xs
xsm
sm
md
lg

แรงกดดันที่ถาโถมของชัชชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ชัยชนะของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่นั้นไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะโพลทุกโพลนั้นบอกว่าชัชชาติจะเป็นผู้ชนะมาตลอด แต่คะแนนที่ได้กว่า 1.3 ล้านมากกว่าผู้สมัครทุกคนที่เหลือรวมกันนั้น สะท้อนว่า ชัชชาติเป็นความหวังของคนกรุงเทพฯ ทุกฝ่าย

แม้ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมจะพยายามรณรงค์ให้เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์เทให้คนใดคนหนึ่งในฝ่ายเดียวกันเพื่อไม่ให้เสียงแตกเพื่อต่อต้านชัชชาติ แต่ผลลัพธ์ก็บอกว่ายุทธศาสตร์นั้นไม่สามารถส่งผลได้ เพราะรวมคะแนนทุกคนในฝ่ายอนุรักษ์ก็ยังแพ้ชัชชาติอย่างขาดลอยอยู่ดี และผลคะแนนก็สะท้อนว่า คนในฝ่ายอนุรักษ์ส่วนหนึ่งก็ลงคะแนนให้ชัชชาติด้วยซ้ำไป

เพราะหากเทียบกับคะแนนในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วของ กทม.คะแนนของพรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลหายไปมาก สะท้อนความตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ทำให้ฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยลิงโลดโห่ร้องว่านี่เป็นสัญญาณถึงความล่มสลายของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่ถูกส่งโดยคนกรุงเทพฯ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า 8 ปีผ่านไป ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนว่าการรัฐประหารคือความล้มเหลว

“เราเชื่อว่า สิ่งที่เราทำคือการดันเพดานทางความคิดสำหรับกรุงเทพฯ ด้วย จากนี้ไป สิ่งนี้จะเป็นแรงผลักให้กรุงเทพฯ ขับเคลื่อนต่อไป กลายเป็นเมืองที่คนเท่ากันที่เราฝันถึง และเราจะไม่หยุด เราจะสรุปบทเรียนเพื่อปรับปรุงและทำงานหนักต่อไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนไว้วางใจพวกเรามากขึ้นๆ ครับ” พิธา กล่าว

อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งนำหาเสียงให้ ส.ก.พรรคเพื่อไทย และสามารถชนะเลือกตั้งเข้าได้ถึง 20 คนบอกว่า ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนว่าประชาชนมีความหวังและกำลังต้องการความเปลี่ยนแปลง ปริมาณที่ท่วมท้นนี้คือเสียงดังอันทรงพลังที่เราต้องฟังและปฏิบัติตามประชาชนได้พูดออกมาแล้ว

ส่วนทักษิณก็ไม่รอช้าบอกว่านี่เป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย ประชาชนสะท้อนให้เห็นถึงความที่เขาอยู่กับทุกข์ยากมายาวนานจากผลการชัตดาวน์กรุงเทพฯ

ชัยชนะอย่างท่วมท้นของชัชชาติ และการกวาดที่นั่ง ส.ก.ของ 2 พรรคทำให้สิ่งที่พวกเขาพูดไม่ได้เกินเลยความจริง

แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายรัฐบาลจะต้องตระหนักถึงผลลัพธ์ที่คนกรุงเทพฯ สะท้อนออกมาด้วยการเทคะแนนให้ชัชชาติ และเลือก ส.ก.ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเข้ามาถึงกว่า 70% ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าที่พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะแลนด์สไลด์

มวลชนฝั่งอนุรักษนิยมที่หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันก็จะต้องตระหนักต่อสภาพความเป็นจริงของสังคมว่านี่อาจจะเป็นการส่งสัญญาณต่อการเมืองภาพใหญ่ในอนาคต และอาจจะเปลี่ยนแปลงไปถึงรากเหง้าของสังคม

แม้ในวันที่ทราบผลว่าชนะเลือกตั้งชัชชาติจะแสดงตัวให้เห็นว่าเขาเป็นผู้ว่าฯ ของทุกคนและพร้อมทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้เพราะชัชชาติน่าจะรู้ตัวดีว่าเขาแบกความหวังของคนกรุงเทพฯ ทั้งหมดเอาไว้ ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มการเมืองฝั่งใดฝั่งหนึ่ง

เมื่อพิจารณาประวัติของชัชชาติแล้ว เขาไม่ใช่นักการเมืองที่สุดโต่งไปทางขั้วใดขั้วหนึ่ง แม้จะเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของระบอบทักษิณ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็มีความพยายามเผยแพร่ประวัติตระกูลของเขาและฝ่ายแม่ว่า เป็นตระกูลที่มีความจงรักภักดี เพื่อต่อต้านพวกที่กล่าวหาว่า เขาสนับสนุนฝ่ายล้มเจ้า เพราะมีภาพเขาไปชูสามนิ้วกับแกนนำรุ่นเด็กที่กำลังท้าทาย

นอกจากนั้นมีการปล่อยภาพชัชชาติเข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่โพสต์ไว้ตั้งแต่ปี 2556 เป็นภาพวัยหนุ่มที่ชัชชาติเข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล และในหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่า ทุนไม่ได้กำหนดมาให้กลับมารับราชการชดใช้ทุนนั้น เพราะไม่ว่าจะอยู่เอกชนหรือราชการก็สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้เหมือนกัน

จริงๆ แล้วชัชชาติก็ไม่ได้ตอบโต้กับข้อกล่าวหาต่างๆ ด้วยตัวเอง เขาแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการหาเสียงเพื่อสานฝันของตัวเอง โดยไม่ตอบโต้กับวาทกรรมทางการเมืองแม้ว่าจะถูกขุดคุ้ยเรื่องผลงานในระหว่างเป็นรัฐมนตรีก็ตาม

เชื่อว่าสิ่งที่ชัชชาติจะต้องแสดงออกเป็นอันดับแรกคือ การพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่ได้เป็นร่างทรงของใคร แต่อาสาเข้ามาบริหารกรุงเทพมหานครด้วยความมุ่งมั่นของตัวเอง แม้จะมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า เขาไปขอทักษิณเพื่อลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ และทักษิณเห็นด้วยจนเกิดความขัดแย้งในพรรค แต่แน่นอนคนที่ใหญ่สุดในพรรคนี้ก็คือ ทักษิณ

รวมทั้งต้องแสดงออกให้เห็นว่า เขาไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนไหนดังที่เขาร่ำลือกัน

การเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครงัดเอานโยบายมาประชันกันจำนวนมาก จนหลายคนตั้งคำถามว่า นโยบายเหล่านั้นอยู่ในขอบเขตอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.หรือ เช่นเดียวกันชัชชาติที่มีนโยบายออกมาถึง 214 นโยบาย เช่น เรื่องการจัดการมลพิษใน กทม. การแก้ปัญหารถติดลดปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคล ปรับปรุงสภาพพื้นที่แวดล้อม กทม.ให้ปลอดภัย การแก้ปัญหาน้ำท่วม ทำให้ กทม.โปร่งใสไม่มีส่วย เป็นต้น

จริงในอดีตคน กทม.แม้มีโอกาสเลือกผู้ว่าฯ มานานก็ไม่ได้คาดหวังอะไรในตัวผู้ว่าฯ มากนัก แต่ดูเหมือนกับการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่อย่างนั้นอีกแล้ว เพราะเห็นได้ชัดว่า คนคาดหวังกันมากว่าผู้ว่าฯ คนใหม่จะสามารถทำ กทม.ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยไม่ได้ใส่ใจหรอกว่าอำนาจที่แท้จริงของผู้ว่าฯ นั้นจะมีแค่ไหน

เมื่อบวกกับภาพลักษณ์ที่สะท้อนผ่านมีมในฐานะผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี คนจำนวนหนึ่งก็คาดหวังว่าชัชชาติจะเป็นผู้ว่าฯ ที่ลงมาทำงานแบบลุยไม่ใช่นั่งอยู่ในหอคอยงาช้าง

แน่นอนว่าคนที่คาดหวังกับชัชชาติมากก็คือคนรุ่นใหม่ที่มีช่วงอายุ 18 ปีถึง 40 ปีและกว่า 6 แสนคนที่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นครั้งแรก แม้ว่าเราจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนช่วงวัยไหนลงคะแนนให้ใคร แต่ดูคะแนนจากชัชชาติได้รับก็คงจะพอสรุปได้ว่า พวกเขาลงคะแนนให้ชัชชาติเป็นส่วนใหญ่

ชัชชาติรับปากว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้วมีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง หน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ต้องดูแลคนกรุงเทพฯ ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไร เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างไร พ.ร.บ.ชุมชนสาธารณะ จะต้องอำนวยความสะดวก เก็บขยะ ห้องน้ำ น้ำดื่ม แพทย์ฉุกเฉิน กล้องซีซีทีวี ความปลอดภัย ต้องดูแลให้เต็มที่

น่าสนใจว่าเมื่อเป็นผู้บริหารส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใต้อำนาจรัฐ ชัชชาติจะแสดงตัวอย่างไรกับการชุมนุมทางการเมืองที่วันนี้มีเป้าหมายไปไกลถึงการเรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบ

ไม่ว่าเราจะเคยรู้สึกอย่างไรกับชัชชาติ จะชอบเขาหรือไม่ก็ตาม จะลงคะแนนเลือกเขามาหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเขาจะเป็นคนของใคร วันนี้ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กทม.ของทุกคนอย่างที่เขากล่าวเอาไว้ คะแนนกว่า 1.3 ล้านที่คนกรุงเทพฯ ไปเลือกเขาอย่างถล่มทลายนี่แหละที่จะเป็นแรงกดดันมหาศาลให้เขาต้องทำทุกอย่างที่รับปากเอาไว้ในการหาเสียง

แต่ถ้าเขาทำสำเร็จนี่จะเป็นสะพานที่ส่งทอดอนาคตทางการเมืองของเขาที่ยิ่งใหญ่กว่านี้

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น