MGR Online - พิธีศพ “เผิง จาเซิง” อดีตผู้นำกองทัพโกก้าง จัดอย่างยิ่งใหญ่ในเมืองลา มีผู้ไปร่วมงานมากกว่า 3,000 คน ผู้นำกองกำลังติดอาวุธแทบทุกกลุ่ม แม้แต่ ผบ.ภาคสามเหลี่ยม กองทัพพม่า ยังไปร่วมไว้อาลัยด้วย ส่วนมินอ่องหลาย ส่งพวงหรีดช่อใหญ่ร่วมแสดงความเสียใจ
วานนี้ (29 มี.ค.) ที่สนามกีฬากลาง ภายในเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา รัฐชานภาคตะวันออก ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ได้มีพิธีศพเผิง จาเซิง อดีตผู้นำกองทัพโกก้าง (MNDAA) ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มีผู้ไปร่วมงานมากกว่า 3,000 คน
อนึ่ง เผิง จาเซิง เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักของเขาในเมืองลา เมื่อเวลา 05.40 น. ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 จากโรคชรา ด้วยวัย 94 ปี
MNDAA เป็นสมาชิกของ FPNCC หรือ Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee ซึ่งกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ได้รวมตัวกันตั้งขึ้นเป็นตัวแทนในการเจรจากับรัฐบาลพม่า
ในพิธีศพเผิง จาเซิง เมื่อวานนี้ ผู้นำสูงสุดของกองทัพที่เป็นสมาชิก FPNCC เกือบทั้งหมดต่างมาร่วมงาน เช่น เป่าโหย่วเสียง ประธานเขตปกครองตนเองว้า กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ทุนเมียตไหน่ ผู้บัญชาการ กองทัพอาระกัน (AA) เจ้าจายลืน ผู้บัญชาการกองทัพเมืองลา (NDAA) รวมถึงกองทัพตะอั้ง (TNLA) กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA)
มีเพียงเจ้าป่างฟ้า ประธานพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP/SSA) ซึ่งส่งรองผู้บัญชาการ SSPP มาเป็นตัวแทนไปร่วมแสดงความไว้อาลัย ส่วน MNDAA มีเผิง ต้าซุน ลูกชายของเผิง จาเซิง ซึ่งเป็นผู้นำคนปัจจุบัน ได้มาจากเมืองโก จังหวัดหมู่เจ้ รัฐชานเหนือ เพื่อเข้าร่วมงาน และขึ้นกล่าวคำไว้อาลัยแก่บิดาของเขา
นอกจากนี้ กองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ยังได้ส่งผู้นำหรือส่งตัวแทนมาร่วม รวมถึงผู้นำกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNDF) กองทัพที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่จากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร (PDF) ในรัฐกะยา ก็ยังเดินทางมาร่วมงานด้วย
ด้านกองทัพพม่า พล.ต.มินทุน ผู้บัญชาการกองทัพภาคสามเหลี่ยม จังหวัดเชียงตุง ได้เดินทางไปร่วมงานด้วยตนเอง ส่วน พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรีพม่า ได้ส่งพวงหรีดดอกไม้สีขาวขนาดใหญ่ มาร่วมแสดงความเสียใจต่อการจากไปของเผิง จาเซิง
พิธีศพของเผิง จาเซิง จะจัดเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 29-31 มีนาคม จากนั้นจึงจะมีพิธีฌาปนกิจศพ
เผิง จาเซิง เป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยประชาชนโกก้าง ที่ได้ทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2532 รัฐบาลทหารพม่าขณะนั้น ได้ตอบแทนโดยสถาปนาเขตพิเศษหมายเลข 1 ให้ชาวโกก้างซึ่งก็คือชาวจีนฮั่นได้ปกครองตนเอง มีเมืองเล่าก์ก่าย ตรงข้ามกับจังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน เป็นเมืองหลวง และมีกองทัพของตนเองคือ MNDAA
เขตปกครองตนเองโกก้างที่มีเผิง จาเซิง เป็นผู้นำ อยู่อย่างสงบร่มเย็นเป็นเวลากว่า 20 ปี พัฒนาจากเมืองกลางหุบเขาจนเจริญรุ่งเรืองขึ้น เล่าก์ก่ายซึ่งเป็นเมืองหลวงมีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด กระทั่งซูเปอร์มาร์เกต ถนนหนทางลาดยาง และมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยซื้อไฟฟ้ามาจากจีน
จุดเปลี่ยนของโกก้างเริ่มในปี 2552 เมื่อกองทัพพม่ากดดันให้ MNDAA แปรสภาพเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน(Border Guard Force : BGF) ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า แต่เผิง จาเซิง ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่าง MNDAA กับกองทัพพม่า
วันที่ 8 สิงหาคม 2552 พล.ต.อ่อง ตาน ทุต แม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำกำลังกว่า 100 นาย จากเมืองล่าเสี้ยว บุกเข้าไปค้นบ้าน เผิง จาเซิง ในเขตโกก้าง เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่าง MNDAA กับทหารพม่า แต่ยังไม่มีการปะทะ อย่างไรก็ตาม ชาวโกก้างจำนวนมากหวั่นเกรงสงคราม พากันอพยพข้ามไปอยู่ฝั่งจีน
วันที่ 26 สิงหาคม 2552 ทหารพม่ารุกเข้ายึดเมืองเล่าก์ก่าย MNDAA ซึ่งมีกำลังพลราว 1,000 นาย ยอมถอนกำลังออกไปรอบนอก เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะในตัวเมือง และเริ่มเปิดฉากสู้รบกับกองทัพพม่าในวันรุ่งขึ้น การสู้รบขยายลุกลามไปหลายจุด เกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย
29 สิงหาคม 2552 เผิง จาเซิง นำทหาร MNDAA ประมาณ 700 นาย ข้ามพรมแดนไปมอบตัวกับทางการจีน
30 สิงหาคม 2552 รัฐบาลทหารพม่า แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเขตพิเศษหมายเลข 1 ชุดใหม่ มีป๋าย โส่วเฉิน เป็นประธาน และแปรสภาพ MNDAA ที่เหลือเป็น BGF
แต่ทหาร MNDAA อีกส่วนหนึ่งยังคงต่อต้านกองทัพพม่า ด้วยยุทธวิธีซุ่มโจมตี โดยมี เผิง ต้าซุน ลูกชายของ เผิง จาเซิง เป็นผู้นำ และไปตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองโก
อีก 5 ปีถัดมา เดือนธันวาคม 2557 เผิง จาเซิง ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ “โฟนิกซ์เทเลวิชั่น” หรือ “iFeng” สถานีโทรทัศน์ของฮ่องกงว่า MNDAA ต้องการยึดพื้นที่ของตนคืนจากกองทัพพม่า พร้อมอ้างเงื่อนไขในข้อตกลงหยุดยิงที่เคยทำไว้เมื่อปี 2532 ว่า ไม่ต้องการแยกตัวออกจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า แต่ต้องการปกครองตนเองเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น
เผิง จาเซิง บอกว่า แม้ชาวโกก้างพูดภาษาจีน แต่พวกเขาคือ 1 ใน 135 ชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการของพม่า
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 MNDAA รวบรวมกำลังพลได้ประมาณ 3,000 คน เปิดฉากโจมตีค่ายทหารพม่าใกล้เมืองเล่าก์ก่าย การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรง กองทัพพม่าส่งเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์ขึ้นยิงถล่มฐานที่มั่นของ MNDAA มีภาพ-คลิปข่าว ปรากฏทางสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ของจีนอย่างต่อเนื่อง
ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินในเขตพิเศษหมายเลข 1 เป็นเวลา 3 เดือน ถือเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งแรก ตั้งแต่เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554
การสู้รบสิ้นสุดลงในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ทหารพม่าเสียชีวิต 47 นาย เป็นนายทหาร 5 นาย มีผู้บาดเจ็บกว่า 70 นาย ชาวโกก้างประมาณ 5 หมื่นคน ลี้ภัยข้ามไปอยู่ในฝั่งจีน
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า เผิง จาเซิง เสียชีวิตแล้ว ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนครคุนหมิง มลฑลยูนนาน แต่ความจริงแล้วเขายังไม่ตาย และได้ไปอาศัยอยู่กับเจ้าจายลืน ซึ่งเป็นลูกเขยในเมืองลา กระทั่งเสียชีวิตอย่างสงบในบ้านพักเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565
ทุกวันนี้ MNDAA ซึ่งมีเผิง ต้าซุน ลูกชายของเผิง จาเซิง เป็นผู้นำ ยังคงมีการสู้รบกับกองทัพพม่า โดยพื้นที่สู้รบส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองโก จังหวัดหมู่เจ้ เมืองหยอ จังหวัดล่าเสี้ยว ในภาคเหนือของรัฐชาน.