xs
xsm
sm
md
lg

เกณฑ์ในการตัดสินว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

มาตรา 112 เป็นกฎหมายเก่าแก่ มีมานานนับร้อยปี ดังปรากฏในประมวลกฎหมายลักษณะอาญา รัตนโกสินทร์ศก 127 ที่ประกาศใช้เมื่อปีพุทธศักราช 2451 มาตรา 98 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดทะนงองอาจแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหสีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปีและให้ปรับไม่เกินกว่า 5,000 บาทด้วยอีกโสดหนึ่ง

มาตรา 112 แท้จริงแล้วมูลฐานความผิดคือการหมิ่นประมาทสำหรับคนธรรมดา แต่เป็นการดูหมิ่นพระเกียรติและเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นการขู่ฆ่าหรือขู่ทำร้ายร่างกายคนธรรมดาเช่นกัน แต่ที่ต้องมีกฎหมายบทบัญญัติเป็นการเฉพาะเพราะไม่ทรงอยู่ในฐานะที่จะทรงฟ้องร้องด้วยพระองค์เองได้ และเป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งรัฐ

แม้มาตรานี้จะเขียนกำหนดไว้ชัดเจนแต่เกณฑ์ในการตัดสินอาจจะไม่ชัดเจน และทำให้ยากในการทำงานของพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายประการ

ประการแรก มาตรา 112 คุ้มครองปกป้องอดีตพระมหากษัตริย์

เราจะเห็นได้ว่าม็อบปลดแอกและคณะราษฎร (2563) ตลอดจนแกนนำสามสัส ได้พยายามพูดดูหมิ่นพระเกียรติและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เป็นอย่างมาก

ถึงกับมีการเขียนหนังสือนวนิยายโดยใส่รายการอ้างอิงผิดๆ โดยนายณัฐพล ใจจริง ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเป็นเจ้าของ ในชื่อขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ซึ่งใส่ร้ายป้ายสีในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างชัดเจน และประชาชนชาวไทยจำนวนมากมายที่โกรธและไม่พอใจการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในหลวงรัชกาลที่ 9

หลายคนอาจจะเกรงว่ามาตรา 112 จะไม่อาจจะปกป้องพระเกียรติและพระบรมเดชานุภาพของอดีตพระมหากษัตริย์เช่นในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ ข้อนี้ขอเรียนยืนยันว่ามีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 6374/2556 (องค์คณะผู้พิพากษา นายศิริชัย วัฒนโยธิน, นายทวีป ตันสวัสดิ์, นายพศวัจณ์ กนกนาก) ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า มาตรา 112 คุ้มครองและหมายรวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนี้

"ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ ดังได้กล่าวในเบื้องต้นมาแล้วว่าประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาตลอด แม้จะเสด็จสวรรคตไปแล้วประชาชนก็ยังเคารพพสักการะ ยังมีพิธีรำลึกถึงโดยทางราชการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี ดังนั้น หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้" ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น


ประการที่ 2 เกณฑ์ในการตัดสินว่ามีมูลฐานความผิดในการหมิ่นพระเกียรติหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรืออาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์นั้น ย่อมต้องง่ายกว่าการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เนื่องจากมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2560 และทุกฉบับที่ผ่านมาได้ระบุไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ และวรรคสอง ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้

ยกตัวอย่างเช่นการด่านักการเมืองว่าเป็นคนเนรคุณ อาจจะไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท เพราะนักการเมืองเป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้แต่อย่างใด แต่การพูดใส่ร้ายหรือกล่าวหาพระมหากษัตริย์ในทางที่เป็นลบหรือหยาบคายแม้แต่นิดเดียวก็สามารถเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ได้โดยง่ายกว่ามาก

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติพงษ์ กมลธรรมวงษ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง ได้เขียนตำรา การคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน ในปี 2563 ซึ่งใจความหลักคือการตีความเกณฑ์ในการตัดสินความผิดมาตรา 112 ของกฎหมายอาญาต้องพิจารณาร่วมกับ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกันตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย ทั้งนี้มาตรา 112 ไม่ใช่ความผิดที่กระทำต่อบุคคลแต่อย่างเดียว แต่เป็นกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงแห่งรัฐ

พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไปผู้ใดจะละเมิดมิได้ด้วยการที่พระองค์ทรงเป็น ประมุขของประเทศ จึงได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ

ผู้ที่ละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ย่อมมีความผิดตามกฎหมายอาญาโดยมีโทษหนักกว่ากรณีทั่วไป

การบัญญัติคุ้มครองพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยนั้นปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ถือเป็น กฎหมายสูงสุดภายในรัฐจึงได้รับการคุ้มครองอย่างมั่นคงในฐานะ ที่เป็นประมุขของประเทศที่มีความเป็นพิเศษแตกต่างจากคนทั่วไป

ภายใต้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและถือเป็น บทกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามไม่ใช่บทบัญญัติที่เป็นเพียงการแสดงออกถึงความศักดิ์สิทธิ์โดยการประกาศเท่านั้น

ความคุ้มครองในฐานะอันเป็นที่สักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้มิได้คุ้มครองเฉพาะตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่ คุ้มครองไปถึงส่วนตัวหรือส่วนพระองค์ ด้วยดังจะเห็นได้ว่าการใช้ถ้อยคำว่า The Person of the King หรือองค์พระมหากษัตริย์อันเป็นการคุ้มครองที่รัฐธรรมนูญถวายไว้มากกว่าประมุขของรัฐที่เป็นประธานาธิบดี


ขอยกตัวอย่างฎีกาบางฎีกา ที่แสดงให้เห็นว่าความผิดฐาน 112 ขณะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีประชาชนยืนตรงจำเลยกล่าวว่า เฮ้ยเปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง และไม่ยืนตรง ถ้อยคำที่กล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 112 (ฎีกาที่ 1294/2521) เพราะคำกล่าวและพฤติกรรมที่ว่าเป็นการไม่แสดงความเคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์

ประการที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ การดูหมิ่นหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรืออาฆาตมาดร้ายพระบรมวงศานุวงศ์อันใกล้ชิด นอกเหนือจากพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ย่อมเข้าข่ายความผิดมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญและมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาได้ด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติพงษ์ กมลธรรมวงษ์ ได้เขียนไว้ในตำราว่า ในช่วงเวลาของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2534 ได้เกิดมีประเด็นการอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าควรใช้คำใดที่จะเหมาะสมกว่ากันระหว่างคำว่า “พระมหากษัตริย์” กับ “องค์พระมหากษัตริย์”

ซึ่งท้ายที่สุดจะพาก็ลงมติให้ใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีต ตามที่นายสมภพ โหตระกิตย์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้อภิปรายชี้ให้เห็นถึงความหมายที่แตกต่างกันอย่างมากและความจำเป็นที่ต้องคงถ้อยคำไว้ตามเดิมดังปรากฎในรายงานประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 37 ปี 2534 เป็นพิเศษ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2534 หน้า 557 ถึง 559

ในมาตรา 6 นี้เป็นเรื่องตัวองค์พระประมุขของรัฐที่รัฐธรรมนูญจะต้องให้ความคุ้มครองที่จะไม่ให้ผู้ใดมาละเมิดมิได้ เพราะเป็นที่เคารพสักการะเพราะ ฉะนั้นการที่ตัดคำว่าองค์ไปนี้ทำให้แยกไม่ออก คำว่าพระมหากษัตริย์นั้นเองหมายถึงตัวสถาบันซึ่งสถาบันหรือตัวพระองค์ท่าน หากตัวสถาบันจะละเมิดมิได้นั้นคงจะไม่ได้ตำแหน่งละเมิดไม่ได้ แต่ต้องตำแหน่งตัวบุคคลที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งนั้น ซึ่งกระผมเห็นว่าคำว่าองค์นี้มีความสำคัญอยู่มากไม่น่าที่จะตัดออกไป เพราะเหตุที่ว่าคำนี้ได้รับพิจารณาจากคณะกรรมการรัฐธรรมนูญหลายยุคหลายสมัย และก็มองเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้คำว่าองค์พระมหากษัตริย์ เพราะเหตุที่ว่าอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ประโยคนี้จะใช้กับตัวสถาบันหรือตำแหน่งไม่ได้ต้องใช้กับตัวบุคคล เพราะฉะนั้นถึงได้แยกให้เห็นว่าองค์พระมหา กษัตริย์นั้นอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ซึ่งไม่ใช่ตัวพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นตำแหน่งหรือเป็นสถาบันชื่อสถาบันด้วยเหตุนี้เองครับ ผมเห็นว่าน่าจะคงเอาไว้ยิ่งกว่าจะไปตัด

หลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่งที่แสดงว่ามาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาและมาตรา 6 รัฐธรรมนูญให้หมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใกล้ชิดด้วยนั้นคือ

ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นพระบรมราชโองการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ความตอนหนึ่งว่า

อนึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบันมีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รองรับสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดกล่าวกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ดังที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับพระองค์หรือแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ ประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน


ประการที่ 4 เจตนาในการกระทำความผิดของมาตรา 112 และมาตรา 6 รัฐธรรมนูญ หาได้เฉพาะการหมิ่นพระเกียรติแต่ให้รวมถึงการบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งรัฐ การอ้างว่าวิจารณ์ด้วยเสรีภาพทางวิชาการหากเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งรัฐก็ต้องถือว่ามีเจตนาในการกระทำความผิด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติพงษ์ กมลธรรมวงษ์ ได้เขียนไว้ในตำราว่า

ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อดีตองคมนตรี ในตำรากฎหมายอาญาภาค 2 ตอนที่ 1 ปี 2548 พิมพ์ครั้งที่ 8 กรุงเทพฯเนติบัณฑิตยสภา หน้า 14 - 15 ได้อธิบายถึงองค์ประกอบความผิดในส่วนจิตใจคือเจตนาในการกระทำความผิดซึ่งวัตถุประสงค์ของกฎหมายมาตรา 112 นี้มุ่งคุ้มครองในเรื่องความมั่นคงของรัฐเป็นสำคัญไม่ใช่เรื่องเกียรติยศเช่นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นทั่วไปในกฎหมายอาญา

ศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด ในหนังสือกฎหมายอาญา ภาคความผิดปี 2558 หน้า 843 ได้กล่าวว่ามาตรา 112 โดยที่ความผิดฐานนี้เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไม่ใช่เกียรติ เหตุนี้ผู้ที่เหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจกระทำได้จึงไม่ใช่เหตุที่จะยกมาแก้ตัวให้พ้นผิดในความผิดฐานนี้

การแสดงความเห็นทางวิชาการแบบที่ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้กล่าวว่าเป็นเสรีภาพทางวิชาการ หากพิสูจน์ได้ว่ามีเจตนาที่เป็นภัยความมั่นคงเช่น ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
(๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

โดย การวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เคลือบแคลงด้วยเจตนายุยงให้ประชาชนปลุกปั่น เกลียดชัง มีจุดมุ่งหมายก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็สามารถเข้าข่ายมาตรา 112 ได้เช่นกัน ซึ่งต้องพิจารณาคู่ไปกับความผิดมาตรา 116

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติพงษ์ กมลธรรมวงษ์ ได้เขียนไว้ในตำราว่า การแสดงความอาฆาตมาดร้าย ได้แก่ การขู่เข็ญโดยการแสดงออกด้วยกริยาวาจาว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกายทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณก็ตาม อันมิใช่การใช้สิทธิ์ตามปกตินิยม นับเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้ทั้งสิ้น ไม่ต้องโกรธเคืองอาฆาตมาก่อนเมื่อมีการกระทำที่เป็นหมิ่นประมาทขึ้นแล้ว จะอ้างข้อแก้ตัวตามมาตราต่างๆ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหาได้ไม่ (ฎีกาที่ 51/2503) เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่พึงเคารพสักการะอยู่ในฐานะที่จะละเมิดมิได้ (ฎีกาที่ 2354/2531)

หรือกรณีนายวีระ มุสิกพงศ์ ปราศรัยการเมืองไว้กระทบกระเทียบแดกดันโดยเจตนาเปรียบเทียบว่าพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ทรงมีความเป็นอยู่สุขสบายต่างกับจำเลยที่เป็นลูกชาวนาต้องทำงานหนักซึ่งไม่เป็นความจริง แม้จะไม่เกิดผล เพราะไม่มีใครเชื่อ ก็เป็นความผิดตามมาตรา 112 (ฎีกาที่ 2354/2531) เพราะมีเจตนาที่จะหมิ่นพระเกียรติและพระบรมเดชานุภาพ

ประการที่ 5 เกณฑ์ในการตัดสินมาตรา 112 ต้องคำนึงถึงขนบธรรมเนียมและราชประเพณีที่ถวายพระเกียรติและเป็นที่เคารพสักการะด้วย เช่น จะเรียกพระเจ้าอยู่หัว ว่า วชิราลงกรณ์ ไม่ได้ เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ขนบธรรมเนียมและราชประเพณีอันเกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์มีมายาวนาน ดังปรากฏในหนังสือ ข้อพึงปฏิบัติในการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตีพิมพ์โดยสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2542 และหนังสือ รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสํานัก โดย สํานักพระราชวัง ซึ่งมีการตีพิมพ์ต่อเนื่องมาหลายสิบครั้ง


ในหนังสือสองเล่มดังกล่าว อธิบาย ราชประเพณีในการปฏิบัติตน ในการขอเฝ้า ในการกราบทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ตลอดไปจนกิริยามารยาทเมื่ออยู่หน้าพระที่นั่ง ว่าต้องมีการยืน การทำความเคารพ การถวายบังคม การหมอบกราบ หรือการถอนสายบัว อย่างไร ผู้เข้าเฝ้าต้องปฏิบัติตนอย่างไร ด้วยความเคารพอย่างไร ไปตลอดจนถึงการแต่งกาย การใช้คำราชาศัพท์ ตลอดจนธรรมเนียมและแบบแผนราชประเพณีต่างๆ

สำหรับหนังสือ รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสํานัก ได้กล่าวถึงการปฏิบัติตนในการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐพิธี ราชพิธี แม้กระทั่งการดื่มถวายพระพรหรือการจัดงานในท้องถิ่นต่างๆ ย่อมมีแบบแผนและราชประเพณีที่เหมาะสมและเหมาะควรไม่ว่าจะเป็นการวางตน ปฏิบัติตนต่อหน้าพระที่นั่งหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณพ.ศ. ๒๕๒๖ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้กำหนดไว้ในภาคผนวก 2 ว่าด้วยคำขึ้นต้น สรรพนาม คำลงท้าย ในหนังสือราชการและคำที่ใช้จ่าหน้าซอง ซึ่งหมายรวมถึงคำขึ้นต้นและคำลงท้ายในการกราบบังคมพระกรุณาไว้อย่างชัดเจน เป็นไปด้วยความเคารพสักการะและถวายพระเกียรติ

ในหนังสือเรื่อง กษัตริย์ ราชูปโภค และพระราชฐาน เขียนโดย พระยาเทวาธิราช (หม่อมราชวงศ์โป้ย มาลากุล) สมุหราชพิธี สำนักพระราชวัง ตีพิมพ์ โดยสำนักพระราชวังในปี 2548 ได้กล่าวว่า

พระมหากษัตริย์ไทยเดิมคงจะมีพระนามอย่างสามัญเป็นปกติ แต่เนื่องด้วยความเคารพ ประชาชนจึงหาออกพระนามเดิมไม่ และใช้ว่า ขุน หรือ ขุนหลวง แทน

และมีราชประเพณีการสร้างพระพุทธรูปถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน เช่น พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งประดิษฐาน ด้านหน้า ฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างถวายโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในหนังสือ การใช้ถ้อยคำและราชาศัพท์ เขียนโดยหม่อมหลวงปีย์ มาลากุล ข้าราชสำนัก ซึ่งเป็นบุตรชายของพระยาเทวาธิราช หม่อมราชวงศ์ โป้ย มาลากุล สมุหราชพิธี ตีพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ ได้เขียนไว้ว่า

ดูจะเป็นขนบธรรมเนียมของไทยไม่ว่าในสมัยไหนไม่ละลาบละล้วงต่อบุคคลที่เคารพ เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรมาภิไธยทุกพระองค์ แต่เมื่อกล่าวขานถึงพระองค์ก็ไม่กล่าวพระปรมาภิไธยออกมาตรงๆมักจะกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบ้าง พระเจ้าอยู่หัวบ้าง หรือจะเรียกครูก็ไม่กล้าเรียกตรงๆ ว่านายนั่นนายนี่ มักจะเรียกโดยมีคำว่าครูอาจารย์นำหน้า ซึ่งแสดงถึงความเคารพคารวะ ดังนั้นเมื่อจะใช้ศัพท์ในการกราบบังคมทูลหรือกราบทูลก็ใช้ศัพท์ที่แตกต่างไปจากคำที่ใช้อยู่โดยทั่วไป ตลอดจนการใช้ถ้อยคำสำนวนก็ให้แตกต่างไปอันนี้คงเป็นมูลเหตุแห่งราชาศัพท์

ดังนั้น การที่เยาวชนปลดแอกจะเรียกพระเจ้าอยู่หัว ว่า วชิราลงกรณ์ ไม่ได้ เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผิดราชประเพณีและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทย

พระยาเทวาธิราช หม่อมราชวงศ์ โป้ย มาลากุล สมุหราชพิธี ยังได้กล่าวว่า การใช้ราชาศัพท์ต้องระมัดระวังในทุกด้าน เช่น ทูลกระหม่อมชายเสด็จร้านค้า เจ้าของร้านถวายหมวกเช่นนี้ จะใช้คำว่าถวายพระมาลาไม่ได้ เพราะหมวกนั้นยังไม่เป็นของพระองค์ท่าน คำว่าฉลองพระองค์ ระวังอย่าใช้ว่าทรงฉลองพระองค์ขาสั้น เพราะฉลองพระองค์คือเสื้อ หรือคำว่าพระภูษาแปลว่า ผ้านุ่ง อย่าใช้ในกรณีแปลว่า ผ้าคลุม ต้องใช้ว่าทรงพระสนับเพลาขาสั้นและผ้าคลุมพระเกศา เป็นต้น

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เยาวชนปลดแอก คณะสามสัส และคณะราษฎร (2563) ระมัดระวังในการพูดจาปราศรัย ไม่ให้ผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และผิดมาตรา 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และหวังว่าจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวนที่ต้องทำสำนวนคดีมาตรา 112 และ 116 ทำงานได้รวดเร็ว เป็นธรรม มากยิ่งขึ้น