ประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน จัดอยู่ในประเภทผู้นำเขี้ยวลากดิน เหลี่ยมแพรวพราว ผ่านวิกฤตสารพัด ในชีวิตการเมือง รวมทั้งติดคุก 4 เดือน ปัจจุบันกุมอำนาจเด็ดขาด ฝ่ายค้านแทบไม่เหลือหลังจากโดนกวาดล้างใหญ่ในปี 2016
ความเขี้ยวเชี่ยวกรากของแอร์โดอันคือการอาศัยจังหวะในการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และยกระดับสถานภาพของตัวเอง เมื่อตุรกีเป็นทั้งสมาชิกองค์การสนธิสัญญานาโต และประชาคมยุโรป ความสำคัญด้านยุทธศาสตร์
สหรัฐอเมริกายังต้องเอาใจ เพราะใช้พื้นที่ตุรกีตั้งฐานทัพแทบประชิดแดนรัสเซีย แต่แอร์โดอันก็มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน โดยทั้งสองประเทศได้ลงนามในสัญญาต่างๆ กระชับความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน
แอร์โดอันและรัสเซียเป็นพันธมิตรในศึกซีเรีย โดยร่วมกันค้ำฐานอำนาจของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ในการสู้ศึกกับกลุ่มก่อการร้ายไอซิสและกบฏแบ่งแยกดินแดน แอร์โดอันอยู่รอดมาได้เพราะประสบการณ์และความเด็ดขาด
ตลอดชีวิตแอร์โดอันอยู่ในวงการเมือง เคยเป็นทั้งนายกเทศมนตรีกรุงอังการา เมืองหลวง เป็นนายกรัฐมนตรี 11 ปี หลังจากนั้นเปลี่ยนระบบรัฐสภาเป็นการปกครองโดยระบบประธานาธิบดี โดยแอร์โดอันดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2014
ผ่านความพยายามรัฐประหารซึ่งเชื่อว่าสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง แต่ได้รัสเซียเตือนให้รู้ล่วงหน้าก่อนว่าจะโดนโค่น ทำให้แอร์โดอันเร่งจัดการฝ่ายตรงข้าม จับกุมขบวนการที่อยู่ในการก่อการรัฐประหารหลายหมื่นคนเอาไปขังคุก กระชับอำนาจอย่างเต็มที่
ทุกวันนี้ตุรกีอยู่ภายใต้การปกครองออกแนวเผด็จ มีควบคุมสื่อ การแสดงออก
ชาวตุรกีต้องยอมสิ้นสิทธิเสรีภาพภายใต้กฎเหล็กของแอร์โดอัน สหรัฐฯ ไม่ชอบใจก็ตามแต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะยังต้องพึ่งตุรกีในการสร้างฐานทัพเพื่อยันรัสเซีย ทั้งยังต้องยอมให้ตุรกีซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ เอส-400 อันทันสมัยของรัสเซีย
เป็นสมาชิกนาโตด้วยกันก็จริง แต่สหรัฐฯ ก็ประกาศคว่ำบาตรตุรกี ประชาคมยุโรปก็เดินตามก้นสหรัฐฯ ด้วยมาตรการคว่ำบาตร ตุรกีรอจังหวะเอาคืน
และแล้วจังหวะนั้นก็มาถึงเมื่อฟินแลนด์และสวีเดนประกาศจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตเพื่อเลี่ยงภัยคุกคามจากรัสเซีย ได้รับการต้อนรับอย่างท่วมท้นในบรรดาสมาชิกนาโต เช่น อังกฤษ และสหรัฐฯ พร้อมรับประกันความคุ้มครองให้เต็มที่
แต่แผนไม่ราบรื่น แอร์โดอันประกาศขวางไม่ยอมให้ทั้งฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิก โดยอ้างว่าทั้งสองประเทศให้ที่พักพิง เป็นฐานให้กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดอย่างน้อย 2 องค์กร เช่นพรรคแรงงานและพรรคปฏิวัติเพื่อการปลดปล่อย
แอร์โดอันเสียงแข็ง ไม่ยอมท่าเดียว กฎบัตรของนาโตก็คือ การรับสมาชิกใหม่ต้องให้รับฉันทานุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์โดยสมาชิก 30 ประเทศ มีเสียงเดียวค้านก็ไม่ได้
นี่จึงเป็นจังหวะสวยสำหรับการเอาคืนสำหรับแอร์โดวัน การไม่ยอมอย่างแข็งขันทำให้ฟินแลนด์และสวีเดนจะส่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาเจรจา แต่แอร์โดอันบอกปัด ว่าไม่ต้องส่งมาให้เสียเวลา ถึงอย่างไรก็ไม่ยอมให้ทั้งสองประเทศเข้านาโต
แอร์โดอันอ้างชัดว่าทั้งสองประเทศให้ที่พักพิงแก่องค์กรก่อการร้าย เป็นภัยต่อตุรกี เมื่อเป็นเช่นนี้คงเป็นหน้าที่ของสหรัฐฯ ต้องกล่อม ซึ่งก็เข้าทางตุรกีที่ต้องการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ เช่นต้องจัดการกลุ่มก่อการร้าย ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรโดยทันที
แอร์โดอันต้องการให้สหรัฐฯ ขายเครื่องบินรบเอฟ-35 ให้ และเอฟ-16 อีกประมาณ 40 ลำ รวมทั้งอัปเกรดเครื่องที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และความช่วยเหลือด้านอื่น
แอร์โดอันจะต้องเผชิญศึกเลือกตั้งในปีหน้า ดังนั้น ความสำเร็จในการต่อรองกับสหรัฐฯ และกลุ่มยุโรปจะทำให้ชนะอีก 1 สมัย สหรัฐฯ จะแค้นเคืองอย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องโอนอ่อนผ่อนตามเพื่อให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโต
ถ้าสหรัฐฯ ไม่สามารถทำให้แอร์โดอันยอมได้ เท่ากับไร้บารมีการเป็นผู้นำนาโต
ปูตินบอกว่าการที่ฟินแลนด์และสวีเดนอยากเข้านาโตไม่มีปัญหาตราบใดที่ไม่ทำอะไรให้เป็นภัยคุกคามรัสเซีย หากมีการกระทำอะไรที่ส่อเค้าว่าเป็นภัยต่อรัสเซีย ก็จะมีมาตรการตอบโต้ตามสภาพ ก่อนหน้านี้ปูตินก็เตือนไม่ให้ทั้งคู่เป็นสมาชิกนาโต
สวีเดนและฟินแลนด์ดำรงความเป็นกลางมาโดยตลอด 70 กว่าปี ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และผ่านยุคสงครามเย็น โดยรัสเซียไม่มีท่าทีคุกคามแต่อย่างไร ฟินแลนด์มีพรมแดนร่วมกับรัสเซียยาวกว่า 1.3 พันกิโลเมตร จากนี้จะมีปรับสภาพ
รัสเซียจะเสริมแสนยานุภาพในย่านทะเลบอลติก โดยอาจตั้งขีปนาวุธในพื้นที่คาลินินกราด ซึ่งเป็นของรัสเซียอยู่บนฝั่งทะเลบอลติก เพื่อรักษาฐานความมั่นคง
ฝ่ายตุรกีคงนั่งรอว่าจะมีใครยื่นข้อเสนองามๆ ให้ เพื่อแลกกับการเข้านาโตของฟินแลนด์และสวีเดน ที่ผ่านมาแอร์โดอันก็มีบทบาทในการเจรจากับปูตินในกรณีศึกกับยูเครน รวมทั้งอาสาเป็นกาวใจให้คู่ปรปักษ์ เป็นเวทีสำหรับการเจรจายุติศึก
ก่อนหน้านี้แอร์โดอันเป็นประธานการเจรจาระหว่างทีมของยูเครนและรัสเซีย แต่ไม่บรรลุข้อตกลง เพราะทุกฝ่ายต่างรู้ดีว่าตัวการสำคัญคือสหรัฐฯ ในการหนุนยูเครน ช่วงหลังมีประชาชนเดินขบวนในเมืองหลวงตุรกีเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนฐานทัพออกไป
ทั้งหมดนี้เป็นเกมสำหรับการต่อรองโดยตุรกีเพื่อต้องการให้ประเทศพ้นจากวิกฤตจากหนี้ต่างประเทศและเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ความสำเร็จในการต่อรองได้ความช่วยเหลือด้านการเงิน การหลุดพ้นจากการคว่ำบาตรถือว่าสำคัญ
ต้องดูว่าสิงห์เฒ่าวัย 68 ปีจะยังมีเขี้ยวเล็บคมเล่นเกมเสี่ยงต่อไปหรือไม่