xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



จากนี้ไปอีกไม่นาน ก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้น พรรคการเมืองทุกพรรค จึงได้มีการเตรียมการเลือกตั้ง เริ่มด้วยการเฟ้นหาตัวผู้สมัครหน้าใหม่ที่เห็นว่ามีศักยภาพพอที่จะได้รับเลือกตั้ง และในขณะเดียวกัน ก็ดึงตัว ส.ส.เก่าซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนในพื้นที่อันเป็นเขตเลือกตั้งจากพรรคการเมืองอื่นเข้ามาอยู่ในพรรค โดยการเสนอผลตอบแทนเป็นตัวเงิน และตำแหน่งทางการเมือง จึงกลายเป็นโอกาสให้นักการเมืองหน้าใหม่แจ้งเกิด และพร้อมกันนี้ก็เป็นโอกาสให้นักการเมืองเก่าแสวงหาผลประโยชน์โดยการวิ่งเต้นและต่อรอง เพื่อให้ตนเองได้สิ่งที่ต้องการมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนว่าจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ชื่อชั้นของความเป็นนักการเมืองของแต่ละคน เกรดเอก็ได้มาก เกรดบีและซีก็ได้น้อยลงมา

2. ความต้องการและกำลังซื้อของพรรคที่ต้องการได้ตัวไปสังกัด

3. โอกาสที่พรรคแต่ละพรรคจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือเป็นพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล

ถ้าพรรคใดมีโอกาสได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือเป็นพรรคร่วมก็จะมีพลังการดูด ส.ส.หน้าเก่าจากพรรคคู่แข่งได้มาก และยังมีพลังในการดึงดูดความสนใจนักการเมืองหน้าใหม่ได้มากกว่าพรรคที่ไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคไหนจะมีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้ามองจากสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ พอจะอนุมานได้ว่าพรรคที่มีโอกาสได้ ส.ส.จำนวนมาก และสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้มีอยู่ 2 พรรคคือ

1. พรรคเพื่อไทย ซึ่งมี ส.ส.เก่าที่มีศักยภาพที่จะได้รับเลือกอยู่ในสังกัดพรรคจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคเหนือ และอีสาน ประกอบกับพรรคนี้มีทุนเงินหนาเมื่อเทียบกับพรรคอื่น จึงทำให้มีโอกาสได้รับเลือกเข้ามามากพอที่จะเป็นแกนนำได้

2. พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพียงพรรคเดียวที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับเลือกตั้งเข้ามามากกว่าทุกพรรคในฝ่ายรัฐบาล จึงทำให้ ส.ส.เก่าจากพรรคการเมืองอื่นย้ายเข้ามาอยู่ในพรรคนี้มากขึ้น และนี่เองที่ทำให้อนุมานได้ว่าพรรคนี้มีโอกาสได้รับเลือกจำนวนมากพอที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้

ส่วนพรรคการเมืองที่เหลือทั้งที่เป็นพรรคการเมืองเก่า และพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่คงจะได้รับเลือกจำนวนไม่มากพอที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นไปได้ยากอย่างมากก็แค่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคร่วมฝ่ายค้านเท่านั้น

แม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐที่มี ส.ว. 250 คนเป็นแนวร่วมทางการเมือง ก็มีโอกาสเป็นแกนนำได้ยาก ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐได้เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม จนทำให้คะแนนนิยมของพรรคนี้ตกต่ำ ประกอบกับ ส.ส.ของพรรคนี้ส่วนหนึ่งได้แยกออกไปตั้งพรรคใหม่ จึงทำให้พรรคนี้อ่อนแอลง จึงอนุมานได้ว่าผู้สมัครจากพรรคนี้จะได้รับเลือกเข้ามาน้อยกว่าครั้งที่แล้ว และที่สำคัญเหนืออื่นใดจะหาแนวร่วมทางการเมืองได้ยากกว่าครั้งที่ผ่านมา

ดังนั้น ถึงแม้ว่ามี ส.ว. 250 คนคอยหนุนก็ยากที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสให้สองพรรคคือพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งคาดว่าจะได้รับเลือกเข้ามามากเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทางการเมืองเปรียบเทียบระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยแล้ว พรรคภูมิใจไทยมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลมากกว่าพรรคเพื่อไทย หรือเป็นไปได้ที่สองพรรคนี้จะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล โดยการกันพรรคพลังประชารัฐออกไป


กำลังโหลดความคิดเห็น