xs
xsm
sm
md
lg

บ่ซื่อน้ำตัดคอ : โทษทัณฑ์ผู้ผิดน้ำพระพิพัฒน์สัตยาใน โองการแช่งน้ำ ตอนที่ 3

เผยแพร่:   โดย: ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ



ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ
อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (คติชนวิทยา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิชาการอิสระ


๓.
โทษทัณฑ์ของผู้ตระบัดสัตย์ไม่เพียงแต่จะมาจากฤทธานุภาพของน้ำพระพิพัฒน์สัตยาบันดาลให้เป็นไปเท่านั้น หากยังเนื่องด้วยอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งในโองการแช่งน้ำได้โอมอ่านอัญเชิญให้มาเป็นองค์พยานการกระทำสัตย์สาบานแต่ละครั้งด้วย ได้แก่ พระวิษณุ (พระนารายณ์) พระศิวะ (พระอิศวร) พระพรหม อันเป็นเทพเจ้าสูงสุดทั้ง ๓ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระรัตนตรัย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕๐๐ พญาวสวดีมาร (ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นพระโพธิสัตว์) พระอินทร์ พระสกันธกุมาร พระยม ท้าวจตุโลกบาล เทวดาทั้งปวงในฉกามาวจรสวรรค์ เทพเจ้าประจำภูเขาสำคัญ ๆ ของจักรวาล ปู่เจ้าสมิงพราย พระพนัสบดีหรือผีเจ้าป่า ศรีพรหมรักษ์ ยักษ์กุมาร ผีด้ำหรือผีบรรพบุรุษ ตลอดจนฝูงผีทั้งหลายที่สถิตอยู่ทั้งบนบก ในน้ำ และในอากาศ

เหล่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากความเชื่อ “พราหมณ์-พุทธ-ผี” ได้กลายเป็น “ผู้จับตาดู” การกระทำของข้าราชการผู้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาว่าสุจริตหรือไม่ จึงยากที่การกระทำทรยศจะหลุดรอดสายตาของเทพเจ้า พระ และผีทั้งหลายไปได้ ในโองการแช่งน้ำระบุอย่างชัดเจนว่าผู้ใดก็ตามที่บังอาจคิดร้ายต่อเบื้องพระยุคลบาทหากไม่ถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น “พาจกจากซึ่งหน้า” หมายถึงลากตัวไปลงนรกในทันทีด้วยลักษณาการอันน่าอนาถ คือ “ควานแควนมัดศอก หอกดิ้นเด้าเท้าถก หลกเท้าให้ไปมิทันตาย หงายระงมระงม ยมบาลลากไป ไฟนรกปลาบปลิ้นดิ้นพลาง เขาวางเหนืออพิจี” แล้ว ก็จะมีภยันตรายกล้ำกรายชีวิตเป็นนานัปการ ได้แก่ ถูกแร้งกาบินมาจิกลูกนัยน์ตาแตก อยู่บนบกได้รับอันตรายจากเสือ หมี แรด หมา งูพิษ อยู่ในน้ำมีภัยด้วยจระเข้ ซ้ำคลื่นน้ำยังจะกลายเป็นเปลวไฟไหม้ผลาญ มิฉะนั้นก็ตายด้วยคมหอกดาบอาวุธ ถูกไฟไหม้ตาย ต้องกินไฟต่างอาหาร นอนในเรือนก็หาได้เป็นสุขไม่เพราะหลังคากลายเป็นดาบลงทิ่มแทง ถูก “ฟ้ากระทุ่มทับลง แผ่นดินปลงเอาชีพไป” หรือก็คือถูกฟ้าผ่า-ธรณีสูบ ไม่ว่าจะเงยหน้าขึ้นฟ้าหรือก้มหน้าลงดินก็ขอให้ตายทั้งสิ้นในระยะเวลาอันสั้น “ให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันในสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี” ตลอดจน “อย่าให้มีสุขสวัสดีเมื่อใด”

อนึ่ง เรื่องโทษทัณฑ์จากการผิดต่อน้ำพระพิพัฒน์สัตยา โดยเฉพาะที่เกิดแก่ผู้คิดคดทรยศต่อพระบรมราชจักรีวงศ์นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม เคยตั้งข้อสังเกตว่านอกเหนือจาก “แรงแช่ง” ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งระบุชื่อในโองการแช่งน้ำแล้ว ยังมาจากความศักดิ์สิทธิ์ของพระแก้วมรกต และจากพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่ละรัชกาลซึ่งทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่น่าสนใจ คือ อาจารย์ได้อ้างถึงชะตากรรมของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๕๗๕ ไว้ดังนี้ว่า “มีผู้กล่าวอ้างบ่อยๆ ทั้งจากการเล่าขานและการตีพิมพ์เป็นบทความว่า คณะราษฎรที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นล้วนมีอันเป็นไปแทบทุกคน โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่ตายในต่างประเทศ”

นอกจากประเด็นนี้แล้ว อาจารย์ยังกล่าวเลยไปถึงนักวิชาการ-นักการเมืองบางจำพวกที่เรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนต่อรัฐสภาด้วยโดยเรียกคนกลุ่มนั้นว่า “นักวิชาการเด็กทารก” เพราะหารู้ไม่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ทุกพระองค์ล้วนเสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยาร่วมกับข้าราชบริพารทั้งสิ้น (ดังมีหลักฐานกล่าวไว้ใน พระราชกรัณยานุสร และ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และหนังสือ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พ.ศ. ๒๕๑๒ ของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล แม้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็เคยเสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระราชพิธีสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ด้วยเช่นกัน - ผู้เขียน)

ในประการดังกล่าวผู้เขียนเห็นพ้องกับอาจารย์ศรีศักรเรื่อง “แท้จริงแล้วเหนือพระองค์ท่าน (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว - ผู้เขียน) ยังมีอำนาจสูงสุดขึ้นไปอีก คืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เหนือธรรมชาติและเหนือความเป็นพระสมมติเทวราช” จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ “ลดพระองค์” ลงมาสาบานกับอำนาจทางโลกย์ (secular power) อย่างรัฐสภาแต่ประการใด ในเมื่อทรงถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ถวายสัจจาธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชอาณาจักรแล้ว

ท้ายที่สุดนี้ไม่ว่า “คำแช่ง” จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะมีจริงหรือไม่อย่างไรก็ตาม ผู้เชียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเจตนาและการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งย่อมจะต้องส่งผลต่อบุคคลนั้นอยู่แล้วไม่ช้าก็เร็ว ผู้ใดก็ตามที่ “ทำผิดคิดคด” ทรยศต่อชาติบ้านเมือง มีมิจฉาทิฏฐิมุ่งร้ายต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ย่อมจะประสบแต่ความวิบัติเสื่อมทรามในอนาคตอย่างแน่นอน

บรรณานุกรม
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชกรัณยานุสร พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ตอนว่าด้วยพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย (พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตน ราชกุมารี โปรดให้พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดามรกฎ รัชกาลที่ ๕ เมื่อปีวอก ๒๔๖๓), ๒๔๖๓.
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. อ่านโองการแช่งน้ำ ฉบับวิเคราะห์และถอดความ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.
ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง (๒๕๑๒). พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พ.ศ. ๒๕๑๒. กรุงเทพฯ: มปท. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลโท อ่อง โพธิกนิษฐ ม.ว.ม, ป.ช., ท.จ.ว ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๒), ๒๕๑๒.
ศรีศักร วัลลิโภดม. “เปิดประเด็น: เหนือในหลวงยังมีพระแก้วมรกต.” ใน จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๙๕ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๕๕).



กำลังโหลดความคิดเห็น