ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา แห่งศรีลังกา ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อค่ำวานนี้ (1 เม.ย.) หลังประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงและก่อจลาจลเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่หนักสุดในรอบหลายสิบปี
ผู้นำศรีลังกาประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาว่า เหตุที่รัฐต้องประกาศภาวะฉุกเฉินก็เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของสาธารณะ ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และเพื่อคุ้มกันเสบียงและบริการที่จำเป็นต่างๆ
กลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนได้ปะทะกับตำรวจ และทหารที่ด้านนอกบ้านพักของราชปักษา ชานกรุงโคลอมโบ เมื่อวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) โดยมีผู้ชุมนุมถูกจับไปทั้งหมด 53 ราย ขณะที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่เมืองหลวงและปริมณฑลตั้งแต่วันศุกร์ (1) เพื่อยับยั้งกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งไม่พอใจปัญหาสินค้าขาดแคลน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง และข้าวของของใช้ที่จำเป็นต่างๆ
ศรีลังกาซึ่งมีประชากร 22 ล้านคนต้องหันมาใช้วิธีตัดไฟฟ้านานสุดถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน ระหว่างที่รัฐบาลกำลังเร่งหาเงินตราต่างประเทศเพื่อนำไปจ่ายค่าพลังงานนำเข้า
โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของศรีลังกา อีกทั้งเงินรายได้ที่แรงงานส่งกลับเข้าประเทศก็เริ่มร่อยหรอลง นอกจากนี้ รัฐบาลยังเผชิญภาวะถังแตกจากนโยบายลดภาษีที่ ราชปักษา เคยให้สัญญาไว้กับประชาชนตอนหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2019
คนศรีลังกาที่หาเช้ากินค่ำยังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสินค้าขาดแคลนและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง หลังรัฐบาลประกาศลดค่าเงินเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนจะเจรจาเพื่อขอกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
กลุ่มพันธมิตร 11 พรรคการเมืองเรียกร้องให้ ราชปักษา ยุบคณะรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกพรรคเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้
ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่ฝูงชนที่ไปรวมตัวกันใกล้ๆ บ้านพักของ ราชปักษา เมื่อวันพฤหัสบดี (31) หลังจากที่ผู้ชุมนุมจุดไฝเผารถตำรวจ และทหารไปหลายคัน ขณะที่ฝ่ายตำรวจเองก็มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บไปไม่ต่ำกว่า 20 นาย
ปราซานนา รานาตุงเก รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวศรีลังกาเตือนว่า การก่อความวุ่นวายเช่นนี้มีแต่จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ลงไปอีก
“ปัญหาหลักที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้คือ ไม่มีเงินตราต่างประเทศมากพอ และยิ่งคนออกมาประท้วงกันมากๆ เข้าก็ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวทรุด กระทบเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก” รานาตุงเก อธิบาย
มีรายงานว่าเรือสินค้าที่ขนก๊าซหุงต้มราว 5,500 เมตริกตันต้องบ่ายหน้าออกจากน่านน้ำศรีลังกา หลังจากบริษัท Laugfs Gas ซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อไม่สามารถกู้เงินจำนวน 4.9 ล้านดอลลาร์จากธนาคารท้องถิ่นมาจ่ายได้
“ประชาชนกำลังเดือดร้อนเพราะไม่มีก๊าซหุงต้มใช้ แต่เราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไรในเมื่อไม่มีเงินดอลลาร์? เราไม่รู้จะทำยังไงแล้ว” ดับเบิลยู. เอช. เค. เวกาปิทิยา ประธานบริษัท Laugfs Gas ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
ฮานา ซิงเกอร์-ฮัมดี ผู้แทนสหประชาชาติประจำศรีลังกา เรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น
“เรากำลังเฝ้าจับตาสถานการณ์ และรู้สึกเป็นห่วงที่มีการใช้ความรุนแรง” เธอแถลงผ่านทวิตเตอร์
ล่าสุดมีรายงานว่า พ่อค้าชาวอินเดียเตรียมที่จะขนข้าวสาร 40,000 ตันไปส่งยังศรีลังกา ซึ่งถือเป็นความช่วยเหลือด้านอาหารล็อตใหญ่ล็อตแรก หลังจากที่รัฐบาลโคลอมโบได้รับอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉิน 1,000 ล้านดอลลาร์ จากนิวเดลี
ที่มา : รอยเตอร์