xs
xsm
sm
md
lg

วาระเปลี่ยนผู้นำประเทศ...

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


เชห์บาซ ชารีฟ ตัวเก็งผู้นำคนใหม่ของปากีสถาน
นายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน ต้องหลุดจากตำแหน่งเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ปากีสถานในรูปแบบของการแพ้ลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภาเมืองกลางดึกคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา จะเป็นการปิดฉากทางการเมืองหรือไม่ ต้องรอดูว่าจะมีเกมเล่นบนถนนหรือไม่

อดีตกัปตันทีมคริกเก็ตที่นำทีมปากีสถานชนะแชมป์โลกครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของประเทศ ข่านในวัย 69 ปียังไม่ยอมเลิกรา พร้อมประกาศว่าจะไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจาก “การนำเข้าจากต่างประเทศ” โดยอ้างแผนของสหรัฐฯ

พรรคร่วมฝ่ายค้านชนะด้วยเสียง 174 ทั้งที่ต้องการเสียงข้างมากเพียง 172 เสียงในสภานิติบัญญัติซึ่งมีอยู่ 342 เสียง พรรคพีทีไอของข่านพ่ายเพราะส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาลให้แหกคอกไปรวมกับฝ่ายค้าน นำโดย เชห์บาซ ชารีฟ วัย 70 ปี

ชารีฟ คาดว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แม้จะยังมีคดีฟอกเงินคาอยู่ รอการตัดสินโดยศาล ก่อนหน้านี้เคยไปลี้ภัยในซาอุฯ หลายปีหลังจากนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ ผู้เป็นพี่ชายโดนกองทัพทำรัฐประหาร ทำให้ต้องลี้ภัยในอังกฤษทุกวันนี้

การเมืองปากีสถานทำให้นักการเมืองตายแล้วเกิดใหม่ได้ เว้นแต่จะตายจริง นาวาซ ชารีฟ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัย สลับกับนางเบนาซีร์ บุตโต ซึ่งเป็น 2 สมัยก่อนถูกสังหารด้วยระเบิดในปี 2007 และลูกชาย นายบิลาวัล เป็น 1 ในฝ่ายค้าน

บิลาวัล เป็นหนุ่มไฟแรง ต้องใช้เวลาสร้างบารมีเพื่อนำพรรคประชาชนปากีสถานให้ได้เสียงข้างมาก เดินตามรอยแม่และผู้เป็นตา ซุลฟิการ์ อาลี บุตโต

ปากีสถานรอผู้นำใหม่ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในผู้กำหนดดุลอำนาจในชมพูทวีป ด้านความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจ เช่น จีน รัสเซีย อินเดีย และสหรัฐฯ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับกองทัพปากีสถาน ซึ่งเป็นตัวกำหนดเกมการเมือง และคุมไฟเขียวให้ผู้นำประเทศ

ศรีลังกา เพื่อนบ้านอยู่ปลายชมพูทวีป กำลังเผชิญความวุ่นวายทางการเมือง และความล่มสลายเพราะวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งยากต่อการเยียวยา ประชาชนเดินขบวนขับไล่รัฐบาลพี่น้องตระกูลราชปักษา ซึ่งกุมอำนาจรัฐหลายปี สร้างหนี้สินท่วมประเทศ

ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ยังไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่พี่ชาย มหินดา ราชปักษา เป็นนายกรัฐมนตรี และบรรดารัฐมนตรี ซึ่งมีน้องชายอีก 2 คนร่วมด้วย ได้ลาออกเพื่อให้ตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ยากเพราะฝ่ายค้านก็ไม่ยอมร่วมด้วย

วิกฤตเศรษฐกิจทำให้ศรีลังกาแบกหนี้กว่า 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 109 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ในหนี้ทั้งหมดมี 1 หมื่นล้านดอลลาร์ได้เป็นหนี้จีนในการพัฒนาโครงการต่างๆ รวมทั้งการสร้างท่าเรือ ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนเพราะปัญหาโควิด-19

ดูอย่างไรก็ไม่รอด เพราะประชาชนอยู่ในสภาพลำบาก ขาดแคลนทั้งอาหาร ยารักษาโรค น้ำมันซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และไม่มีเงินเหลือที่จะนำเข้าสินค้า รัฐบาลต้องปิดไฟฟ้ามากกว่า 10 ชั่วโมงทุกวัน ยานพาหนะต่างๆ ไม่มีน้ำมันเติม

การเดินขบวนประท้วงนำไปสู่การบุกบ้านพักประธานาธิบดี ทำให้ต้องประกาศเคอร์ฟิว แต่ไม่มีใครสนใจ เพราะวิกฤตครั้งนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ขณะที่อินเดียยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยการให้เครดิตซื้อสินค้า

โอกาสฟื้นตัวยาก เพราะศรีลังกาพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งยังคงซบเซาเพราะการระบาดของโควิด-19 รายได้จากการส่งออกใบชาแต่ละปีไม่สามารถบรรเทาภาระหนี้สินได้ ประชาชน 22 ล้านคนต้องลำบากเพราะปัญหาขาดแคลนน้ำมัน ฯลฯ

ต้องดูว่าชะตากรรมของศรีลังกาจะตกอยู่ในสภาวะใด เพราะเจ้าหนี้จะมีทั้งไอเอ็มเอฟ ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย และจีน ซึ่งอาจมีปัญหาในการสร้างอิทธิพลเหนือรัฐบาลศรีลังกา และจะสร้างความขัดแย้งกับอินเดีย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านสำคัญ

หันไปดูการเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้นำฝรั่งเศส นายเอมมานูเอล มาครง ต้องลุ้นหนักว่าจะอยู่ได้อีก 1 สมัยหรือไม่ เพราะคู่ท้าชิง นางมารีน เลอ แปน พรรคขวาจัดหายใจรดต้นคอด้านคะแนนความนิยมในการเลือกตั้งรอบแรกวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ทั้งคู่น่าจะไปชิงในนัดตัดเชือกรอบที่ 2 วันที่ 24 เดือนนี้ มาครงมีคะแนนนำก่อนหน้านี้ แต่นางเลอ แปน ไล่กวดมาเพราะปรับนโยบายทำให้โดนใจชาวบ้าน ซึ่งมีปัญหาภาวะค่าครองชีพเนื่องจากราคาพลังงาน เงินเฟ้อ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง นางเลอ แปน เป็นผู้ชนะ ก็จะเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศ และอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ในกลุ่มประเทศสมาชิกนาโต และประชาคมยุโรป ในด้านจุดยืนในสงครามรัสเซีย-ยูเครน การซื้อพลังงานรัสเซีย

ในการเลือกตั้งครั้งก่อน ผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เอาใจช่วยนางเลอ แปน แต่พ่ายต่อมาครง ซึ่งพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นแกนนำยุโรป และเป็นผู้ติดต่อเจรจากับปูติน หลังจากเกิดสงครามในยูเครน แต่ก็ร่วมคว่ำบาตรรัสเซียเช่นกัน

ต้องดูว่าผลสุดท้าย ใครจะชนะ และจุดยืนด้านความสัมพันธ์กับรัสเซียจะเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งในฮังการีก่อนหน้านี้ นายวิคเตอร์ ออร์บาน ได้ชนะอย่างถล่มทลายเพราะสนับสนุนการนำเข้าก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย

การเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้นำออสเตรเลียวันที่ 21 พฤษภาคม ก็น่าสนใจ เพราะนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมอยู่ในอาการร่อแร่ อาจพ่ายแพ้ต่อนายแอนโทนี อัลบานีส หัวหน้าพรรคแรงงานก็ได้ เพราะคะแนนสูสีกันมาก

ถ้าจะเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาล ออสเตรเลียยังคงอยู่ในกลุ่มเดียวกับสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา และนิวซีแลนด์ เพราะพูดภาษาเดียวกัน มีความร่วมมือด้านการทหาร ข่าวกรองและต่อต้านจีนเช่นเดียวกัน จุดยืนต่อรัสเซียนั้น ต้องรอดูหลังจากผลเลือกตั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น