ไมค์ กัลลาเกอร์ สมาชิกสถาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรครีพับลิกัน จากรัฐวิสคอนซิน อ้างว่าการที่สหรัฐฯ เร่งรีบส่งมอบอาวุธแก่ยูเครน เผาผลาญคลังอาวุธมหาศาลที่สะสมมานานหลายปี กัดเซาะศักยภาพของวอชิงตันในการจัดหาอาวุธแก่ไต้หวันไปพร้อมๆ กัน ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งกับจีน
"ในแง่ของคลังอาวุธของเรา เรากำลังเหลืออยู่ในระดับต่ำ" กัลลาเกอร์ สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านอาวุธของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์เมื่อวันศุกร์ (6 พ.ค.) "เราเพิ่งเผาผลาญคลังจรวดเจฟลินตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และมันไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่ว่า เรากำลังเดินหน้าพยายามช่วยเหลือชาวยูเครนในการเอาชนะในสงครามยูเครน แต่ความสำคัญของมันยังมีอีกด้าน เนื่องจากในขณะเดียวกันเรากำลังพยายามปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปพร้อมๆ กัน"
"พวกเขากำลังต้องการเข้าถึงระบบอาวุธเดียวกันนี้บางส่วน และง่ายๆ เลย ในตอนนี้เราไม่มีสต๊อกเพื่อทดแทนสิ่งที่เราใช้ไปในยูเครน" เขากล่าว
จนถึงตอนนี้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส่งมอบความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครนไปแล้วเกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์ และเวลานี้ ไบเดน กำลังกดดันให้สภาคองเกรสผ่านแพกเกจช่วยเหลือเคียฟรอบใหม่อีก 33,000 ล้านดอลลาร์ ในนั้น 20,000 ล้านดอลลาร์ เป็นทุนสำหรับอาวุธแก่ยูเครนและรูปแบบการสนับสนุนทางทหารอื่นๆ
นอกจากนี้ ไบเดน ยังถูกคาดหมายว่าจะลงนามในร่างกฎหมายให้ยืม-เช่า (Lend-Lease Act of 2022) ในวันจันทร์ (9 พ.ค.) คืนชีพกฎหมายยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เปิดทางให้สหรัฐฯ ส่งออกอาวุธไปยังยูเครนโดยไม่จำกัดปริมาณ
จรวดเจฟลิน ที่ทาง กัลลาเกอร์ พูดถึงนั้น เป็นจรวดประทับบ่าต่อต้านรถถัง ซึ่งสหรัฐฯ ส่งมอบไปให้แก่ยูเครนแล้วมากกว่า 5,000 ลูก เพนตาพอนไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะว่าแท้จริงแล้วพวกเขามีอาวุธชนิดนี้อยู่ในคลังแสงมากน้อยแค่ไหน แต่นักวิเคราะห์รายหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมอาวุธที่ได้รับเงินทุนจากศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ บอกกับสื่อมวลชนเมื่อเดือนที่แล้ว คาดคะเนว่ามันน่าจะเป็นสัดส่วนราวๆ 1 ใน 3 ของสต๊อกสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์กล่าวเพิ่มเติมว่าราว 1 ใน 4 ของคลังอาวุธจรวดต่อต้านรถถังสตริงเจอร์ ก็ถูกส่งมอบแก่ยูเครนไปแล้วเช่นกัน
ก่อนหน้าคำเตือนของ กัลลาเกอร์ ทาง อดัม สมิธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากวอชิงตันของพรรคเดโมแครต และไมค์ โรเจอร์ ส.ส.จากแอละแบมา จากพรรครีบพับลิกัน ซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการด้านอาวุธของสภาผู้แทนราษฎร ได้เขียนหนังสือถึง พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ ให้สั่งการเติมเต็มจรวดพิสัยใกล้เหล่านี้และลงทุนในอาวุธทดแทนที่มีความทันสมัยยิ่งขึ้น
บรรดาบริษัทผู้ผลิตอาวุธก็กำลังรอคอยสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจากเพนตากอนเพื่อยกระดับกำลังผลิตเช่นกัน บริษัทเหล่านี้ซึ่งราคาหุ้นของพวกเขาพุ่งขึ้นเกือบ 60% นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ บอกกับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อเดือนที่แล้วว่า พวกเขาต้องการเงินเพิ่มเติมสำหรับการลงทุน เพื่อรับประกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน
ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน ในการจัดหาและส่งมอบอาวุธจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนแก่ยูเครน ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าอาวุธที่สหรัฐฯ ส่งมอบให้นั้นไปถึงมือยูเครนจริงๆ มากน้อยแค่ไหน ในขณะที่รัสเซียเคยประกาศว่าขบวนอาวุธเหล่านั้นเป็น "เป้าหมายโดยชอบธรรม" และพวกเขาได้ทำลายคลังอาวุธที่ตะวันตกส่งมอบแก่ยูเครนไปแล้วหลายแห่ง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหรัฐฯ ได้ยอมรับกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าแม้แต่อเมริกาเองก็สุดจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับอาวุธมหาศาลที่ส่งไปช่วยยูเครน
แหล่งข่าวหลายรายเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า สหรัฐฯ มีหนทางในการติดตามอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมถึงจรวดต่อต้านรถถังและจรวดต่อต้านอากาศยานที่ส่งไปสนับสนุนยูเครนเพียงไม่กี่วิธี สาเหตุหลักเพราะอเมริกาไม่มีทหารในยูเครน อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่ามันคือความเสี่ยงที่รัฐบาลไบเดนเต็มใจเสี่ยง
(ที่มา : ฟ็อกซ์นิวส์/อาร์ทีนิวส์)