี้ “สุชาติ” ตำหนินายกฯหนีสภายังเบาไป ยก ตปท.ให้ค่าตอบกระทู้อันดับแรก “วันนอร์” แนะ ครม.ยกคณะทำงานที่สภาวันประชุม “โภคิน” แนะสภาสะท้อนปัญหา-กดดัน รบ.เพื่อ ปชช.

วันนี้ (27 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.07 น. รัฐสภาจัดเสวนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภา หัวข้อ “90 ปี รัฐสภา การเดินทางและความหวัง” โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา และ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และประธานสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้นำฝ่ายค้าน ร่วมเสวนา

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงการทำงานของรัฐสภาที่ยึดโยงประชาชน ว่า ตนคิดว่า รัฐสภาต้องยึดโยงกับประชาชน โดย ส.ว.ควรมีหน้าที่แค่การกลั่นกรองกฎหมาย ไม่ใช่มามีส่วนในการทำกฎหมายปฏิรูป หรือกฎหมายสำคัญอื่นๆ ทั้งนี้ ตนอยากฝากไปถึงรัฐบาลเรื่องกระทู้ถามสด ที่มีขึ้นเพื่อเป็นการวัดกึ๋นการทำงานของรัฐบาล ถ้าทำงานไม่เก่งจะมาตอบไม่ได้ เพราะเป็นการถามเดี๋ยวนั้น ตอบเดี๋ยวนั้น และต้องไม่ใช่การมอบให้รัฐมนตรีมาตอบแทน นายกฯ ต้องฟัง และเข้าใจเอง อย่าบอกว่างานเยอะ เพราะมีการกำหนดแล้วว่า วันพุธ และวันพฤหัสบดี มีการประชุมสภา รัฐบาลต้องว่าง และที่รัฐสภามีห้องมากมายรองรับการทำงานของรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลต้องมาสภา เพราะคุณมาจากสภา เพราะเบอร์หนึ่งคือประธานรัฐสภา และสภาคือฝ่ายที่ให้เงินรัฐบาลไปบริหารประเทศ ส่วนนายกฯ คือ เบอร์สอง นอกจากนี้ ตนอยากถามว่าเวลาละเมิดอำนาจศาล ทำไมถึงติดคุก แต่เวลาที่มีการทำปฏิวัติละเมิดอำนาจประชาชนทั้งประเทศ และมีการฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ศาลกลับวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ดังนั้น จึงอยากฝากให้ศาลทบทวนแนวทางวินิจฉัยนี้เพราะจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราเดินต่อไปไม่ได้ และไม่เช่นนั้นจะเจอการรัฐประหารอีกหลายรอบ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เรายังไม่มีวัฒนธรรมเหมือนกับประเทศประชาธิปไตย ที่มีระบบรัฐสภา ที่ทำให้ฝ่ายบริหารเคารพฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดวิวาทะ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา ตำหนินายกฯไม่มาตอบกระทู้ นายกฯบอกว่าแรงไปหรือไม่ ตนขอบอกว่า รองประธานสภาฯพูดเบาเกินไป และอยากให้นายกฯตระหนัก ถ้าไปดูประเทศที่ใช้การปกครองระบบรัฐสภา ผู้นำประเทศต้องถืองานสภา โดยเฉพาะตอบกระทู้เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาประมาณชั่วโมงถึงสองชั่วโมงเท่านั้น ไม่มีข้ออ้างที่จะมาตอบกระทู้ไม่ได้ เพราะทราบอยู่แล้วว่ากระทู้ถามสดเกิดขึ้นวันไหน เวลาใด ถ้าบริหารจัดเวลา 1-2 ชั่วโมงไม่ได้ จะบริหารประเทศอย่างไร การมาตอบกระทู้ไม่ใช่เป็นเรื่องเทคนิค เหมือนที่นายกฯกล่าวไว้ แต่การมาตอบเพื่อให้เจ้าของประเทศรับทราบถึงหลักคิดบริหารประเทศ

“ประเทศในระบบสภา ประชาชนจะรู้สึกผูกพันกับสภา เพราะผู้บริหารประเทศต้องบอกกับตัวแทนประชาชนตอลดเวลา ปัญหาตอนนี้มีแนวคิดอย่างไร มีวิธีอย่างไร ฟังวิธีทางเลือกที่ดีกว่าจากฝ่ายค้านหรือไม่ แต่ตอนนี้ เวทีสภาเหมือนมีเฉพาะเทศกาลไม่ไว้วางใจ และงบประมาณ ปีละ 2 ครั้งที่มาตอบได้ ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารมีลักษณะครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติมากไป ดังนั้น สภาควรทบทวนการทำงาน โดยเฉพาะตามความเชื่อว่าระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหารมีเสียงข้างมาก ส.ส.ทุกคนแตกแถวไม่ได้ ต้องตามวิปทุกเรื่อง เพราะจะเป็นการลดบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุเหตุผลที่ไม่มาตอบ เพราะเป็นเรื่องของเทคนิค ต้องมอบคนอื่น ทั้งนี้ ตนมองว่าเวทีสภา​ไม่ใช่ที่ลองภูมิ หรือเรื่องเทคนิค แต่การตั้งกระทู้ถามสด คือ ต้องการทราบหลักคิดการบริหารประเทศให้เจ้าของประเทศทราบ ว่า เรื่องเศรษฐกิจ ข้าวของแพง รัฐบาลคิดอะไร ตรวจสอบได้ ดังนั้น ตนจึงขอยืนยันว่า หลายเรื่องต้องปรับปรุงวัฒนธรรมทางการเมือง นักการเมืองความรับผิดชอบทางการเมืองสำคัญมากกว่ากฎหมาย เพื่อรักษาศรัทธาของนักการเมือง และฝ่ายนิติบัญญัติ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในระยะหลังเห็นร่างกฎหมายของ ส.ส.พิจารณามากขึ้น ไม่ทราบว่า รัฐบาลไม่มีกฎหมายเสนอหรือไม่ อย่างไรก็ดี นายกฯ ไม่ยอมลงนามกฎหมายภาคประชาชนเข้าสภา สำหรับงานด้านการออกกฎหมายตนมองว่าสถาบันพระปกเกล้าต้องช่วยเหลือฝ่ายนิติบัญญัติในการเป็นแหล่งข้อมูลของฝ่ายนิติบัญญัติ แทนการเน้นจัดหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้มแข็งเป็นที่พึ่งที่หวัง สามารถมีองค์ความรู้เขียนกฎหมายได้ ตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ ทั้งนี้ ตนมีคำถามไปยังวุฒิสภาว่าที่มาของวุฒิสภาซึ่งมีทั้งเลือกตั้ง แต่งตั้ง คัดสรร และผูกผสม แต่บอกไม่ได้ว่า ส.ว.ทำอะไรที่ ส.ส.ทำไม่ได้บ้าง จะกลายเป็นปัญหาว่าสภาตามระบอบประชาธิปไตย แต่ ส.ว. ไม่ยึดโยงประชาชน มีอำนาจเกินพอดี และถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎรได้

“ประชาชนมองว่า สภาวุ่นวาย ทะเลาะกัน แต่สภาที่เรียบร้อย เสนอทุกอย่างผ่านหมด มีแค่สภาเผด็จการ ดังนั้น สภาประชาธิปไตยต้องถกเถียง ตั้งคำถาม สร้างความเข้าใจกับประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนมองสภาทางลบ อยากให้สภาทำงานเหมือนระบบราชการ มองผลงานสภาคือจำนวนของกฎหมาย แต่ตนมองว่า ปริมาณไม่สะท้อนคุณภาพงานนิติบัญญัติ ดังนั้น สิ่งที่จะสะท้อนได้ คือ สภาที่รับฟังประชาชน สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ผ่านการทำหน้าที่”

ขณะที่ นายโภคิน กล่าวว่า ข้อดีการมีรัฐสภา โดยเฉพาะสภาถ้าไม่มีอะไรสะดุดทุกอย่างก็จะไหลลื่น และนายกฯมาตอบคำถาม แต่เมื่อยึดอำนาจมา เขาก็ด้อยค่าสภา แม้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะมีวิป แต่ฝ่ายรัฐบาลมักเลือกหยิบร่างกฎหมายที่ตนเองเสนอมาพิจารณาแซงลำดับร่างกฎหมายที่ ส.ส.เข้าชื่อ ทำให้กฎหมายดีๆ หลายฉบับ เมื่อยุบสภาก็ต้องตกการพิจารณาไป ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เขียนไว้ว่าหากพิจารณาร่างกฎหมายถึงตรงไหน เมื่อมีสภาชุดใหม่เข้ามา ก็ต้องพิจารณาต่อตรงนั้น เพื่อเดินหน้ากฎหมายดีๆ

นอกจากนี้ ตนเห็นด้วยกับการตั้งกระทู้ถาม ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะคำถามเหล่านั้นสะท้อนความทุกข์ยากของประชาชน และสิ่งที่ตนอยากให้สภาทำ คือ ช่วยรับฟังเสียงประชาชน จากนั้นจัดทำรายงานเสนอเพื่อนำไปแก้ไขปัญหากันต่อไป ผู้แทนต้องสะท้อนปัญหาพื้นที่ปัญหาโครงสร้าง กดดันรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดัน เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง หาก ส.ส.ทุกคนทำแบบนี้ ประชาชนก็จะสนใจสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น