MGR Online - ศึกพม่า-กะเหรี่ยงกระทบการค้าไทย-พม่าโดยตรงแล้ว KNU ประกาศปิดถนนอาเซียนช่วงเมียวดี-กอกะเรกแบบไม่มีกำหนด ห้ามรถทุกชนิดผ่านตั้งแต่ 27 มี.ค.เป็นต้นไป ส่วนชายแดนตรงข้ามบ้านแม่โกนเกน มีผู้อพยพนับพันรอเตรียมข้ามมาฝั่งไทย
วันนี้ (26 มี.ค.) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองบัญชาการกองพลที่ 6 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ได้ร่วมกันออกประกาศปิดถนน ห้ามรถทุกชนิดสัญจรผ่านเส้นทางหลัก 2 สายเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (27 มี.ค.) เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
ถนนทั้ง 2 สายที่ถูกสั่งปิด ได้แก่ ถนนสายอาเซียน (AH1) ช่วงตั้งแต่ตัวอำเภอเมียวดี จังหวัดเมียวดี ไปถึงอำเภอกอกะเรก จังหวัดดูบลายา และถนนจากอำเภอเมียวดี ลงไปยังตำบลวาเลย์ อำเภอซูกะลี
เนื้อความในประกาศให้เหตุผลว่า เนื่องจากในหลายพื้นที่ของจังหวัดเมียวดีและดูบลายา กำลังมีความตึงเครียดหนัก เนื่องจากเกิดการสู้รบรุนแรงระหว่างทหารพม่า กับกองกำลังผสมกะเหรี่ยง ที่สนธิกำลังกันระหว่าง KNLA องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) และกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล (PDF)
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ จึงต้องห้ามการเดินทางไปมาระหว่างเมืองต่างๆ ที่กำลังมีความเคลื่อนไหวทางการทหารจากทั้ง 2 ฝ่าย
ความตึงเครียดในจังหวัดเมียวดีและดูบลายารอบล่าสุด เริ่มขึ้นหลังจากวันที่ 21 มีนาคม ที่กองกำลังผสมของกะเหรี่ยง ได้บุกโจมตีฐานของทหารพม่า ที่บ้านมอคี ตำบลวาเลย์ ตรงข้ามกับอำเภอพบพระ ทำให้ทหารพม่าเสียชีวิตอย่างน้อย 8 นาย และฝ่ายกะเหรี่ยงสามารถยึดอาวุธ ยุทโธปกรณ์ของทหารพม่าไปได้หลายรายการ
จากนั้นกองทัพพม่าได้เสริมกำลังพลจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ ทำให้เกิดการสู้รบรุนแรงในหลายจุด ตั้งแต่บริเวณฐานเดิมซึ่งถูกตีแตกไปแล้วที่บ้านมอคี รวมถึงบ้านเลเกก่อ ตรงข้ามกับบ้านแม่โกนเกน ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด และที่อำเภอกอกะเรก กับจาอินเซะจี จังหวัดดูบลายา
โดยทหารพม่าได้ใช้อาวุธหนัก และเครื่องบินรบขึ้นยิงจรวดถล่มฐานที่มั่นของทหารกะเหรี่ยง เพื่อเป็นการสนับสนุนกำลังรบภาคพื้นดิน ซึ่งอาวุธหนักเหล่านี้บางลูกได้พลาดไปสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชนหลายหลัง จนมีชาวบ้านถูกลูกหลงเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บไปแล้ว เมื่อเช้ามืดวันที่ 24 มีนาคม
Karen Information Center (KIC) รายงานว่า ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่สู้รบต่างพากันอพยพออกจากบ้านเพื่อมาหลบภัยอยู่บริเวณชายแดนพม่า-ไทย แต่ยังไม่ได้ข้ามมาฝั่งไทย โดยเฉพาะชาวบ้านมอคี ที่อยู่ตรงข้ามอำเภอพบพระ ได้เริ่มอพยพมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม และล่าสุดวันนี้ มีชาวบ้านนับพันคนจากเขตพะลู ทางตะวันออกของบ้านเลเกก่อ พากันออกจากบ้านมาพักชั่วคราวอยู่บริเวณชายแดน ตรงข้ามกับบ้านแม่โกนเกน
สำหรับถนน 2 สาย ที่ถูกสั่งปิดตั้งแต่วันพรุ่งนี้นั้น เส้นทางซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากที่สุด คือ ถนนสายอาเซียน (AH1) เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักของการค้าชายแดนไทย-พม่า ผ่านด่านเมียวดี ซึ่งเป็นประตูการค้าของ 2 ประเทศ ที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุด
ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากกระทรวงพาณิชย์พม่า ระบุว่า ปีงบประมาณ 2561-2562 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 การค้าไทย-พม่าผ่านด่านเมียวดี มีมูลค่ารวม 969.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปีงบประมาณ 2562-2563 มีมูลค่า 1,209.91 ล้านดอลลาร์ และปีงบประมาณ 2563-2564 มีมูลค่า 1,943.17 ล้านดอลลาร์ แต่ข้อมูลในพื้นที่เปิดเผยว่าตัวเลขที่ซื้อขายจริงสูงกว่าที่รายงานเอาไว้มาก
ถนนสายอาเซียนเป็นเส้นทางหลักสำหรับขนส่งสินค้าที่ซื้อขายผ่านด่านเมียวดี โดยสินค้าหลากหลายประเภทที่ถูกส่งจากประเทศไทยเข้าไปในพม่า ต้องใช้ถนนอาเซียน เพื่อลำเลียงจากเมียวดี ผ่านกอกะเรก ไปยังเมืองพะอัน เมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ จนถึงกรุงย่างกุ้ง ก่อนกระจายต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วพม่า
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ธนาคารกลางพม่า (The Central of Myanmar : CBM) เพิ่งมีคำสั่งฉบับที่ 5/2022 อนุญาตให้ใช้เงินสกุลบาท/จั๊ต ชำระค่าสินค้าได้โดยตรงสำหรับการค้าชายแดนไทย-พม่า เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าและการไหลเวียนของสินค้าระหว่าง 2 ประเทศ อำนวยความสะดวกต่อระบบชำระเงินและการเคลียริ่งข้ามพรมแดน รวมถึงส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นตามแนวทางบูรณาการระบบการเงินอาเซียน.