MGR Online - กลุ่มติดอาวุธโจมตีรถบรรทุก 2 คัน รถบัส 1 คัน บนถนน AH1 “เมียวดี-กอกะเรก” เส้นทางหลักเพื่อขนส่งสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างไทย-พม่า เจ้าหน้าที่ต้องปิดถนนยาวตลอดวัน
เช้าวันนี้ (12 มี.ค.) ได้เกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย ใช้อาวุธหนักโจมตีรถบรรทุกสินค้า 2 คัน รถโดยบัสโดยสารอีก 1 คัน บนถนน AH1 หรือถนนสายอาเซียน ช่วงระหว่างเมืองเมียวดีไปยังเมืองกอกะเรก ในรัฐกะเหรี่ยง
เหตุเกิดช่วงระหว่างเวลา 8.00 น. ถึง 9.00 น. บริเวณใกล้กับทางขึ้นน้ำตกตอหน่อ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เมืองกอกะเรก รถบรรทุกที่ตกเป็นเหยื่อเป็นรถขนาด 12 ล้อ จำนวน 2 คัน และรถบัสโดยสาร 6 ล้อ อีก 1 คัน รถทั้ง 3 คัน ถูกยิงและเผาจนสินค้าและตัวรถได้รับความเสียหายทั้งหมด
ยังไม่มีรายละเอียดของผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่มีรายงานจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิการกุศลว่าได้นำตัวคนขับรถบรรทุก 1 ราย ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุโจมตีส่งไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลเมืองกอกะเรกในช่วงเช้า
หลังเกิดเหตุทหารจากกองทัพพม่าระดมกำลังมากกว่า 100 นาย ลงพื้นที่ มีการปิดถนนสาย AH1 ห้ามรถทุกชนิดขับผ่านตั้งแต่เวลา 10.00 น. รายงานล่าสุดที่เข้ามาเมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. เจ้าหน้าที่ยังไม่เปิดการสัญจรบนถนนสายนี้
ถนนสาย AH1 เป็นเส้นทางหลักสำหรับขนส่งสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างไทยและพม่า ผ่านด่านเมียวดี-แม่สอด ซึ่งเป็นด่านชายแดนที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุด โดยสินค้าหลากหลายประเภทที่ถูกส่งจากประเทศไทยเข้าไปในพม่า ต้องใช้เส้นทางสายนี้เพื่อลำเลียงไปยังเมืองพะอัน เมืองเมาะละแหม่ง และกรุงย่างกุ้ง ก่อนกระจายต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากกระทรวงพาณิชย์พม่า ในปีงบประมาณ 2561-2562 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 การค้าไทย-พม่าผ่านด่านเมียวดี มีมูลค่ารวม 969.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปีงบประมาณ 2562-2563 มีมูลค่า 1,209.91 ล้านดอลลาร์ และปีงบประมาณ 2563-2564 มีมูลค่า 1,943.17 ล้านดอลลาร์ แต่ข้อมูลจากในพื้นที่ ตัวเลขที่ซื้อขายกันจริงสูงกว่าที่รายงานเอาไว้มาก
เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางพม่า (The Central of Myanmar : CBM) เพิ่งมีคำสั่งฉบับที่ 5/2022 อนุญาตให้ใช้เงินสกุลบาท/จั๊ต ชำระค่าสินค้าได้โดยตรงสำหรับการค้าชายแดนไทย-พม่า เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าและการไหลเวียนของสินค้าระหว่าง 2 ประเทศ อำนวยความสะดวกต่อระบบชำระเงินและการเคลียริ่งข้ามพรมแดน รวมถึงส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นตามแนวทางบูรณาการระบบการเงินอาเซียน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 CBM ได้อนุญาตให้ใช้เงินหยวนชำระค่าสินค้าที่ซื้อขายกันโดยตรง บริเวณชายแดนพม่า-จีน โดยใช้เหตุผลเดียวกัน
หลังเกิดการรัฐประหาร บนถนนสายอาเซียนมักมีเกิดเหตุวินาศกรรมเกิดขึ้นกับรถบรรทุกน้ำมันและแก๊ส LPG ที่ถูกส่งเข้าไปจากประเทศไทย โดยกลุ่มติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล (PDF) อ้างว่า สินค้าที่บรรทุกเป็นยุทธปัจจัยที่ถูกส่งไปให้กองทัพพม่า จึงต้องโจมตีเพื่อตัดกำลังบำรุงกองทัพ.