กลุ่มประชาคมยุโรปที่หมายมั่นปั่นมือจะเล่นงานรัสเซียด้วยการคว่ำบาตรรอบที่ 6 ซึ่งจะเน้นเรื่องเลิกนำเข้าพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมันจากรัสเซียนั้นทำท่าจะไปไม่รอด บรรดาสมาชิกก็เห็นต่าง ดูว่าถ้าขืนกระทำเช่นนั้นมีแต่เศรษฐกิจของตัวเองเท่านั้นที่จะลำบากมากกว่าที่เป็นอยู่
คำประกาศเจตนาที่จะคว่ำบาตรนำเข้าพลังงานและน้ำมันจากรัสเซียนั้นมาจากประธานกรรมาธิการยุโรปคือ นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ซึ่งย้ำหลายครั้งว่าจะต้อง พยายามตัดรายได้ของรัสเซียและกดดันให้เลิกรุกเข้าไปในยูเครน
รัสเซียส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผ่านทั้งระบบท่อส่งก๊าซ ระบบเรือขนส่งไปทั่วโลก ช่วงหลังหันมาส่งน้ำมันดิบอย่างมากให้อินเดียและจีนสร้างรายได้มากกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงหลังจากบุกยูเครน
ส่วนการขายน้ำมันให้กลุ่มประเทศที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซียนั้นให้จ่ายเป็นสกุลเงินรูเบิลผ่านธนาคารก๊าซพรอม ซึ่งจะรับทั้งเงินสกุลยูโรและแปลงสกุลเป็นรูเบิลให้บริษัทก๊าซพรอมทำให้ยุโรปก็ยังคงมีน้ำมันและก๊าซใช้อย่างต่อไป แต่มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมมากส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อสูงกว่า 10% ในหลายประเทศ
ความพยายามที่จะคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียหลายรอบแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในสัปดาห์นี้ช่วงสิ้นเดือนก็จะพยายามทำอย่างเดียวกันซึ่งดูเหมือนจะไม่มีความหมายเพราะอย่างน้อยที่สุด 3 ประเทศก็คือฮังการี สโลวาเกีย และออสเตรีย ยังจะซื้อสั่งพลังงานจากรัสเซียต่อไปเพื่อเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจ
นางฟอน เดอร์ เลเยน ซึ่งล้มเหลวในการระดมเสียงสนับสนุนเรื่องคว่ำบาตรพลังงานและน้ำมันต้องออกตัววันเสาร์ว่าจำเป็นที่ยุโรปจะต้องซื้อน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียต่อไปเพราะไม่อย่างนั้นแล้วการงดซื้อจะทำให้รัสเซียเร่งขายน้ำมันดิบและก๊าซไปสู่ตลาดนอกยุโรปด้วยราคาที่สูงกว่ามีรายได้มากกว่า เท่ากับว่ารัสเซียจะสามารถมีทุนมหาศาลจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน
นางบอกว่าด้วยเหตุนี้ยุโรปจำเป็นต้องซื้อก๊าซและน้ำมันของรัสเซียต่อไปเพื่อเป็นการตัดตอนไม่ให้รัสเซียมีรายได้จากการขายพลังงานนอกกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งลูกค้าหลักก็คืออินเดียและจีนที่สั่งเพิ่มอย่างมหาศาลนับตั้งแต่สงครามยูเครน เพราะรัสเซียคิดราคาพิเศษให้ในฐานะที่เป็นมิตรไม่ยกมือให้กับการคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ และกลุ่มประชาคมยุโรป
คำอธิบายของประธานกรรมาธิการยุโรปจึงฟังดูแล้วขาดตรรกะและเหตุผลเป็นเรื่องแก้เกี้ยว เนื่องจากไม่สามารถหยุดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียได้ โดยที่จริง แล้วแต่ละประเทศก็มีสิทธิ์ที่จะไม่นำเข้าพลังงาน ถ้าต้องการจะคว่ำบาตรรัสเซียจริงๆแต่ก็ไม่มีประเทศใดทำเช่นนั้นเพราะรู้ว่าจะเป็นการหาเรื่องใส่ตัว
นางฟอน เดอร์ เลเยน ก็ยอมรับว่ายุโรปจะต้องเจ็บหนักด้านเศรษฐกิจถ้าขาดน้ำมันและพลังงานจากรัสเซียโดยกะทันหัน ดังนั้นนางจึงอ้อมแอ้มจะพยายามผลักดันมาตรการใหม่โดยจะให้เป็นว่ายุโรปจะพยายามเลิกสั่งน้ำมันดิบจากรัสเซียภายใน 6 เดือน และเลิกสั่งน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียภายใน 8 เดือน
นี่เท่ากับว่าโอกาสที่ยุโรปจะต้องได้ใช้พลังงานราคาถูกจากรัสเซียได้อีกนานกว่าครึ่งปีโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาเรื่องขาดแคลน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในด้านราคาสินค้าที่สูงขึ้นพร้อมอัตราเงินเฟ้อ
นี่เป็นนโยบายหน้าไหว้หลังหลอกไว้ใจไม่ได้ เพราะมีแต่ราคาคุย ที่ผ่านมามาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย 5 รอบรุนแรงสุดๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบมากมายแม้รัสเซียจะยอมรับว่าลำบากก็ตามแต่มีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาลจากการส่งออกพลังงานสู่ตลาดยุโรปและตลาดทั่วไปเช่นจีน และอินเดีย
ความล้มเหลวซ้ำซากแสดงให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วแต่ละประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรปก็ต้องการเห็นแก่ตัวและผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นหลักมากกว่าจะยอมเจ็บตัว ที่ผ่านมารัสเซียมีปัญหาน้อยกว่ายุโรปทั้งที่โดนรุมกินโต๊ะโดย 47 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งนาโตประชาคมยุโรปและมีกลุ่มนอกนาโตเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น
ขณะนี้ประเทศที่ลำบากเพราะรัสเซียไม่ส่งก๊าซและน้ำมันให้คือบัลแกเรีย โปแลนด์ และฟินแลนด์ซึ่งจะต้องหาแหล่งอื่นมาเพื่อทดแทนการขาดแคลน
ปัญหาของยุโรปเรื่องการรับสวีเดนและฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกนาโตถูกขัดขวางอย่างแรงโดยผู้นำประเทศตุรกีและโครเอเชีย ซึ่งฝ่ายแรกนั้นมองว่าทั้งสองประเทศให้ที่พักพิงกลุ่มก่อการร้ายและเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลตุรกี ดังนั้น จะต้องบรรลุเงื่อนไข 5 ประการก่อนที่ตุรกีจะยอมรับให้ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกนาโต
นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจะต้องยกเลิกหลักการในการรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองโดยสวีเดนและฟินแลนด์ ขณะเดียวกันประชาชนในสองประเทศนี้ก็แสดงอาการต่อต้านการเข้าเป็นสมาชิกนาโต และมองว่าไม่มีผลประโยชน์อะไรนอกจากสร้างความตึงเครียดและความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อรัสเซียและเป็นภัยต่อความมั่นคงด้วย
สงครามในยูเครนและนำไปสู่การขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงในหลายภูมิภาคของโลกโดยเฉพาะแอฟริกาซึ่งจำเป็นต้องบริโภคข้าวสาลี ซึ่งทั้งยูเครนและรัสเซีย สามารถส่งออกได้มากถึง 30% ของความต้องการของตลาดโลกและผู้นำรัสเซียประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ประกาศว่าพร้อมที่จะให้ส่งออกข้าวสาลีจากรัสเซีย ถ้ากลุ่มประเทศยุโรปผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร
เงื่อนไขต่างๆ ของทั้งสองฝ่ายจึงไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้น สงครามยูเครนจะต้อง ยืดเยื้อต่อไปพร้อมกับความพินาศและล่มสลายของประเทศยูเครน