ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ
อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (คติชนวิทยา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิชาการอิสระ
๒.
ในตอนที่ผ่านมาผู้เขียนได้กล่าวถึงข้อสันนิษฐานเรื่องที่มาของพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการไทยไว้คร่าว ๆ แล้ว จึงใคร่ขอนำเสนอความคิดเห็นว่าเหตุใด “น้ำ” จึงถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของพิธีกรรมการกระทำสัตย์สาบานเป็นลำดับต่อมา ทั้งนี้จะพิเคราะห์จากมุมมองทางวัฒนธรรมของชนชาติไท คติความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู และธรรมชาติของน้ำที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรมเป็นสำคัญ เหตุเพราะส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าคติว่าด้วยน้ำในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเกิดขึ้นจากการผสมผสานทางความเชื่อ ไม่ต่างจากที่มาของคติความเชื่ออื่น ๆ ในสังคมไทย
สำหรับข้อสันนิษฐานที่ว่าด้วยความสำคัญของน้ำในมุมมองทางวัฒนธรรมของชนชาติไท ผู้เขียนขออ้างถึงงานศึกษาของศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งท่านยังเป็นนิสิตปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทยของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง ตำนานพระธาตุของชนชาติไท: ความสำคัญและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม อาจารย์วิเคราะห์ว่าชนชาติไทยคิดและเชื่อว่าน้ำมีสภาวะเป็น “สิ่งธรรมชาติที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ” เนื่องจากน้ำเกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสร้างโลก มีพลังอำนาจในการชำระมลทินต่าง ๆ มาตั้งแต่ก่อนการถือกำเนิดของมนุษยชาติ ตลอดจนเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีพ สอดคล้องกับที่ในโองการแช่งน้ำระบุถึงน้ำในตอนกล่าวถึงการกำเนิดโลกว่า “กล่าวถึงน้ำฟ้าฟาด ฟองหาว ฟองหาวดับเดโช ฉ่ำหล้า” แปลความว่ามีเหตุการณ์น้ำท่วมโลกเพื่อดับไฟบรรลัยกัลป์ก่อนที่ทวีปทั้ง ๔ อันหมายถึงแผ่นดินโลกจะเกิดมีขึ้น ผู้เขียนจึงคิดว่าไม่น่าแปลกใจที่คนไท-ไทย จะมองว่าน้ำเป็น “ธาตุศักดิ์สิทธิ์” สมควรแก่การนำมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของพิธีกรรมกระทำสัตย์สาบาน
ส่วนในคติพราหมณ์-ฮินดู น้ำมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ “พระวรุณ” หนึ่งในเทพกลุ่ม “อาทิตย์” (วรุณาทิตย์) ซึ่งเป็นเทพสำคัญยิ่งในสมัยพระเวท ชาวอารยันโบราณนับถือพระวรุณว่าเป็นเทพผู้รักษากฎแห่งจักรวาล ในหัตถ์ของพระองค์ถือบ่วงบาศก์สำหรับลากคอผู้กระทำผิดไปลงทัณฑ์ อีกทั้งยังประทับอยู่ในวิมานอันมีประตูนับพัน สามารถเสด็จมาหามนุษย์ได้โดยง่าย มีสายพระเนตรว่องไวแหลมคม ไม่ว่ามนุษย์ผู้ใดรู้สึกนึกคิดเช่นไรก็ทรงทราบโดยฉับพลันทันที ทำให้ไม่มีผู้ใดสามารถต้านทานเดชานุภาพทัณฑกรรมแห่งพระวรุณได้เลย จึงเป็นไปได้มากที่ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ-พระวรุณ-และการลงทัณฑ์จะเป็นต้นเค้าหนึ่งของการแช่งน้ำสาบาน นอกจากนี้แล้วพระวรุณยังเป็นเทพแห่งลมและฝน ในโองการแช่งน้ำจึงอัญเชิญพระองค์มาเป็นองค์พยานคอยจับตาดูผู้คิดคดต่อพระมหากษัตริย์ด้วยในความตอนที่ว่า “ลมฝนฉาวทั่วฟ้า ช่วยดู”ร่วมกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูพระองค์อื่นๆ และปวงผีทั้งหลายด้วย
นอกเหนือจากความคิดความเชื่อทั้งของชนชาติไทและชาวอารยันโบราณ ผู้เขียนคิดว่าธรรมชาติของน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ประการแรกด้วยเหตุว่าน้ำเป็นของเหลวที่มนุษย์สามารถดื่มเข้าไปในร่างกายได้โดยตรง อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นของไหลคล้ายกับ “เลือด” ในร่างกาย วิธีคิดเบื้องหลังการกระทำสัตย์สาบานด้วยการดื่มน้ำจึงน่าจะมาจากคุณสมบัติของน้ำนั้นเอง นำมาซึ่งทัณฑทรมานของผู้ทรยศอันเนื่องมาแต่การดื่มน้ำ ได้แก่ “บ่ซื่อน้ำตัดคอ ตัดคอเร็วให้ขาด”หมายถึง น้ำล่วงผ่านลำคอเมื่อใดก็ให้กลายเป็นของมีคมตัดคอเมื่อนั้น อีกทั้งเมื่อน้ำตกถึงท้องก็ขอให้ “บ่ซื่อน้ำหยาดท้อง เป็นรุ้ง”คือให้น้ำกลายเป็นเหยี่ยวจิกกินอวัยวะภายใน และยังขอให้น้ำกลายเป็นสิ่งแหลมคม “เจาะพุงใบแบ่ง”ให้ได้รับความเจ็บปวดทรมานด้วยการถูกน้ำเจาะทะลวงผ่าแบ่งท้องออกเป็นส่วน ๆ
อีกประการหนึ่ง จากการที่น้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยการดำรงชีวิตอันจะขาดเสียมิได้ ในโองการแช่งน้ำได้กล่าวว่าหากใครดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้วกระทำการไม่ซื่อก็จะมีทุกข์เดือดร้อนจนถึงแก่ชีวิตด้วยไม่สามารถอุปโภคบริโภคน้ำได้ตามปกติตามความกล่าวว่า “อย่าอาศัยแก่น้ำ จนตาย”ซ้ำยังมีอันตรายเพราะ “น้ำคลองกรอกเป็นพิษ”ซึ่งขยายความให้เห็นว่าไม่ใช่เฉพาะ “น้ำพระพิพัฒน์สัตยา” ที่ดื่มเข้าไปเท่านั้นที่จะเป็นโทษเป็นภัยแก่ผู้ตระบัดสัตย์ แม้กระทั่ง “น้ำที่มิใช่น้ำสาบาน” ก็จะกลายเป็นอาวุธลงทัณฑ์ไม่ต่างจากน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเลยแม้แต่น้อย
ในตอนหน้าซึ่งจะเป็นตอนจบของข้อเขียนชุดนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงโทษทัณฑ์ประการอื่น ๆ นอกเหนือจาก “ทัณฑ์จากน้ำ” ที่ได้กล่าวแล้ว ขอท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามต่อไป
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. อ่านโองการแช่งน้ำ ฉบับวิเคราะห์และถอดความ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.
ปฐม หงษ์สุวรรณ. ตำนานพระธาตุของชนชาติไท: ความสำคัญและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๘.
ภาษาอังกฤษ
Van Gennep, Arnold. The Rites of Passage. Chicago: The University of Chicago Press, 1960.
Wilkins. W.J. Hindu Mythology. New Delhi: Rupa Publications, 2018.
อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (คติชนวิทยา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิชาการอิสระ
๒.
ในตอนที่ผ่านมาผู้เขียนได้กล่าวถึงข้อสันนิษฐานเรื่องที่มาของพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการไทยไว้คร่าว ๆ แล้ว จึงใคร่ขอนำเสนอความคิดเห็นว่าเหตุใด “น้ำ” จึงถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของพิธีกรรมการกระทำสัตย์สาบานเป็นลำดับต่อมา ทั้งนี้จะพิเคราะห์จากมุมมองทางวัฒนธรรมของชนชาติไท คติความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู และธรรมชาติของน้ำที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรมเป็นสำคัญ เหตุเพราะส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าคติว่าด้วยน้ำในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเกิดขึ้นจากการผสมผสานทางความเชื่อ ไม่ต่างจากที่มาของคติความเชื่ออื่น ๆ ในสังคมไทย
สำหรับข้อสันนิษฐานที่ว่าด้วยความสำคัญของน้ำในมุมมองทางวัฒนธรรมของชนชาติไท ผู้เขียนขออ้างถึงงานศึกษาของศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งท่านยังเป็นนิสิตปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทยของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง ตำนานพระธาตุของชนชาติไท: ความสำคัญและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม อาจารย์วิเคราะห์ว่าชนชาติไทยคิดและเชื่อว่าน้ำมีสภาวะเป็น “สิ่งธรรมชาติที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ” เนื่องจากน้ำเกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสร้างโลก มีพลังอำนาจในการชำระมลทินต่าง ๆ มาตั้งแต่ก่อนการถือกำเนิดของมนุษยชาติ ตลอดจนเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีพ สอดคล้องกับที่ในโองการแช่งน้ำระบุถึงน้ำในตอนกล่าวถึงการกำเนิดโลกว่า “กล่าวถึงน้ำฟ้าฟาด ฟองหาว ฟองหาวดับเดโช ฉ่ำหล้า” แปลความว่ามีเหตุการณ์น้ำท่วมโลกเพื่อดับไฟบรรลัยกัลป์ก่อนที่ทวีปทั้ง ๔ อันหมายถึงแผ่นดินโลกจะเกิดมีขึ้น ผู้เขียนจึงคิดว่าไม่น่าแปลกใจที่คนไท-ไทย จะมองว่าน้ำเป็น “ธาตุศักดิ์สิทธิ์” สมควรแก่การนำมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของพิธีกรรมกระทำสัตย์สาบาน
ส่วนในคติพราหมณ์-ฮินดู น้ำมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ “พระวรุณ” หนึ่งในเทพกลุ่ม “อาทิตย์” (วรุณาทิตย์) ซึ่งเป็นเทพสำคัญยิ่งในสมัยพระเวท ชาวอารยันโบราณนับถือพระวรุณว่าเป็นเทพผู้รักษากฎแห่งจักรวาล ในหัตถ์ของพระองค์ถือบ่วงบาศก์สำหรับลากคอผู้กระทำผิดไปลงทัณฑ์ อีกทั้งยังประทับอยู่ในวิมานอันมีประตูนับพัน สามารถเสด็จมาหามนุษย์ได้โดยง่าย มีสายพระเนตรว่องไวแหลมคม ไม่ว่ามนุษย์ผู้ใดรู้สึกนึกคิดเช่นไรก็ทรงทราบโดยฉับพลันทันที ทำให้ไม่มีผู้ใดสามารถต้านทานเดชานุภาพทัณฑกรรมแห่งพระวรุณได้เลย จึงเป็นไปได้มากที่ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ-พระวรุณ-และการลงทัณฑ์จะเป็นต้นเค้าหนึ่งของการแช่งน้ำสาบาน นอกจากนี้แล้วพระวรุณยังเป็นเทพแห่งลมและฝน ในโองการแช่งน้ำจึงอัญเชิญพระองค์มาเป็นองค์พยานคอยจับตาดูผู้คิดคดต่อพระมหากษัตริย์ด้วยในความตอนที่ว่า “ลมฝนฉาวทั่วฟ้า ช่วยดู”ร่วมกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูพระองค์อื่นๆ และปวงผีทั้งหลายด้วย
นอกเหนือจากความคิดความเชื่อทั้งของชนชาติไทและชาวอารยันโบราณ ผู้เขียนคิดว่าธรรมชาติของน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ประการแรกด้วยเหตุว่าน้ำเป็นของเหลวที่มนุษย์สามารถดื่มเข้าไปในร่างกายได้โดยตรง อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นของไหลคล้ายกับ “เลือด” ในร่างกาย วิธีคิดเบื้องหลังการกระทำสัตย์สาบานด้วยการดื่มน้ำจึงน่าจะมาจากคุณสมบัติของน้ำนั้นเอง นำมาซึ่งทัณฑทรมานของผู้ทรยศอันเนื่องมาแต่การดื่มน้ำ ได้แก่ “บ่ซื่อน้ำตัดคอ ตัดคอเร็วให้ขาด”หมายถึง น้ำล่วงผ่านลำคอเมื่อใดก็ให้กลายเป็นของมีคมตัดคอเมื่อนั้น อีกทั้งเมื่อน้ำตกถึงท้องก็ขอให้ “บ่ซื่อน้ำหยาดท้อง เป็นรุ้ง”คือให้น้ำกลายเป็นเหยี่ยวจิกกินอวัยวะภายใน และยังขอให้น้ำกลายเป็นสิ่งแหลมคม “เจาะพุงใบแบ่ง”ให้ได้รับความเจ็บปวดทรมานด้วยการถูกน้ำเจาะทะลวงผ่าแบ่งท้องออกเป็นส่วน ๆ
อีกประการหนึ่ง จากการที่น้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยการดำรงชีวิตอันจะขาดเสียมิได้ ในโองการแช่งน้ำได้กล่าวว่าหากใครดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้วกระทำการไม่ซื่อก็จะมีทุกข์เดือดร้อนจนถึงแก่ชีวิตด้วยไม่สามารถอุปโภคบริโภคน้ำได้ตามปกติตามความกล่าวว่า “อย่าอาศัยแก่น้ำ จนตาย”ซ้ำยังมีอันตรายเพราะ “น้ำคลองกรอกเป็นพิษ”ซึ่งขยายความให้เห็นว่าไม่ใช่เฉพาะ “น้ำพระพิพัฒน์สัตยา” ที่ดื่มเข้าไปเท่านั้นที่จะเป็นโทษเป็นภัยแก่ผู้ตระบัดสัตย์ แม้กระทั่ง “น้ำที่มิใช่น้ำสาบาน” ก็จะกลายเป็นอาวุธลงทัณฑ์ไม่ต่างจากน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเลยแม้แต่น้อย
ในตอนหน้าซึ่งจะเป็นตอนจบของข้อเขียนชุดนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงโทษทัณฑ์ประการอื่น ๆ นอกเหนือจาก “ทัณฑ์จากน้ำ” ที่ได้กล่าวแล้ว ขอท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามต่อไป
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. อ่านโองการแช่งน้ำ ฉบับวิเคราะห์และถอดความ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.
ปฐม หงษ์สุวรรณ. ตำนานพระธาตุของชนชาติไท: ความสำคัญและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๘.
ภาษาอังกฤษ
Van Gennep, Arnold. The Rites of Passage. Chicago: The University of Chicago Press, 1960.
Wilkins. W.J. Hindu Mythology. New Delhi: Rupa Publications, 2018.