MGR Online - SAC สั่งระงับสัญชาติพม่า 11 แกนนำฝ่ายต่อต้าน ในนี้ 8 คนเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเงา อีก 3 เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประท้วง
วานนี้ (4 มี.ค.) สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) พม่า ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 97 ของกฎหมายพลเมือง ออกคำสั่งระงับสัญชาติพม่า บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการรัฐประหารและการทำงานของ SAC จำนวน 11 ราย
ในนี้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นโดยสมาชิกพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) 8 ราย ที่เหลือ 3 ราย เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในความเคลื่อนไหวต่อต้านการบริหารประเทศของ SAC ประกอบด้วย
1.ดร.ส่อเหว่โซ
2.อู หยี่มูน
3.อู ลวินโกลัต
4.ดอ สิ่นหม่าอ่อง
5.อู ถิ่นลินอ่อง
6.อู อ่องมิวมิน
7.อิ๊ ตินส่า หม่อง
8.ดร.ส่าส่า
9.อู มินโกไหน่
10.อู เมียวหย่านหน่องเตง
11.อิ๊ ปานแส่โล
ผู้ที่ถูกระงับสัญชาติทั้ง 11 ราย มีบทบาทและประวัติความเป็นมาดังนี้
1.ดร.ส่อเหว่โซ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข เป็นศัลยแพทย์กระดูกชาวพม่า เกิดเมื่อปี 2505 จบจากมหาวิทยาลัยแพทย์ 2 กรุงย่างกุ้ง เมื่อปี 2529 มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกรุงย่างกุ้ง ในช่วงปี 2563
2.อู หยี่มูน หรือหม่อง ตินติท กวีชาวพม่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นอดีตนักศึกษาแพทย์ที่เคยอยู่ในการประท้วงใหญ่ในพม่าเมื่อเดือนสิงหาคม 2531 หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 8888 และถูกจับขังคุกอยู่ 7 ปี ก่อนออกมาเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เคยลงสมัครเลือกตั้งในกรุงเนปิดอ เมื่อปี 2558 ในนามพรรค NLD แต่พ่ายแพ้ไปอย่างเฉียดฉิว
3.อู ลวินโกลัต รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและตรวจคนเข้าเมือง เป็นชาวพม่า เกิดวันที่ 20 มกราคม 2519 เป็นอดีต ส.ส.NLD จากเขตตานลยิน (สิเรียม) กรุงย่างกุ้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2558
4.ดอ สิ่นหม่าอ่อง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นชาวพม่า เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2519 เป็นอดีต ส.ส.NLD จากเขตยานขิ่น กรุงย่างกุ้ง จบปริญญาตรีด้านพฤกษศาสตร์ จาก University of Distance Education กรุงย่างกุ้ง
5.อู ถิ่นลินอ่อง รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสาร สารสนเทศ และเทคโนโลยี เป็นชาวพม่าจากอำเภอหญ่องโตง จังหวัดมะอุบิ่น ภาคอิรวดี หลังเรียนจบจากสถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง อู ถิ่นลินอ่องได้ไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา
6.อู อ่องมิวมิน รัฐมนตรีกระทรวงสิทธิมนุษยชน และเป็นรัฐมนตรี LBGT คนแรกที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการในประวัติของตนเอง อู อ่องมิวมินเป็นชาวพม่า เป็นนักกิจกรรมที่เคยลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 8888 จากนั้นไปเรียนต่อจนจบด้านสิทธิมนุษยชนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2538
7.อิ๊ ตินส่า หม่อง รองรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสตรี เยาวชนและเด็ก เป็นที่คุ้นตาของผู้ที่ติดตามข่าวสารในพม่า จากภาพข่าวการออกมาเดินนำการประท้วงของเธอในกรุงย่างกุ้ง ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการรัฐประหาร
อิ๊ ตินส่า หม่อง เกิดวันที่ 11 กันยายน 2537 จบด้านภาษาต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดใน NUG
อิ๊ ตินส่า หม่อง เคยถูกจับติดคุกในภาคพะโค เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 เพราะเป็นแกนนำประท้วงกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ในสมัยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners : AAPP) เคยบันทึกประวัติของของอิ๊ ตินส่า หม่อง ในปีที่เธอถูกจับว่าเธอเป็นชาวพม่า แต่เมื่อเธอออกมาเดินนำเหล่าพนักงานจากโรงงานสิ่งทอประท้วงบนท้องถนนในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 อิ๊ ตินซา หม่อง สวมเสื้อผ้าของชาวกะเหรี่ยง ทำให้สื่อหลายสำนักบันทึกประวัติของเธอว่าเป็นชาวกะเหรี่ยงแดง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 เว็บไซต์ Women in Journalism ได้ลงบทสัมภาษณ์ อิ๊ ตินส่า หม่อง มีเนื้อหาช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ได้เขียนถึงเธอว่าเป็นชาวคะฉิ่น
8.ดร.ส่าส่า รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นแพทย์ชาวชิน เคยทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งของพรรค NLD ในรัฐชิน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563
ดร.ส่าส่า มีชื่อภาษาพม่าว่า “สะไล หม่อง ไต่ ซาน” เกิดเมื่อปี 2523 ในเขตไหล่ลินบี่ รัฐชิน
ดร.ส่าส่า นับถือศาสนาคริสต์ หลังเรียนจบระดับมัธยมในย่างกุ้งแล้ว ได้ไปเรียนต่อที่ Shillong College ในอินเดีย และจบแพทย์จาก Yerevan State Medical University ในอังกฤษ เมื่อกลับมาได้ก่อตั้ง Helth & Hope องค์กรที่ทำกิจกรรมด้านสาธารณสุขของชุมชนชาวคริสต์ ในรัฐชิน ก่อนเบนเข็มมาเล่นการเมือง
9.อู มินโกไหน่ อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 8888 ขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และศิลปกรรมย่างกุ้ง จากนั้นเขาถูกจับติดคุกอยู่หลายครั้ง หลังเกิดการยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อู มินโกไหน่ มีส่วนร่วมหลายครั้งในกิจกรรมต่อต้านคณะรัฐประหาร
10.อู เมียวหย่านหน่องเตง อดีตหัวหน้าสำนักวิจัยของพรรค NLD เริ่มเส้นทางการเมืองตั้งแต่อายุเพียง 21 ปี ขณะที่ยังเรียนอยู่ในสถาบันเทคโนโลยี่ย่างกุ้ง อู เมียวหย่านหน่องเตง ถูกออกหมายจับในความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 505(ข) ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 หลังการรัฐประหารเพียง 2 สัปดาห์
11.อิ๊ ปานแส่โล เป็นนักกิจกรรมและนักเขียน ซึ่งมีบทความวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านกองทัพพม่าออกมาเป็นจำนวนมาก ก่อนการรัฐประหาร เธอมีผลงานเป็นพ็อกเกตบุ๊ก จำนวน 4 เล่ม ที่ล้วนแล้วแต่มียอดขายสูงมาก มีเนื้อหาสนับสนุนพรรค NLD กองทัพพม่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกติดตามเพื่อจับกุมเธอตั้งแต่วันแรกของการรัฐประหาร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ