เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องขออนุญาตชวนไปว่ากันเรื่อง “วิกฤตอาหาร”เอาไว้ก่อนล่วงหน้าน่าจะเหมาะกว่า คือเรื่องทำนองนี้ ฟังๆ แล้วอาจรู้สึกไม่ถึงกับหนักหนา-สาหัสมากมายสักเท่าไหร่ ยิ่งในยุคที่สื่อโทรทัศน์ ทีวี อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ต่างเต็มไปด้วยเรื่องราวของอาหาร-การกิน ชวนไปแ-ก ไปรับประทาน ชนิดแทบดูไม่หวาด-ไม่ไหว เผลอๆ ปาเข้าไปถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละช่อง แต่ละชาแนล เอาเลยก็ว่าได้ การนึกภาพความอดอยาก หิวโหย ความไม่มีอะไรจะกิน ไม่มีอะไรจะรับประทาน มันเลยออกจะพร่าๆ มัวๆ สำหรับผู้คนยุคนี้-สมัยนี้ อยู่พอประมาณ...
แต่ถ้าหากเป็นยุคก่อน ยุคอดีต ย้อนหลังไปเป็นพันๆ ปี หรือยุคที่ลูกหลาน “อับราฮัม” ต้นตระกูลของพวกยิว พวกแขกอาหรับอย่างผู้ที่มีนามกรว่า “โยเซฟ” ได้เข้าไปมีบทบาทในราชสำนักอียิปต์ ชาติมหาอำนาจยุคโบร่ำ-โบราณ อันปรากฏอยู่ในบันทึก “พระคัมภีร์ไบเบิล” ภาคพันธสัญญาเดิม เรื่องของ “วิกฤตอาหาร”นั้น ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องโต ระดับไม่เพียงแต่มีความสำคัญในแง่ “เศรษฐกิจ”หรือเรื่องปาก-เรื่องท้องเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทต่ออำนาจ อิทธิพล ทาง “การเมือง” อย่างชนิดมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้ ดังข้อความในพระคัมภีร์ไบเบิลที่ได้เล่าขานไว้ว่า...“หลังจากเจ็ดปีอันอุดมสมบูรณ์ในประเทศอียิปต์ล่วงไป จึงเกิดการกันดารอาหารตามมาอีกเจ็ดปี ดังที่โยเซฟได้ทำนายเอาไว้” (ปฐมกาล 41:45)...
แต่ด้วยเหตุเพราะก่อนจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว...ผู้ที่เก่งในการทำนาย หรือการประเมินสถานการณ์ อย่าง “โยเซฟ”ได้ลงมือกระทำการ ดังต่อไปนี้...“โยเซฟเก็บอาหารทั้งเจ็ดปี (ช่วงอุดมสมบูรณ์) ซึ่งมีอยู่ประเทศอียิปต์ไว้หมด สะสมไว้ในหัวเมือง ผลผลิตที่เกิดขึ้นในนารอบหัวเมืองใด ก็เก็บไว้ในหัวเมืองนั้น โยเซฟสะสมข้าวไว้ดุจเม็ดทรายในทะเล มากมายจนต้องหยุดคิดบัญชีเพราะนับไม่ถ้วน...” ดังนั้นเมื่อเกิด “วิกฤตอาหาร”ยุคโบร่ำ-โบราณขึ้นมาจริงๆ พระคัมภีร์ไบเบิลจึงได้สาธยายต่อไปว่า... “เมื่อชาวอียิปต์อดอยากอาหาร ประชาชนก็ร้องทูลขออาหารต่อฟาโรห์ ฟาโรห์ก็รับสั่งแก่ชาวอียิปต์ทั้งหลายว่า ให้ไปหาโยเซฟ โดยท่านบอกอะไรก็จงทำตาม เมื่อการกันดารอาหารแผ่ไปทั่วแผ่นดิน โยเซฟก็เปิดฉางข้าว ขายข้าวแก่ชาวอียิปต์ เพราะการกันดารอาหารในแผ่นดินรุนแรงมาก ยิ่งกว่านั้น...ทั่วทั้งโลกก็มายังประเทศอียิปต์ มาหาโยเซฟเพื่อซื้อข้าวเพราะการกันดารอาหารร้ายแรงไปทั่วโลก...”
นี่...ความเป็น “มหาอำนาจ”ของอียิปต์ เมื่อครั้งไม่รู้กี่ต่อกี่พันปีที่แล้ว จึงมีความเกี่ยวโยง เกี่ยวพัน กับภาวะ “วิกฤตอาหาร” อย่างมิอาจแยกออกจากกันได้เลย หรือถ้าลองย้อนกลับมาเมื่อสักช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี่เอง หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ฉากเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความสะเทือนเลื่อนลั่นในโลกอาหรับ โลกอิสลาม เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับ “พลิกฟ้า-คว่ำดิน” หรือกลายเป็น “สงครามกลางเมือง”ในบางประเทศ ไม่ว่าตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย เยเมน ซีเรีย ฯลฯ ที่ถูกเรียกขานในนาม “อาหรับสปริง” (Arap Spring) แม้ว่าบรรดา “นักยุแยงตะแคงรั่ว” ในโลกตะวันตกทั้งหลาย จะโห่ร้องแสดงความปีติยินดี ในฐานะถือเป็นการแสดงออกของ “เสรีภาพแห่งประชาธิปไตย” แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์ต่อความเสี่ยงในการบริหาร-จัดการของรัฐบาล ชาวมาเลเซีย อย่าง “ดร.Mathew Maavak”แล้ว รากฐานที่มาของฉากเหตุการณ์เหล่านี้ ก็เนื่องมาจาก “วิกฤตอาหาร” นั่นแหละเป็นหลัก แถมยังบอกอีกด้วยว่า “The imminent global food crisis is being blamed on Russia, but the truth is rather more complex” หรือขณะใครต่อใครหันไป “โทษรัสเซีย”ในเรื่อง “วิกฤตอาหาร”ซึ่งกำลังจวนเจียนจะอุบัติขึ้นมาอีกไม่นานนับจากนี้ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว...มันยังมีอะไรที่ซับซ้อนไปกว่านั้นอีกเยอะ ตามชื่อของข้อเขียน บทความ ที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่ไปเมื่อวัน-สองวันมานี้...
คือถ้าสรุปแบบคร่าวๆ...มันยังมีทั้งเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ”หรือเรื่อง “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19”นับเป็นปีๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอยู่แล้วแน่ๆ แต่เหตุที่บรรดาโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลอเมริกัน หรือ “คุณป้ามหาภัย” “นางเออร์ซูลา วอน เดอ เลเยน” (Ursula von de Leyen) หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศอียู ต้องหันไปโยนขี้ หรือหันไป “โทษรัสเซีย”ก็เนื่องจากเพราะต้องเจอกับการ “บุกยูเครน” ของรัสเซียเข้าไปอีกดอกนั่นเอง ที่ทำให้ทั้งสองประเทศ ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีจำนวนถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก ดันไม่มีโอกาส “ส่งออก”ไปด้วยกันทั้งคู่ ยูเครนนั้นส่งไม่ได้เพราะบรรดาท่าเรือ หรือเมืองท่าต่างๆ ที่ถือเป็นทางออกทางเดียวสู่ทะเลดำ ถูกกองทัพรัสเซียยึดเกลี้ยงไปหมดแล้ว ต้องกลายสภาพเป็น “Landlock Country”ไปโดยปริยาย หรือแม้ว่าจะมีผู้ซื้อแต่ไม่รู้ว่าจะขนไปขายอีท่าไหน ส่วนรัสเซียด้วยเหตุเพราะเจอกับการ “แซงชั่น” ของคุณพ่ออเมริกาและพันธมิตรตะวันตก ที่พยายามห้ามไม่ให้ใครก็ตามไปหาซื้ออะไรต่อมิอะไรจากรัสเซียโดยเด็ดขาด ปริมาณอาหารไม่ว่าจะข้าวหรือขนมปัง มันเลยต้องหายไปจากตลาดโลกกว่า 1 ใน 3 อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้เลย นั่นยังไม่รวมถึง “ปุ๋ยเคมี” ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอาหาร อันมีประเทศรัสเซียและพันธมิตรอย่างเบลารุส เป็นผู้ส่งออกสูงสุดในตลาดโลกอีกด้วยต่างหาก...
โดยถ้าว่ากันตามการคาดการณ์ของผู้ช่วยประธานาธิบดีรัสเซีย “นายMaxim Oreshkin”ที่ออกมาบอกกล่าวไว้ล่วงหน้าเมื่อช่วงวันพฤหัสฯ (19 พ.ค.) ที่ผ่านมา วิกฤตการณ์ดังกล่าวน่าจะอุบัติขึ้นมาโดยชัดเจน ไม่เกินฤดูใบไม้ร่วงภายในสิ้นปีนี้ และด้วยบรรยากาศทำนองนี้นี่เอง เลยยิ่งทำให้บรรดาประเทศที่เคย “ส่งออก” ข้าวสาลี หลายต่อหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นคาชัคสถาน หรืออินตะระเดีย ฯลฯ ที่กลัวจะเกิด “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” ขึ้นมาในประเทศตัวเอง ต่างเริ่มหันมาประกาศ “ห้ามส่งออกข้าวสาลี”กันอย่างเป็นระบบและกิจการ แนวโน้มที่ปริมาณข้าว ปริมาณอาหาร มันจะหายเกลี้ยงไปจากโลกจากตลาด จึงยิ่งมีความเป็นไปได้สูงยิ่งขึ้นไปเท่านั้น!!!
บรรดาฝรั่งยุโรปหรือฝรั่งอเมริกัน...ที่แม้ไม่คิดกินข้าว แต่ยังไงๆ คงต้องรับประทานขนมปังแทนที่อยู่แล้วแน่ๆ เลยย่อมมีสิทธิกลายเป็น “น้องผู้หิวโหย”เอาง่ายๆ แค่เฉพาะขาดน้ำมัน ขาดแก๊ส ก็แทบหนาวตาย แข็งตาย อีกไม่ช้า-ไม่นานนับจากนี้ แต่ถ้าลองมาขาดข้าว ขาดขนมปังซะอีกต่างหาก โอกาสต้องกลายสภาพไปเป็น “ไอ้หวัง”หรือไอ้หวังตายแน่...ตายแน่ไอ้หวัง!!! กันไปเป็นประเทศๆ ก็ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย ดังนั้น...ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีเกษตรเยอรมนี “นายCem Ozdemir” ที่ออกมาเรียกร้องให้อินเดียแสดงความรับผิดชอบในฐานะหนึ่งในประเทศ G-20 ด้วยการยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวสาลี ไปจนการออก “แถลงการณ์ร่วม”ของกลุ่มประเทศ G-7 ด้วยการโยนบาป โยนขี้ ไปให้กับประเทศรัสเซีย เช่นเดียวกับรัฐบาลสหรัฐฯ หรือประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศอียู รวมทั้งการคิดจะเปิดปฏิบัติการ “Free Ukraine Wheat”เพื่อหาทางขนข้าวสาลีนับล้านๆ ตันจากยูเครน ผ่านทางถนนและทางรถไฟ มายังบรรดาประเทศยุโรปทั้งหลาย จึงกลายเป็นดิ้นรนแบบสุดแสนจะทุรนทุรายของบรรดาโลกตะวันตก อย่างเห็นได้โดยชัดเจน...
อีกทั้งปริมาณข้าวที่คิดขนออกมาจากยูเครนเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของชาวยุโรปนั้น อาจต้องรวมไปถึงปริมาณ “ข้าวสำรอง” ที่เคยช่วยให้ชาวยูเครนพอมีอะไรเลี้ยงปาก เลี้ยงท้องมาโดยตลอด อันอาจก่อให้เกิดฉากเหตุการณ์ย้อนกลับไปสู่ปีค.ศ. 1931-1934 ครั้งที่ผู้นำสหภาพโซเวียตอย่าง “โจเซฟ สตาลิน” เคยทำให้ชาวยูเครนต้อง “อดตาย”ชนิดไม่ต่างไปจากการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เอาเลยถึงขั้นนั้น หรือทำให้เกิดถ้อยคำในภาษายูเครน นั่นคือคำว่า “Holodomor”อันหมายถึง “การกำจัดผู้คนด้วยความหิวโหย”เอาเลยก็เป็นได้ แต่ถ้าหากต้องปล่อยให้ชาวยุโรป ชาวอเมริกัน ไม่มีอะไรจะแ-ก ไม่มีอะไรจะรับประทาน โอกาสที่จะนำไปสู่ฉากเหตุการณ์ “ยุโรปสปริง” หรือ “อเมริกันสปริง”ก็ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย!!! เพราะอย่างที่เคยหยิบเอา“จินตนาการ” ของนักเขียนและนักกฎหมายชาวอเมริกัน อย่าง “David J. Degraw”มาบอกเล่าเก้าสิบไว้ก่อนหน้านี้นั่นแหละว่า ด้วยความเชื่อว่า “วิกฤตอาหาร”นี่เอง ที่จะทำให้บรรดาอเมริกันชนผู้ยังชีพด้วย “แสตมป์อาหาร” ซึ่งมีจำนวนมากซะยิ่งกว่าผู้หิวโหยในตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย ฯลฯ ไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า อาจกลายเป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบ “พลิกฟ้า-คว่ำดิน”ในยุโรป หรืออเมริกา ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน...??? ???