ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ
อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (คติชนวิทยา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิชาการอิสระ
๑.
เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พลโทสรภฎ นิรันดร บุตรชายขุนนิรันดรชัย (พันตรีสเหวก นิรันดร) หนึ่งในคณะผู้ก่อการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ออกมาแถลงข่าวขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดา โดยกล่าวถึงวาระสุดท้ายของขุนนิรันดรชัยไว้ว่า “ก่อนเสียชีวิต คุณพ่อได้สำนึกในความผิดว่าเรื่องแรกที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของท่าน คือ ท่านเป็นข้าราชการทหาร ท่านได้เสียน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อพระมหากษัตริย์ ประการต่อไป ท่านเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ท่านก็ได้ทำเรื่องบางเรื่องที่มิบังควร ท่านก็สั่งเสียว่าท่านต้องการที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ แต่คุณพ่อไม่มีโอกาส ปรากฏว่าท่านได้เสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคความดันโลหิตสูง แล้วก็เป็นอัมพาต” ถ้อยความดังกล่าวตรงกับความรับรู้ของคนไทยโดยทั่วไปว่า น้ำพิพัฒน์สัตยา คือ น้ำสาบานศักดิ์สิทธิ์ของข้าราชการผู้ได้ถวายสัตย์ต่อพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดินว่าจะจงรักภักดีต่อเบื้องพระยุคลบาทตราบเท่าชีวิตหาไม่ หากผู้ใดคิดคดทรยศย่อมต้องมีอันเป็นไปด้วยเดชะแห่งน้ำสาบานนั้น น้ำพิพัฒน์สัตยาที่ว่านี้มิใช่ว่าจะดื่มเมื่อไรก็ได้ แต่ต้องกระทำเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ชื่อ “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” หรือที่โบราณเรียกว่า “พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล” กำหนดให้ประกอบขึ้นปีละ ๒ ครั้ง ได้แก่ วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือนห้า และแรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายว่าสาเหตุของการถือน้ำในวันเวลาดังกล่าวไว้ว่าการถือน้ำในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ เป็นพิธีอันเนื่องมาแต่พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พระราชพิธีตรุษสิ้นปี) ส่วนในวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบนั้นเนื่องมาแต่พระราชพิธีสารท
ในแง่ที่มาของพิธีกรรม จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานว่าพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามีต้นเค้ามาจากราชสำนักเขมร โดยอ้างถึงข้อความในจารึกบนกรอบประตูปราสาทพิมานอากาศว่าด้วยพิธีกรรม “กัดไดถวายอายุ” หรือการเชือดแขนให้เลือดไหลลงผสมกับน้ำแล้วดื่มเพื่อเป็นการกระทำสัตย์สาบาน ส่วนในประเทศไทยสันนิษฐานว่าพระราชพิธีนี้กระทำกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ศาสตราจารย์ ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต แสดงหลักฐานในพงศาวดารเหนือที่กล่าวถึงพระเจ้าสินธพอำมรินทร์แห่งอาณาจักรละโว้ - อโยธยา มีรับสั่งให้ข้าราชการทั้งส่วนกลางและหัวเมืองต่าง ๆ มารับพระราชทาน “น้ำพระพิพัฒนสัจจา” หลังจากพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๓ ปี ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระราชพิธีนี้ประกอบขึ้นในวัดพระศรีสรรเพชญ์ จากนั้นย้ายมาเป็นวัดมงคลบพิตร ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ประกอบขึ้นในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์จะร่วมเสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยากับบรรดาข้าราชการด้วย จึงเท่ากับว่าพลานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำพระพิพัฒน์สัตยาย่อมจะยิ่งเพิ่มเป็นเท่าทวี ด้วยว่าเป็นน้ำสาบานที่ดื่มร่วมกับพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นองค์แห่งการผูกสัตย์สาบานนั้น
อนึ่ง เหตุว่าพระราชพิธีดังกล่าวกระทำต่อเนื่องกันมาตลอดจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ (รื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๑๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) ขุนนิรันดรชัยซึ่งรับราชการเป็นทหารมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๕๗๕ ย่อมต้องเคยดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในฐานะ “ข้าใต้เบื้องพระยุคลบาท” มาก่อน จึงไม่แปลกที่ตัวท่านจะรู้สึกสำนึกในบั้นปลายชีวิตว่าตน “เสียสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดิน” และได้รับโทษทัณฑ์จากการกระทำของตน
ทั้งนี้สิ่งที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อำนาจลงทัณฑ์” ให้แก่น้ำพระพิพัฒน์สัตยา นอกจากจะมาจากเดชานุภาพของพระแสงศรศักดิ์สิทธิ์ ๓ องค์ ได้แก่ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนิวาต ตลอดจนพระแสงสำคัญต่าง ๆ อาทิ พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแสงหอกเพชรรัตน พระแสดงดาบคาบค่ายแล้ว ยังมาจาก “โองการศักดิ์สิทธิ์” สำหรับอ่านในพิธีกรรมที่เรียกชื่อว่า “โองการแช่งน้ำ” อีกด้วย
ในตอนหน้าผู้เขียนจะกล่าวถึงข้อสันนิษฐานว่าด้วยการใช้น้ำในฐานะองค์ประกอบสำคัญแห่งพิธีกรรมการสาบาน ตลอดจนเนื้อหาและ “ลักษณะโทษทัณฑ์” ของผู้ผิดน้ำพระพิพัฒนสัตยาซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในเนื้อหาของโองการแช่งน้ำ ขอได้โปรดติดตามต่อไป
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
จิตร ภูมิศักดิ์. โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ: ดวงกมล, ๒๕๒๔.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชกรัณยานุสร พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ตอนว่าด้วยพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย (พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตน ราชกุมารี โปรดให้พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดามรกฎ รัชกาลที่ ๕ เมื่อปีวอก ๒๔๖๓), ๒๔๖๓.
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. อ่านโองการแช่งน้ำ ฉบับวิเคราะห์และถอดความ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.
ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง (๒๕๑๒). พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พ.ศ. ๒๕๑๒. กรุงเทพฯ: มปท. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลโท อ่อง โพธิกนิษฐ ม.ว.ม, ป.ช., ท.จ.ว ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๒), ๒๕๑๒.
ฐานข้อมูลอิเลกทรอนิกส์
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3719079344818674&id=123613731031938&__tn__=K-R (เข้าถึงเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๔)
[1] บทสัมภาษณ์นำมาจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของปานเทพ พัวพงษ์พัน หัวข้อ “ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 9) เบื้องลึกกว่าที่เป็นข่าว กรณีบุตรชาย “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษ” โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๒๖ น.