ในการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แม้จะเป็นการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเสียเนื้อ แต่ก็มีเสียงปืนพกนัดหนึ่งดังขึ้นที่วังบางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานที่น่าเกรงขามที่สุดในยุคนั้น แต่ถูกกลบด้วยเสียงปืนกลรถถัง ซึ่งเสียงปืนชุดนี้เกิดขึ้นขณะที่ พ.ต.พระประศาสน์พิทยายุทธ ๑ ใน “๔ ทหารเสือคณะราษฎร” ได้นำกำลังทหารหมวดหนึ่งซึ่งมีนักเรียนนายร้อยเป็นกำลังหลัก พร้อมกับรถถัง ๖ คัน บุกเข้าไปควบคุมตัว จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้เป็นที่คร้ามเกรงของคนทั้งแผ่นดิน ซึ่งขณะนั้นนอกจากทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ยังทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกด้วย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่วังไกลกังวล หัวหิน ซึ่งเบื้องหลังของเสียงปืนชุดนี้ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช อีก ๑ ใน “๔ ทหารเสือคณะราษฎร” ได้บันทึกไว้อยู่ใน “เบื้องแรกประชาธิปไตย” จัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยในปี ๒๕๑๖ มีความตอนหนึ่งว่า
“...ขบวนของพระประศาสน์นำ เต็มไปด้วยนักเรียนนายร้อยที่สมัครไปด้วย พวกนักเรียนนายร้อยเป็นกำลังอันสำคัญที่สุดในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พวกนี้แสดงความยินดีปรีดาทั่วกัน และสมัครไปทุกแห่งไม่ว่าจะไปทำอะไรที่ไหน
งานสำคัญที่พระประศาสน์ฯได้รับให้ไปทำนั้น คงทำความหนักใจให้กับพระประศาสน์เป็นอย่างมาก เพราะความสำคัญและความใหญ่โตของกรมพระนครสวรรค์ฯนั้น ย่อมใหญ่หลวงเกินกว่าที่แม้จะถวายตัวเข้าเฝ้าก็ทั้งยาก พระประศาสน์ฯจะต้องไปเชิญตัวมาให้ได้ งานนี้จึงเป็นงานสำคัญที่ฝ่าความตายและจะต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณเป็นอย่างมาก
พระยาสีหราชเดโชชัย (เสนาธิการทหาร) อีกผู้หนึ่งที่เป็นบุคคลเข้มแข็งและไม่ยอมคนง่ายๆ มีผู้แจ้งว่าพระยาสีหราชฯมีปืนติดตัวเสมอ ทำงานที่โต๊ะก็ระมัดระวังไม่ยอมทิ้งปืน พระประศาสน์ฯย่อมจำเป็นต้องใช้ความกล้าเป็นพิเศษ...”
พระประศาสน์ฯได้วางแผนทุกตอนอย่างรอบคอบ ในสมัยนั้นมีสถานีตำรวจอยู่ที่บางขุนพรหมด้วย อาจจะเป็นภัยตลบหลังได้ จึงเข้ารวบตัวนายร้อยตำรวจโทหัวหน้าสถานีไปในขบวน เมื่อผ่านประตูวังบางขุนพรหมเข้าไปสะดวกแล้ว จึงให้นายร้อยตำรวจโทผู้นั้นเข้าไปกราบทูลเชิญกรมพระนครสวรรค์ฯออกมาภายใน ๑๐ นาที
ความจริงแล้วในเช้าวันนั้น กรมพระนครสวรรค์ฯก็ทรงทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้าแล้ว ภายในวังบางขุนพรหมจึงมีนายตำรวจผู้ใหญ่และข้าราชบริพารมารวมกันอยู่มาก แต่ไม่สามารถสั่งการอะไรได้ เพราะสายโทรศัพท์ถูกตัด
ระหว่างที่พระประศาสน์ฯกำลังรออยู่นั้น ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นภายในตัวตึก ๑ นัดโดยไม่ทราบว่าใครยิง เป็นเสียงปืนนัดแรกของวันที่ ๒๔ มิถุนา ทันทีที่เสียงปืนดังขึ้น รถเกราะรุ่น “ไอ้แอ้ด” ซึ่งเป็นรถเกราะรุ่นเล็กที่ใช้อยู่ในเวลานั้น ก็พ่นกระสุนปืนกลไป ๑ ชุด เป็นการกำหราบไม่ให้ฝ่ายในวังใช้ปืน ขณะเดียวกันพระประศาสน์ฯก็สั่งเตรียมสู้ ให้นักเรียนนายร้อยขยายแถว และให้รถเกราะถอยออกไปบริเวณขอบสนามคุมเชิงไว้ เมื่อรอจนครบ ๑๐ นาทีแล้วยังไม่มีวี่แววจากข้างใน พระประศาสน?ฯจึงสั่งให้นักเรียนนายร้อยติดดาบปลายปืน ส่วนหนึ่งให้เดินดาหน้าเข้าไปด้านหลัง อีกส่วนหนึ่งให้รักษาการณ์อยู่ที่เดิมโดยไม่ให้ปฏิบัติการใดๆหากยังไม่มีคำสั่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการประทะ
เมื่อพระประศาสน์ฯนำกำลังไปจนถึงเรือนริมแม่น้ำ จึงเห็นกรมพระนครสวรรค์ฯและข้าราชบริพารชุมนุมกันอยู่ประมาณ ๑๐๐ คนบางคนถืออาวุธเตรียมสู้ พระประศาสน์ฯเข้าไปทำความเคารพด้วยมือสั่นเทา ไม่กล้าสบพระเนตร เพราะตัวเองก็มีความใกล้ชิดจนถือได้ว่าเป็นคนของวังบางขุนพรหม ทรงจัดพิธีแต่งงานและรดน้ำให้เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา แต่ก็จนใจที่ถูกคณะมอบหมายให้รับภารกิจนี้ กรมพระนครสวรรค์ฯทรงทอดพระเนตรอย่างไม่หวาดหวั่น และรับสั่งถาม
“ตาวัน แกต้องการอะไร”
“ขอเชิญเสด็จไปประชุมที่พระที่นั่งอนันต์ฯ มีข้าราชการทหารพลเรือนรออยู่แล้วพ่ะย่ะค่ะ” พ.ท.พระประศาสน์ฯ ทูลด้วยเสียงสั่น
เมื่อทรงทราบว่าไม่มีทางหลีกเลี่ยง จึงรับสั่งว่า “ขอฉันแต่งตัวก่อน”
“ไม่ได้ ต้องเสด็จเดี๋ยวนี้พ่ะย่ะค่ะ” พระประศาสน์ฯ พยายามทำเสียงให้หนักแน่นเด็ดขาด เพราะสถานการณ์ยามนั้น หากโอ้เอ้ต่อไปอาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้
“ถ้างั้นก็ยิงฉันให้ตายเสียเอาไหมล่ะ” ทรงประชดด้วยเสียงอันดัง พระประศาสน์ฯทำวันทยาหัตถ์และทูลด้วยเสียงสั่นว่า “ขอเชิญเสด็จขึ้นรถพ่ะย่ะค่ะ”
ในนาทีนี้ บันทึกของพระยาทรงสุรเดช กล่าวไว้ว่า
“ระหว่างนั้นได้เกิดเหตุมิงามขึ้น คือปรากฏว่านายพลตำรวจโทผู้หนึ่งควักปืนโคลท์ขนาด ๙ มม.ออกมาจะยิงพระประศาสน์ฯ แต่เป็นคราวเคราะห์ดี นายทหารเรือพวกของพระประศาสน์ซึ่งยืนคุมเชิงอยู่ใกล้ๆเห็นก่อน จึงได้รีบปัดปืนนั้นโดยทันที พระประศาสน์ฯจึงเก็บปืนได้”
เมื่อทรงเห็นว่าเรื่องจะบานปลาย จึงทรงยอมขึ้นรถเกราะไปกับพระประศาสน์ฯ ในฉลองพระองค์ชุดกางเกงแพรสีขาว เสื้อกุยเฮง ซึ่งเป็นชุดบรรทม นำไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคม และส่งมอบการอารักขาให้กับรองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี คนใกล้ชิดวังบางขุนพรหมอีกผู้หนึ่ง ซึ่งขณะนั้นยังเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดกรมไปรษณีย์
ในหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปไตย” ได้นำบันทึกของ พลโทประยูร ภมรมนตรี คนสำคัญอีกคนของคณะราษฎร ซึ่งได้บันทึกตอนนี้ไว้ว่า
“...ในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ตอน ๘.๐๐ น. พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ กับ ร.อ.หลวงนิเทศฯ รน. ได้นำจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯมาในรถถัง ส่งให้ข้าพเจ้าที่หน้าประตูพระที่นั่งฯ ข้าพเจ้าได้ถวายคำนับเชิญเสด็จให้เดินเข้าไปในพระที่นั่ง ทรงจ้องหน้าข้าพเจ้าด้วยพระเนตรดุเดือดแล้วตรัสว่า
“ตายูร แกเอากับเขาจริงๆ พระยาอธิกรณ์ประกาศบอก ฉันไม่เชื่อ ฉันตั้งชื่อทำขวัญให้เมื่อแกเกิด ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก โกรธฉันที่ไม่ไปเผาศพพ่อแกใช่ไหม”
แล้วทรงเหลือบดูหน่วยทหารที่พลุกพล่านเต็มลานพระบรมรูป ข้าพเจ้ากราบทูลว่า
“ถ้าบิดาของข้าพระพุทธเจ้าสามารถทราบได้คงจะเศร้าใจมาก”
ในที่สุดข้าพเจ้าก็เร่งให้เสด็จลงจากรถถัง ทรงสำทับข้าพเจ้าว่า
“จะเอาฉันไปไหน อย่าเล่นสกปรกนะ”
ข้าพเจ้ากราบทูลยืนยันว่า “เชิญเสด็จไปประทับในรถพระที่นั่งเถอะพะย่ะค่ะ รับรองว่าไม่มีภัยประการใด ข้าพเจ้าอยู่เฝ้าด้วยตนเอง”
เมื่อเข้าไปประทับ ด้านหน้ามีนายทหารชั้นนายพันเอก อาทิ พันเอกพระยาทรงสุรเดช พระยามหาณรงค์ และหลายท่านพยายามเข้าห้อมล้อม ข้าพเจ้าจึงให้ ร.อ.ประเสริฐ สุขสมัย รน. ที่ควบคุมหมู่ปืนกลทหารเรือควบคุมตัวไว้ แล้วปิดพระทวารดังลั่น ท่าทางของข้าพเจ้าตอนนั้นคงจะป่าเถื่อนอยู่มาก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ทรงจ้องมองข้าพเจ้าด้วยความหวาดระแวง พอข้าพเจ้าสำนึกตัวได้ ก็วางปืนแล้วก้มลงกราบขอพระราชทานอภัย ทรงรับสั่งถามเป็นคำแรกว่า
“ใครเป็นหัวหน้า พระองค์บวรเดชใช่ไหม”
ข้าพเจ้ากราบทูลว่า “ไม่ใช่” ทรงถามว่า “แล้วใครเล่า”
ข้าพเจ้าตอบว่า “ยังกราบทูลไม่ได้พะย่ะค่ะ”
ทรงกริ้วข้าพเจ้า รับสั่งหนักแน่นว่า
“ตายูร แกเป็นกบฎ โทษถึงต้องประหารชีวิต”
ข้าพเจ้ากราบทูลว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นกบฎ ไม่ได้ล้มพระราชบัลลังก์ ถ้าข้าพระพุทธเจ้าเกิดพลาดพลั้งทำการไม่สำเร็จ ต้องถูกประหารแน่ แต่วันนี้คณะข้าพระพุทธเจ้าทำการสำเร็จ ใต้ฝ่าพระบาทไม่มีอันตรายประการใด”
แล้วทรงรับสั่งต่อไปว่า
“พวกแกที่ยึดอำนาจนี้ต้องการอะไร มีความประสงค์อะไร ต้องการมีปาลีเมนต์ มีคอนสติติวชั่นใช่ไหม”
ข้าพเจ้าตอบว่า “ใช่” ทรงประทับนิ่งอยู่อีกครู่หนึ่ง แล้วรับสั่งถามว่า
“แล้วมันจะดีกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้หรือ ตายูร”
ข้าพเจ้ากราบทูลต่อไปว่า
“อารยะประเทศทั่วโลกก็มีปาบีเมนต์กันทั่วไป ยกเว้นแต่อาบิสซีเนีย”
ทรงถามข้าพเจ้าว่าอายุเท่าไหร่ ข้าพเจ้าทูลว่า “๓๒” ก็รับสั่งว่า
“เด็กเมื่อวานซืนนี่เอง นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ แกจะต้องเจอปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีครองเมือง ๑๕๐ ปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี่ปกครองกันอย่างไร อ้ายคณะของแกจะเข็นครกขึ้นเขาไหวรึ”
ข้าพเจ้ากราบทูลต่ไปว่า
“ก็ทรงปกครองให้ประชาชนงมงายกันมาตลอดนับร้อยนับพันปี จะมาเอาดีหวังการยึดอำนาจการปกครองในวันนี้ ให้ลงรูปลงรอยราบรื่นไปทีเดียวคงเป็นไปไม่ได้ คงต้องยึดอำนาจกันต่อไปอีกหลายทอด เรื่องคอนสติติวชั่นและปาลีเมนต์ มันก็เริ่มกันได้สักวันหนึ่ง ถ้าไม่นับหนึ่งก็ไปนับสิบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินงานวันนี้ยังไม่มีผู้ใดเสียชีวิต”
แล้วทรงถามว่า “แกเรียนอะไร” ข้าพเจ้ากราบทูลว่า “เรียนรัฐศาสตร์จากปารีส” ทรงสำทับว่า
“อ้อ มีความรู้มาก แกคงรู้จักโรเบสเปียมาราและกันตอง เพื่อนน้ำสบถฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตินเฉือนคอกันทีละคน จำได้ไหม ฉันสงสาร ฉันเลี้ยงแกมา นี่เป็นกบฎรอดจากอาญาแผ่นดินไม่ถูกตัดหัว แต่จะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่า แกจำไว้”
ข้าพเจ้ากราบทูลไปว่า
“ทราบเกล้าฯแล้ว ตามประวัติศาสตร์มันจะต้องเป็นเช่นนั้น อย่างมากแค่ตาย”
นับตั้งแต่เช้าตรู่ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ จอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้มีอำนาจบารมีในแผ่นดิน ก็ต้องหมดอำนาจลงตั้งแต่เช้าวันนั้น ถูกเชิญให้เสด็จโดยรถไฟขบวนพิเศษ ไม่จอดทุกสถานีล่องลงใต้ นิราศจากสยามมุ่งไปประทับที่ปีนังระยะหนึ่ง ก่อนจะไปประทับที่เกาะชวา ในความปกครองของฮอลันดา
ที่เมืองบันดุง บนเกาะชวา ซึ่งก็คือประเทศอินโดเนเซียขณะนี้ เมื่อไปตามถนนเนลันต์ถึงตำบลจีปะกันตี จะพบวงเวียนแห่งหนึ่งเรียกกันว่า “บูนตะรันเซียม” แปลว่า “วงเวียนสยาม” ด้านหนึ่งของวงเวียนนี้จะมีอาคารโอ่อ่าตั้งอยู่ในบรรยากาศเงียบสงบ และมักจะก้องกังวาลด้วยเสียงปี่พาทย์ลาดตะโพนในทำนองเพลงไทยเดิมอย่างเพราะพริ้ง นั่นก็คือ “ตำหนักประเสนเบา” ที่พำนักของเจ้าฟ้าผู้นิราศ ซึ่งเคยทรงอำนาจทั้งการทหารและการปกครอง แต่พระองค์ก็ทรงมีความสุขกับการดนตรี และเสียงดนตรีเช่นนี้ก็เคยกระหึ่มวังบางขุนพรหมเป็นประจำ แม้พระองค์จะสิ้นอำนาจทางการทหารและการปกครองไปแล้ว ก็ยังไม่ยอมวางความสุขจากการดนตรี ทั้งยังทรงทำให้ระดับผู้นำของเมืองบันดุงมาดื่มด่ำกับดนตรีไทยเป็นประจำด้วย พระองค์ทรงได้รับคำยกย่องว่าเป็น “ราชาสังคีตไทย” และได้ทรงนิพนธ์เพลงไทยเดิมอมตะไว้หลายเพลง
จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทับอยู่ที่ชวา ๑๒ ปีก็สิ้นพระชนม์ที่ตำหนักประเสนเบา เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๙๓ ด้วยพระโรคพระวักกะและพระทัยพิการ พระชนมายุได้ ๖๓ ชันษา ได้รับการอัญเชิญพระศพมาพระราชทานเพลิงที่พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๙๓
ถ้า “นายกรัฐมนตรีผู้นิราศ” จะรู้แพ้รู้ชนะใช้ชีวิตสงบแบบนี้บ้าง ชีวิตในบั้นปลายก็จะมีความสุข และจะทำให้มีคนคิดถึงตลอดไปได้อีกมาก