xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๑๕ : จากนายทหารเสียน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสู่มรดกบาปต้องคำสาปโองการแช่งน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ขุนนิรันดรชัย ผู้ก่อการคณะราษฎรสายจอมพลป. พิบูลสงครามและเป็นมือขวาของจอมพลป. ด้านการเงิน ได้มีส่วนยักยอกปล้นพระราชทรัพย์ไปจากพระคลังข้างที่ไปเป็นจำนวนมากในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๙ ก่อนที่จะมีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ๒๔๗๙ โดยขุนนิรันดรชัยได้โอนย้ายไปเป็นผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์และได้เป็นราชเลขานุการในพระองค์ในที่สุด

ขุนนิรันดรชัยได้ใช้ชื่อผู้อื่นหรือชื่อบุตรสาวในการยักยอกที่ดินพระคลังข้างที่โดยซื้อไปในราคาถูกกว่าราคาตลาดมากมาย หรือหากเป็นที่ดินแปลงที่สนใจและเคยเป็นของพระคลังข้างที่ก็แอบอ้างพระบรมราชานุญาตไปขอแบ่งที่ดินมาจากผู้ที่เคยได้รับพระราชทานที่ดินแปลงดังกล่าว เช่น ขุนนิรันดรชัยทำหนังสือลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๗๙ ถึงพระสุจริตสุดา พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

####################


ที่ ๔๖๖/๒๔๗๙
สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์


๒๔ ธันวาคม ๒๔๗๙


เรื่อง ขอแบ่งแยกที่ดินตำบลถนนราชวิถีซึ่งได้รับพระราชทาน
จาก ราชเลขานุการในพระองค์
ถึง พระสุจริตสุดา


ตามหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาลงวันที่ ๒๔ เดือนนี้ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแบ่งแยกที่ดินตำบลถนนราชวิถีซึ่งได้รับพระราชทานให้แก่ขุนนิรันดรชัยประมาณ ๗๒ ตารางวาและให้นางสาวสนาน เกตุทัต ประมาณ ๑๕o ตารางวานั้น


ความทราบถึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ลงมติอนุญาตให้แบ่งแยกตามที่ขอไปได้


นิรันดรชัย
ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์
ลงนามแทน

####################


ทั้งนี้สองพี่น้องในราชินิกุลสุจริตกุลคือสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายาและพระสุจริตสุดา ได้รับพระราชทานที่ดินพระคลังข้างที่เป็นจำนวนมากบริเวณริมถนนราชวิถี ด้านทิศเหนือของพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ถ้าโดยการสันนิษฐานขอบเขตของที่ดินที่ได้รับพระราชทานดังกล่าวจรดถนนพระรามห้าด้านทิศตะวันตก จรดถนนสวรรคโลกด้านทิศตะวันออก จรดถนนสุโขทัยด้านทิศเหนือ และจรดถนนราชวิถีด้านทิศใต้ และต่อมาได้มีการซอยแบ่งแยกย่อยเป็นอีกหลายแปลง โดยมีหลักฐานคือแทบทุกแปลงโฉนดเป็นของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายาและพระสุจริตสุดามาก่อน นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการออกโฉนดที่แปลงใหญ่ดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยระบุว่าที่แปลงนี้ทิศเหนือจรดถนนสุโขทัย ทิศตะวันออกจรดถนนสวรรคโลก ทิศใต้จรดถนนราชวิถี



โฉนดที่ดินแปลงใหญ่ของพระคลังข้างที่ด้านทิศเหนือของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพต่อไปนี้แสดงด้านหน้าและด้านหลังโฉนดที่ดินที่ขุนนิรันดรชัยไปขอซื้อจากพระสุจริตสุดาพระสนมเอกในรัชกาลที่ 6 โดยมีการขายให้สำนักงานพระคลังข้างที่ก่อนที่ขุนนิรันดรชัยจะเข้าไปซื้อมาจากสำนักงานพระคลังข้างที่อีกทอดหนึ่ง หลังจากนั้นระบุชื่อเจ้าของเป็นเด็กชายธรรมนูญ นิรันดรเพื่อเป็นการนอมินีและซ่อนจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร




สำหรับแปลงที่ยังเป็นของตระกูลนิรันดรชัยนั้นคือแปลงที่เป็นโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบันหัวมุมถนนสวรรคโลกตัดกับถนนราชวิถี ซึ่งเคยเป็นบ้านที่สร้างตึกสี่ชั้นอยู่อาศัยของขุนนิรันดรชัยเอง ออกแบบโดยนายหมิว อภัยวงศ์ ผู้ออกแบบตึกแถวริมถนนราชดำเนินกลางทั้งหมด แม้กระทั่งชื่อซอยในบริเวณดังกล่าวด้านฝั่งถนนพระรามห้ายังมีชื่อว่าซอยสุจริตอยู่หลายซอยจนกระทั่งทุกวันนี้

ขุนนิรันดรชัยภายหลังการหมดอำนาจวาสนาของจอมพลแปลก พิบูลสงครามไป ขุนนิรันดรชัยก็เริ่มหมดอำนาจวาสนาด้วยเช่นเดียวกัน และเริ่มล้มป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมองจนเป็นอัมพาตติดเตียงอย่างทุกข์ทรมานอยู่หลายปี และได้อาศัยในบ้านของตึกสี่ชั้นที่หัวมุมถนนราชวิถีตัดกับสวรรคโลกที่ปัจจุบันเป็นโรงเรียนนานาชาตินั้นจนกระทั่งเสียชีวิต

พลโทสรภฏ นิรันดร อดีตเจ้ากรมยุทธการทหารบก เป็นบุตรชายของขุนนิรันดรชัยได้เล่าให้ฟังว่า คุณพ่อคือขุนนิรันดรชัยนอนเป็นอัมพาตติดเตียง พูดไม่ชัด และกล่าวที่เป็นเช่นนี้เพราะเสียน้ำพระพิพัฒน์ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ด้วยความสำนึก แต่ไม่มีโอกาสขอพระราชทานอภัยโทษแล้วเพราะป่วยหนัก ต้องการให้บุตรชายไปกราบถวายบังคมขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้ล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินถึงสามพระองค์คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แทนตัวเอง

นายทหารที่เข้ารับราชการ ต้องเข้าร่วมพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา โปรดอ่านได้จาก บ่ซื่อน้ำตัดคอ : โทษทัณฑ์ผู้ผิดน้ำพระพิพัฒน์สัตยาใน โองการแช่งน้ำ ตอนที่1-3 โดย ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ ซึ่งได้สาปแช่งผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีอันเป็นไป ดังมีวรรณคดีไทยเก่าแก่ที่ชื่อลิลิตโองการแช่งน้ำ
ตอนที่ 1 : https://mgronline.com/daily/detail/9640000001600
ตอนที่ 2 : https://mgronline.com/daily/detail/9640000003136
ตอนที่ 3 :
https://mgronline.com/daily/detail/9640000003253

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบันทึกอธิบายเรื่องพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาไว้อย่างละเอียดในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนเอาไว้ว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ทรงร่วมดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นพระองค์แรกเสมอก่อนทหารและข้าราชการ อันเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ สาบานว่าจะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต โปรดอ่านได้จาก พระมหากษัตริย์ปฏิญาณตนอย่างไรตามราชประเพณีการปกครองของไทย โดยผู้เขียนเอง https://mgronline.com/daily/detail/9650000030283

ล่าสุด พลโทสรภฎ นิรันดร ทายาท “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดากระทำมิบังควรสมัยร่วมคณะราษฎร 2475 เตือนเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าเชื่อใครง่าย https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000131996


กำลังโหลดความคิดเห็น