กองกำลังยูเครนที่หลบซ่อนในป้อมปราการสุดท้ายในเมืองมาริอูโปล ที่ถูกปิดล้อม เริ่มอพยพออกมาในวันจันทร์ (16 พ.ค.) ดูเหมือนยอมจำนนยกเมืองแห่งนี้ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย หลังถูกยิงระเบิดโจมตีต่อเนื่องมานานหลายเดือน ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ดูเหมือนจะกลับลำจากคำขู่แก้เผ็ดสวีเดนและฟินแลนด์ ต่อกรณีประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทหารนาโต้ที่นำโดยสหรัฐฯ
รถบัส 5 คันที่บรรทุกทหารยูเครนจากโรงงานถลุงเหล็กอาซอฟสตัล ในเมืองมาริอูโปล เดินทางมาถึงเมืองโนโวอาซอฟสก์ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียในช่วงค่ำวันจันทร์ (16 พ.ค.) ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกราว 32 กิโลเมตร
แอนนา มัลยาร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมยูเครนเผยว่า ทหารที่อพยพออกมานั้น บางส่วนได้รับบาดเจ็บและต้องหามเปลขึ้นรถบัส และมี 53 คนที่ถูกพาตัวส่งโรงพยาบาล
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีทหารมากน้อยแค่ไหนบนรถบัส และทาง มัลยาร์ เผยว่าทหารอีก 211 นาย ถูกพาไปอีกจุด ในขณะที่ก่อนหน้านี้เชื่อว่ามีกองกำลังยูเครนประมาณ 600 นายที่หลบซ่อนอยู่ภายในโรงงานถลุงเหล็กแห่งนี้
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ระบุในช่วงค่ำวันจันทร์ (16 พ.ค.) "เราหวังว่าเราจะสามารถปกป้องชีวิตหนุ่มๆ ของเราเหล่านี้" ในขณะที่กองทหารที่อยู่ในโรงงานถลุงเหล็ก บอกว่าพวกเขาทำตามคำสั่งให้ปกป้องชีวิตกำลังพลด้วยการอพยพทหารเหล่านั้นออกมา
ในข้อความที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ กองทหารอาซอฟระบุว่า "เพื่อปกป้องชีวิต กองทหารมาริอูโปลปฏิบัติตามการตัดสินใจที่เห็นชอบโดยกองบัญชาการทหารสูงสุด และหวังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวยูเครน"
กองทหารอาซอฟบอกว่ากำลังพลของพวกเขาในมาริอูโปล เมืองริมทะเลอาซอฟทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ยืนหยัดได้นาน 82 วัน ซื้อเวลาให้ทหารยูเครนอื่นๆ ที่เหลือในการสู้รบกับกองกำลังรัสเซีย และได้อาวุธที่จำเป็นจากตะวันตกในการต้านทานการจู่โจมของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม การอพยพครั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นจุดจบของสมรภูมินองเลือดที่สุดและยืดเยื้อที่สุดในสงครามยูเครน และกลายเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของยูเครน เวลานี้มาริอูโปลเหลือแต่ซากหักพัง หลังโดนปิดล้อมโดยรัสเซีย ที่ทางยูเครนบอกว่าทำให้ประชาชนในเมืองแห่งนี้เสียชีวิตไปนับหมื่นคน
นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ มาริอูโปลกลายเป็นทั้งสัญลักษณ์แห่งความสามารถของยูเครนในการต้านทานการรุกรานของรัสเซีย และความตั้งใจของรัสเซียในการทำลายล้างเมืองต่างๆ ของยูเครน
บรรดาผู้ปกป้องชุดสุดท้ายของโรงงานถลุงเหล็กอาซอฟสตัล หลบซ่อนตัวนานหลายสัปดาห์ อยู่ในบังเกอร์และอุโมงค์ที่สร้างลึกลงไปใต้ดินสำหรับหลบภัยสงครามนิวเคลียร์ ในขณะที่พลเรือนที่อยู่ภายในโรงงานได้รับการอพยพออกมาก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน
ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (16 พ.ค.) ดูเหมือน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ลดระดับโทนเสียงคำขู่ จากที่เคยเตือนว่าจะแก้แค้นสวีเดนและฟินแลนด์ ต่อกรณีที่ทั้ง 2 ประเทศประกาศว่ามีแผนสมัครเข้าเป็นพันธมิตรทหารนาโต้ที่นำโดยสหรัฐฯ
หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า ปูติน ส่งสัญญาณว่ารัสเซียจะยอมให้ในเรื่องที่ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมกับนาโต้ แต่ก็เตือนว่ามอสโกจะโต้ตอบถ้าหาก "ประเทศพันธมิตรจัดตั้งฐานทัพหรือยุทโธปกรณ์" ไม่ว่าจะในฟินแลนด์หรือในสวีเดนก็ตาม
ปูตินกล่าวว่าการขยายตัวของนาโต้ในรูปแบบนี้ "ไม่ได้เป็นภัยโดยตรงต่อรัสเซีย" และบอกว่า "ไม่มีปัญหา" ที่ฟินแลนด์และสวีเดนจะเข้าร่วมนาโต้
ทางการสวีเดนเคยกล่าวย้ำว่าพวกเขาไม่ต้องการให้มีฐานทัพของนาโต้ในพื้นที่ประเทศของพวกเขา และบอกว่าไม่ต้องการให้มีการติดตั้งขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ในประเทศของพวกเขาด้วย ทางด้านฟินแลนด์นั้นก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ต้องการทำให้มีฐานทัพนาโต้และหัวรบนิวเคลียร์ในประเทศของพวกเขาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ฟินแลนด์ได้กล่าวไว้ในวันอาทิตย์ (15 พ.ค.) ว่าพวกเขาไม่ได้วางเงื่อนไขใดๆ ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการยื่นขอเป็นสมาชิกนาโต้
ความเห็นล่าสุดของ ปูติน ดูเหมือนเป็นการเปลี่ยนถ้อยคำและท่าทีครั้งใหญ่ หลังจากหลายขวบปีที่ผ่านมา มักระบุว่าการขยายอาณาเขตของนาโต้คือภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงของรัสเซีย ในขณะที่รัสเซียใช้การขยายอาณาเขตของนาโต้เป็นข้ออ้างสำหรับอ้างความชอบธรรมแก่การเปิดฉากรุกรานยูเครน
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ เซียร์เก ริยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศรัสเซีย เพิ่งเตือนว่า ฟินแลนด์และสวีเดนกำลังทำสิ่งผิดพลาดซึ่งจะส่งผลกระทบกว้างไกล และเสริมว่า ความตึงเครียดทางทหารจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ความสามารถในการคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์นี้จะลดลง
ปูติน เคยกล่าวว่าสหรัฐฯ กำลังใช้การขยายอิทธิพลของนาโต้ "ในแนวทางก้าวร้าว" ซ้ำเติมความมั่นคงของโลกที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว และบอกว่ารัสเซียจะตอบโต้ หากว่าพันธมิตรนาโต้เคลื่อนอาวุธหรือทหารเข้ามาใกล้
ฟินแลนด์และสวีเดน ต่างอยู่ในสถานะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมาตลอดช่วงสงครามเย็น แต่เวลานี้พวกเขาบอกว่าต้องการได้รับการปกป้องผ่านสนธิสัญญานาโต้ ซึ่งระบุไว้ว่าการโจมตีรัฐสมาชิกหนึ่งๆ เท่ากับเล่นงานพันธมิตรนาโต้ทั้งมวล
(ที่มา : รอยเตอร์/ไฟแนนเชียลไทม์ส)