เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีนั้น พระองค์เองและผู้ตามเสด็จต้องเปลี่ยนภาพพจน์ของตัวเองหลายอย่าง เพื่อไม่ให้คนยุโรปใช้อ้างว่าเป็นพวกบ้านป่าเมืองเถื่อนที่จะต้องเข้ามาช่วยปกครองให้เจริญเท่าเทียมกับตน อีกทั้งระหว่างเดินทางไปในเรือแรมเดือน ก็ต้องอาศัยช่วงเวลานี้ปรับตัวไปด้วย และทรงมีพระราชหัตถ์เลขาเป็นระยะตั้งแต่ออกเดินทาง พระราชทานมายังสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงรักษาราชการแทนพระองค์ แต่ก็ทรงเล่าเรื่องที่ทรงเผชิญด้วยพระอารมณ์ขัน ไม่ได้ทรงถือเป็นความลำบากหรือความทุกข์แต่อย่างใด
การเตรียมตัวไปยุโรปในคราวนี้ อันดับแรกคือทุกคนจะต้องเปลี่ยนทรงผมจาก “ทรงมหาดไทย” หรือที่เรียกกันว่า “ทรงหลักแจว” ที่กร้อนรอบหัวไว้ตรงกลางเป็นวงกลมแล้วแสกกลางออกเป็นสองข้าง ซึ่งนิยมกันมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่ฝรั่งเห็นว่าเป็นทรงตลก จึงทรงให้ทุกคนไว้ผมยาวแบบฝรั่งก่อนไป ให้เขาเห็นว่าเราก็มีอะไรที่ไม่ได้แตกต่างไปจากพวกเขา ทำให้ผมทรงมหาดไทยที่ครองความนิยมมาหลายศตวรรษต้องหมดไปในสมัยรัชกาลที่ ๕
อีกอย่างที่เป็นภาพพจน์ที่สำคัญก็คือ “ฟันดำ” เนื่องจากกินหมากกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเช่นกัน ทำให้ยางหมากจับฟันจนเป็นสีดำ อีกทั้งคนกินหมากยังมีคำอ้างเข้าข้างตัวไว้ว่า “ฟันดำคือฟันคน ฟันขาวคือฟันหมา” เพราะสัตว์ทั้งหลายก็ฟันขาวกันทั้งนั้น แต่ความจริงนั้นสีฟันของคนกินหมากก็ไม่เชิงดำ แต่เป็นสีแดงแก่เช่นเดียวกับสีเนื้อหมาก ในบทกวีเนิพนธ์เรื่อง “อิเหนา” ของ ร.๒ ก็ยังกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“ทนต์แดงดั่งแสงทับทิมเพริศพริ้มเพรารับกับขนง”
ฝรั่งก็คงเจะเห็นเป็นเรื่องแปลกอีกเหมือนกัน ถ้าคนไทยมีสีฟันไม่เหมือนคนตะวันตก จึงต้องเลิกกินหมากให้ได้ก่อนไป และต้องขัดฟันให้ขาวไม่เหลือคราบดำ
แต่คนกินหมากก็เหมือนคนสูบบุหรี่ เป็นเรื่องยากอยู่ไม่น้อย ความจริงยางหมากที่จับฟันนั้นก็มีข้อดีอยู่ตรงที่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุ อีกทั้งหมากและใบพลูยังมีฤทธิ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ทำให้ร่างกายสดชื่น คนกินหมากจึงไม่ค่อยหงุดหงิด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเองก็ทรงเลิกเสวยหมากได้ลำบาก และทรงขัดพระทนต์เองด้วยถ่านในระหว่างการเดินทางไม่ให้เหลือคราบดำ ทรงมีพระราชหัตถ์เลขาถึงพระบรมราชินีนาถตอนหนึ่งว่า
“...ได้ลงมือเอาถ่านถูฟัน มันเค็มๆคลื่นไส้ ต้องเอาทั้งดุ้นเข้าถูพอบางๆออกไปได้ และเห็นขาวซีกเดียว อยู่ข้างจะเบื่อเต็มที พรุ่งนี้หมอจะรับจัดการ ลืมตัวจะเรียกหมากกินร่ำไป ตั้งแต่แม่เล็กไปแล้วได้กิน ๒ คำเท่านั้น...”
พระราชหัตถเลขาฉบับนี้ลงวันที่ ๗ เมษายน ร.ศ. ๑๑๖ หลังจากพระราชินีมาส่งเสด็จที่ท่าราชวรดิฐในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๕๐ เป็นเวลา ๑๑ วัน
ต่อมาในวันที่ ๙ เมษายน ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเรื่องหมากอีกครั้งว่า
“...ยังอดหมากไม่ได้ วันนี้กิน ๒ คำแล้ว เรื่องฟันประดักประเดิดเต็มที อ้ายแฉ่งบอกตำราให้เอาหมากแห้งเผาไฟถู ยังไม่ได้ลองดู หมอแกว่าฉันฟันขาวดูเป็นหนุ่มขึ้น เหมือนอายุสัก ๓๐ กรมสมมติแกก็ว่าเหมือนกัน...”
ส่วนเรื่องการแต่งกายนั้น ตอนไปอินเดียทรงออกแบบเสื้อนอกแบบไทยให้ช่างอินเดียตัดเป็นฉลองพระองค์ต้นแบบไว้แล้ว ไม่เปิดอกแบบฝรั่ง แต่มีกระดุมติดตลอด คอตั้ง ไม่ต้องผูกเน็กไทให้ยุ่งยาก ส่วนผ้านุ่งยังให้ใช้แบบโจงกระเบนรักษาเอกลักษณ์ไทย ไม่นุ่งกางเกงตามฝรั่ง แต่การเดินเท้าเปล่านั้นจะถูกหาว่าป่าเถื่อน จึงให้ใส่รองเท้า ทั้งยังมีถุงเท้ายาวขึ้นมาถึงใต้เข่า ดูเก๋ไก๋ขึ้นมามาก บอกตัวตนในความเป็นไทย ไม่ตามฝรั่งไปทุกฝีก้าว
อีกเรื่องที่สำคัญก็คือภาษา คนไทยเริ่มเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ แล้ว ในการไปยุโรปครั้งนี้หลายคนก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ระหว่างการเดินทางจึงเป็นช่วงสุดท้ายที่ต้องฝึกให้หนักเพื่อเตรียมใช้จริง ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า
“...บรรดาคนที่มารื่นเริงสบายหมด เว้นแต่ต้องมีเย็บปากหลายคน เพราะตั้งข้อบังคับว่า ถ้าอยู่ที่ไหนๆต้องพูดภาษาอังกฤษหมด ถ้าพูดภาษาไทยปรับ...”
“...ข้อบังคับที่ให้พูดอังกฤษ ทำให้คนนิ่งไปเป็นอันมาก แต่ดูตั้งใจเรียนด้วยกันทุกคน...”
ระหว่างที่เดินทางนั้น ยังมีปัญหาอีกอย่าง คือคลื่นลมที่เรือพระที่นั่งต้องเผชิญ ทรงเล่าว่า
“...พอกินข้าวยังไม่ทันแล้ว คนหล่นไปทีละคน ๒ คนจนหมดโต๊ะ ฉันเองรู้สึกไม่สบาย ลองลงไปอ่านหนังสือตามเคยเถอะ พออ่านสักประเดี๋ยวก็ตาลาย มันไม่เป็นแต่เทมาข้างๆ มีเดาะขึ้นยุบลง หนังสืออยู่ไม่ตรงตาได้ เวียนหัวคลื่นไส้ ลงหลับตาระงับ กำลังเพลินๆจนจะหลับ โครมเดียวเก้าอี้ที่นอนอยู่เลื่อนเข้าไปกระแทกกับเตียงโครม เดชะบุญยกแขนทัน หาไม่ก็แขนหัก เลยเห็นไม่เป็นการ ต้องขึ้นเตียงนอนเพราะหนาวเป็นกำลัง คราวนี้อะไรต่ออะไรตกโครมครามตึงตังไปหมด สักครู่ทำทีเหมือนจะค่อยๆเรียบ ฤามันง่วงหลับไปเองไม่ทราบ รู้สึกตัวขึ้นมาหัวไหลโกรกๆจะตกเตียง ต้องเกาะแน่น โคมไฟฟ้าตกโครม โต๊ะข้างที่นอนฟาดกับเตียงปึงๆ จนกระโถนที่ตั้งอยู่บนนั้นกระดอนมาตกบนพนักแตก ตะโกนเรียกจ่ายวด ตัวเลยไปกระแทกเก้าอี้โครม เห็นไม่เป็นการ กลับมาที่นอน กว่าจะขึ้นไปบนนั้นได้ ๓ เที่ยว เหมือนกับในทะเลเล่นน้ำชายหาด พอขึ้นเตียงได้เลยนอนบริกรรมว่าอะไรแตกหักช่างมัน เราหัวไม่แตกแล้วกัน
ถ้าจ่ายวดหนวกหูเต็มทนเข้าคงตื่นเอง คราวนี้มันยิ่งหนักขึ้น อ้ายเก้าอี้นอน ๒ ข้างวิ่งเข้ามาโดนเตียงนอน ผลัดกันทีละโครม อ้ายบานตู้ก็ว่าเสียงตังๆเรื่อยมาดี อ้ายโต๊ะข้างที่นอนก็ตีกรับกับเตียง อ้ายลิ้นชักตู้เสื้อผ้าก็ไหลเข้าไหลออกครืดคราดๆ กระโถนที่แปลงเป็นกระถางเฟินก็สีซอครู่คร่าไม่หยุด นี่เป็นดนตรีในห้องฉัน
ยังนอกห้องเสียงบานเหล็กปังๆน้ำซ่าๆนานดังโครม บานประตูรูต่างไม่ว่าอะไรมันดังก้องไปหมด ฉันนอนหลับตาเฉย ลืมขึ้นไม่ได้หมุนไปหมด จนจ่ายวดทนหนวกหูไม่ได้เดินเข้ามาเอง มาจับตัวได้ใช้เสียเกือบตาย อะไรที่ควรโยงฉีกผ้าออกโยง อะไรที่ควรจีมเอาผ้าจีม จัดกันเป็นนานจึงได้เบาเสียงที่ดัง แต่คลื่นไม่สงบ พอจ่ายวดออกไป อะไรโครมใหม่อีก จนปวดท้องเยี่ยวก็กลั้นจนท้องแข็ง หิวก็ไม่มีอะไรจะกิน เรียกก็ไม่ได้ยินกัน หมดท่าโดดออกไปห้องนอก เห็นจานส้มวางอยู่ ขย้ำสัก ๒ สกันหมดจาน น้ำไม่มีกิน โดดกลับเข้ามานอนดูดจนปากจืดไปเอง
นับเป็นการผจญภัยที่ไม่คิดว่าพระมหากษัตริย์จะต้องประสบถึงขั้นนี้ แต่พระพุทธเจ้าหลวงกลับทรงเล่าด้วยพระอารมณ์ขัน ไม่มีความรู้สึกว่าทรงเป็นทุกข์กับเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเลย