สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายอนุมัติงบประมาณก้อนใหญ่มากถึง 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือยูเครนในการสู้ศึกกับรัสเซียซึ่งก็เป็นแผนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ตั้งเป้าหมายหลักคือการทำลายแสนยานุภาพของรัสเซียด้านการทหารและอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธ
ถือว่าเป็นการทุ่มงบประมาณอีกครั้งนอกจากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าบุญทุ่มในการทำสงครามซึ่งส่วนหนึ่งส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอาวุธได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อการสู้รบ
เงินก้อนนี้คงไม่ใช่ก้อนสุดท้าย เพราะคาดกันว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะยืดเยื้อเป็นปี และตราบใดที่รัสเซียยังแข็งแกร่งอยู่สหรัฐและพันธมิตร 40 ประเทศคงจะทุ่มเทความพยายามทุกอย่างเพื่อเล่นงานรัสเซีย แต่จะสำเร็จหรือไม่ยังไม่มีใครประเมินได้
มาตรการคว่ำบาตรรุนแรงสารพัดที่สหรัฐฯ และพวกได้จัดการกับรัสเซียไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงตามคาด ซ้ำร้ายยิ่งทำให้รัสเซียมีรายได้เพิ่มมหาศาลจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซเข้ากลุ่มประเทศยุโรปซึ่งยังต้องพึ่งพาพลังงานสำคัญนี้
สถานการณ์ล่าสุดยูเครนได้ปิดท่อส่งก๊าซจากรัสเซียเข้ายุโรป มากเท่ากับหนึ่งในสาม โดยอ้างว่าเป็นภาวะสุดวิสัยซึ่งทางรัสเซียมองว่าผู้นำยูเครนต้องการจะเล่นงานบางประเทศในยุโรป ซึ่งคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกของนาโตและประชาคมยุโรป
ดังนั้นคนเดือดร้อนก็คือประเทศยุโรปและต้องดิ้นรนหาทางเลือกอื่นว่าจะทำอย่างไรในเมื่อยูเครนทำแสบอย่างนี้
ฝ่ายสหรัฐฯ ก็เดือดร้อนหนักจากผลของการคว่ำบาตรรัสเซียซึ่งนำไปสู่ราคาพลังงานสูงขึ้นส่งผลกระทบทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในรอบ 40 ปี ประชาชนเริ่มรู้สึกว่าผลของการคว่ำบาตรได้ตีกลับมาเล่นงานตัวเอง
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องเร่งหาคำอธิบายถึงอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้นทำให้คนอเมริกันเดือดร้อนทั่วประเทศ ส่งผลให้ความนิยมของโจ ไบเดนตกต่ำสุดขีด
จากการสำรวจความเห็นของประชาชนอเมริกัน 53% เชื่อว่าการคว่ำบาตรมอสโกได้ส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ มากกว่ารัสเซียในด้านของราคาพลังงานที่สูงขึ้นและค่าครองชีพโดยรวม ผู้บริโภคอเมริกันหมดความเชื่อมั่นในประธานาธิบดีโจ ไบเดนและสภาวะการเป็นผู้นำประเทศ
ในผลการสำรวจ 43% ของคนอเมริกันมองว่าถ้ายูเครนจะแพ้ในศึกกับรัสเซียก็ยอมรับได้
ผลสำรวจโดยสถาบันประชาธิปไตยและเอ็กซ์เพรสของอังกฤษแสดงให้เห็นว่าโจ ไบเดนมีปัญหาด้านการไม่ได้รับการยอมรับในทุกด้านของนโยบาย และร้ายที่สุดคือนโยบายต่างประเทศ ประชาชน 56% ไม่เห็นด้วยกับโจ ไบเดน ในการจัดการเรื่องต่างประเทศ มีเพียง 40% เท่านั้นที่เห็นด้วย
ในเรื่องเกี่ยวกับยูเครนมีเพียง 38% ที่เห็นด้วย กับการเป็นผู้นำของ โจ ไบเดนขณะที่ 52% ไม่ยอมรับ
ที่ผ่านมารัฐบาลของ โจ ไบเดน พยายามโยนความผิดให้รัสเซียและประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ว่าเป็นต้นตอของค่าครองชีพที่สูงขึ้นของคนอเมริกันและย้ำว่าเป็น “การขึ้นราคาของปูติน” แต่ในความเป็นจริงมีแนวโน้มให้เห็นว่าค่าครองชีพของคนอเมริกันเริ่มขยับขึ้นหลายเดือน ก่อนรัสเซียจะส่งทหารเข้าไปในยูเครน
คนอเมริกันกำลังชี้นิ้วกล่าวโทษ โจ ไบเดน ว่าเป็นต้นตอของวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจและความยากลำบากของคนอเมริกัน
ประมาณ 50% ของคนอเมริกันแสดงท่าทีว่าจะสนับสนุนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับ 42% ที่ยังบอกว่าจะเลือกพรรคเดโมแครตขณะเดียวกันผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนยังบอกว่ามีความรู้สึก “โอเค” มากกว่า “ไม่โอเค” ถ้ายูเครนจะแพ้สงครามกับรัสเซีย ผลออกมาเท่ากับ 43% ต่อ 41%
ที่สำคัญการสำรวจความนิยมแสดงให้เห็นว่า 53% ของคนอเมริกันมองว่าจะเป็นการดีถ้า โจ ไบเดน ออกไปจากตำแหน่ง ขณะเดียวกันมีเพียง 44% ที่คิดว่า โจ ไบเดน ควรอยู่ในตำแหน่งต่อไป
ผลการสำรวจเช่นนี้น่าจะทำให้โจ ไบเดนและพรรคเดโมแครตหายใจไม่ทั่วท้องเมื่อต้องเผชิญกับการเลือกตั้งปลายปีนี้ขณะที่ความนิยมต่ำลงทุกด้าน เพราะคนอเมริกันมองว่าผู้นำประเทศควรจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในประเทศมากกว่าจะไปยุ่งกับเรื่องต่างประเทศ
คนอเมริกันยังมองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ อันดับสี่เท่านั้น หรือ 16% เมื่อเทียบกับเกาหลีเหนือ 18% อิหร่าน 20% และจีน 40%
โพลยังระบุว่าช่วงแรกนั้นคนอเมริกันเห็นด้วยกับมาตรการคว่ำบาตร แต่ตอนนี้ความเห็นเช่นนั้นลดลงอย่างมากเพราะ โจ ไบเดน ไปสร้างความหวังว่ามาตรการคว่ำบาตรจะทำให้เงินรูเบิลของรัสเซียไร้ค่าและรัสเซียจะสิ้นสภาพความเป็นชาติมหาอำนาจแต่ผลปรากฏตรงกันข้าม ค่าเงินรูเบิลแข็งค่ามากกว่าก่อนที่รัสเซียจะปฏิบัติการพิเศษด้านการทหารในยูเครน
ปัญหาของ โจ ไบเดน ก็คือจะทำอย่างไรในการสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้นำยุโรป ซึ่งประชาชนในยุโรปกำลังพิจารณาว่าผลสุดท้ายตัวเองจะต้องเดือดร้อนเพราะไปร่วมกับสหรัฐฯ ในการทำสงครามเศรษฐกิจและอาวุธเพื่อช่วยเหลือยูเครน