สงครามรัสเซียยูเครนได้ผ่านไปกว่า 2 เดือน โดยรัสเซียเป็นเป้าหมายของสงครามเศรษฐกิจจากการคว่ำบาตรโดยโลกตะวันตกมีสหรัฐฯ เป็นตัวนำ มีอังกฤษเป็นลูกคู่ ประชาคมยุโรป 27 ประเทศเป็นพวก หวังจะให้รัสเซียสิ้นสภาพเพราะไปรุกรานยูเครน
เป็นการเล็งผลเลิศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และพันธมิตรที่หวังว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะทำให้รัสเซียหมดสิ้นหนทางในการอยู่รอด ระบบต่างๆเชื่อมโยงการเงิน การธนาคาร การค้าถูกปิดล้อมโดยพลังเศรษฐกิจของ 40 ประเทศ
รัสเซียสู้ในสมรภูมิรบด้วยอาวุธกับยูเครนซึ่งมีสหรัฐฯ และพันธมิตรสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งอาวุธและปัจจัยต่างๆ สหรัฐฯ ประกาศให้ความช่วยเหลือก้อนใหญ่ล่าสุดสูงถึง 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมหาศาลภายในช่วงเวลาอันสั้น
เป้าหมายสำคัญที่ประกาศโดยสหรัฐฯ คือต้องการให้รัสเซียสิ้นสภาพความเป็นชาติมหาอำนาจ ให้เศรษฐกิจล่มสลายทั้งระบบ และหวังว่าผู้นำเครมลิน วลาดิมีร์ ปูติน จะถูกประชาชนขับไล่ออกจากตำแหน่งหลังจากที่เป็นผู้นำมานาน 22 ปี
แน่นอนความเสียหายเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย รัสเซียเป็นฝ่ายถูกรุมกินโต๊ะโดยกลุ่มนาโตและประชาคมยุโรปรวมถึงประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ เท่ากับว่าปูตินต้องสู้รบด้วยสติปัญญากับ 40 ผู้นำประเทศชั้นนำ
แล้วผลของการสู้รบในสงครามอาวุธและการคว่ำบาตรเศรษฐกิจเป็นอย่างไร
จากการประเมินของนิตยสาร “ดิ อีโคโนมิสต์” ซึ่งตีพิมพ์ในอังกฤษได้ชี้ให้เห็นชัดว่ามาตรการคว่ำบาตรซึ่งรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนโดยฝ่ายโลกตะวันตก “ไม่สามารถสร้างความเสียหาย” เชิงถาวรให้กับรัสเซียได้เลย
นอกจากนั้นยังมีสัญญาณชัดเจนว่ารัสเซียสามารถฟื้นตัวผงาดขึ้นจากผลกระทบจากการคว่ำบาตร ด้วยมาตรการตั้งรับ เช่นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงอัตราแลกเปลี่ยนของเงินรูเบิล ที่เสียหายย่อยยับ บ้านเมืองพินาศคือยูเครน
นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ รายงานว่ารัสเซียมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซ ผู้บริโภครัสเซียเริ่มจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิม อัตราดอกเบี้ยเริ่มขยับลง ค่าเงินรูเบิลกลับมาแข็งแกร่งกว่าระดับก่อนโดนคว่ำบาตรด้วยซ้ำ
“เศรษฐกิจของรัสเซียได้กลับมายืนผงาดอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งซึ่งย้อนกลับการพยากรณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะเผชิญกับความหายนะหรือล่มสลายเพราะมาตรการคว่ำบาตรสารพัดโดยสหรัฐฯ และพันธมิตร” ดิ อีโคโนมิสต์รายงาน
ระบบการควบคุมบัญชีและอัตราดอกเบี้ยให้สูงหลังจากมาตรการคว่ำบาตรทำให้สกุลเงินรูเบิลกลับมาแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินรูเบิลอยู่ที่ 65.8 ต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่ากว่าวันที่ 23 กุมภาพันธ์เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 81 รูเบิลต่อดอลลาร์
รัสเซียยังสามารถชำระหนี้ที่เป็นรูปแบบของพันธบัตรกู้ในสกุลเงินตราต่างประเทศแม้จะถูกกดดันโดยสหรัฐฯ และอังกฤษให้จนแต้มถึงขั้นอาจจะต้องผิดนัดการชำระเงิน แต่รัสเซียสามารถจัดการเรื่องหนี้สินได้อย่างสบาย
คนรัสเซียยังใช้เงินและใช้ชีวิตเหมือนเดิมในคาเฟ่ บาร์ ร้านอาหารเหมือนกับก่อนช่วงสงคราม นอกจากนั้นธนาคารกลางของรัสเซียยังลดดอกเบี้ยจาก 17% เหลือ 14% ในปลายเดือนเมษายน การประเมินก่อนหน้านี้โดยโลกตะวันตกว่าเศรษฐกิจของรัสเซียจะถดถอย จีดีพีจะต่ำกว่า 15% นั้นเป็นการมองโลกในแง่ร้ายไปเสียแล้ว
เป้าหมายหลักของมาตรการคว่ำบาตรที่ประกาศโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็คือต้องการให้ขีดความสามารถทางด้านอุตสาหกรรมของรัสเซียนั้นตกต่ำในช่วงหลายปีจากนี้ไป และยังเชื่ออีกว่ามาตรการคว่ำบาตรจะทำให้รัสเซียเสียหายด้านเศรษฐกิจโดยฝ่ายโลกตะวันตกจะไม่ได้รับผลกระทบ
ในความเป็นจริงโลกตะวันตกโดยสหรัฐฯ และยุโรปกลับต้องประสบสภาวะลำบากด้านเศรษฐกิจอย่างแรง อัตราเงินเฟ้อได้ทะยานสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนตั้งแต่ปี 1981 ซ้ำร้าย จีดีพีได้หดตัวตลอด 1 ไตรมาสอันเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซ
น่าแปลกที่โจ ไบเดน กลับโทษรัสเซียว่าเป็นต้นตอของอัตราเงินเฟ้อซึ่งสูงระหว่าง 7.5 ถึง 8.5% ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ทั้งที่รัสเซียนั้นเป็นเหยื่อของการคว่ำบาตรและเป็นผู้ถูกกระทำโดยโลกตะวันตก
ผลร้ายที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรปได้เป็นผลดีต่อรัสเซียซึ่งมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซมูลค่าอย่างน้อย 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในระยะสองเดือน เท่ากับว่าแต่ละเดือนรัสเซียมีรายได้ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์
ประชาคมยุโรป 27 ประเทศยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะทำอย่างไรกับอนาคตของตัวเองในด้านการลดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียเพื่อไม่ให้รัสเซียมีรายได้ แต่ต้องลำบากเพราะไม่สามารถหาแหล่งน้ำมันและก๊าซมาทดแทนได้
นี่เป็นผลพวงของการหลับหูหลับตาเดินตามก้นสหรัฐฯ เหมือนเด็กว่านอนสอนง่ายโดยไม่ดูว่าก่อนจะคว่ำบาตรรัสเซียนั้นมีทางเลือกอื่นหรือไม่สำหรับแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซ ชาวยุโรปต้องรับสภาพของสินค้าราคาแพงขึ้นและขาดแคลนเพราะรัสเซียเป็นแหล่งส่งออกอาหารสำคัญโดยเฉพาะข้าวสาลี
สหรัฐฯ โดยโจ ไบเดน ไม่มีทางออกให้ประชาคมยุโรปและตัวเองยังแสวงหากำไรจากการส่งออกอาวุธให้ยูเครนและประเทศอื่นๆ ที่ถูกปั่นหัวให้เกิดความกลัวสงคราม โดยสหรัฐฯ ยังหากินกับความลำบากของเพื่อนอีกด้วย