xs
xsm
sm
md
lg

“มินอ่องหล่าย” ปรากฏตัวแล้ว ทูตไทยได้เข้าอำลาครบวาระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง เข้าพบ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่สำนักงานประธาน SAC เพื่ออำลา หลังครบวาระการดำรงตำแหน่ง
MGR Online - “มินอ่องหล่าย” ปรากฏตัวแล้ว หลังหายไปกว่าสัปดาห์ จนสื่อฝ่ายต่อต้านประโคมข่าวว่ากำลังป่วยหนัก เอกอัครราชทูตไทยเป็นตัวแทนต่างชาติรายแรกที่ได้เข้าพบ สนทนาผลสำเร็จการใช้เงินบาทซื้อขายโดยตรงในการค้าชายแดน 2 ประเทศ

วานนี้ (9 มี.ค.) พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรีพม่า ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 สัปดาห์ โดยช่วงเช้า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เป็นวิทยากรบรรยายผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้ผู้เข้ารับการอบรมของวิทยาลัยป้องกันชาติ หัวข้อ มุมมอง 4 ด้านในการบริหารประเทศ คือ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ การบริหารจัดการ และการป้องกันประเทศ

จากนั้นช่วงบ่าย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ต้อนรับนางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ที่ได้เข้าพบเพื่ออำลาหลังครบวาระการดำรงตำแหน่ง และกำลังจะย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

ประธาน SAC และเอกอัครราชทูตไทยได้สนทนากันถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ หัวข้อหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของธนาคารกลางพม่า (The Central of Myanmar : CBM) ที่ได้ประกาศคำสั่งฉบับที่ 5/2022 อนุญาตให้ใช้เงินสกุลบาท/จั๊ต ชำระค่าสินค้าได้โดยตรงสำหรับการค้าชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2565


เหตุผลของคำสั่งนี้ CBM ระบุว่า เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าและการไหลเวียนของสินค้าระหว่าง 2 ประเทศ อำนวยความสะดวกต่อระบบชำระเงินและการเคลียริ่งข้ามพรมแดน รวมถึงส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นตามแนวทางบูรณาการระบบการเงินอาเซียน

ความร่วมมือนี้เป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่ SAC ครั้งที่ 4/2021 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ซึ่งได้มีการพิจารณาปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดเงินพม่า และการกระตุ้นปริมาณการค้าชายแดน ระหว่างพม่า-ไทย และพม่า-อินเดียให้เพิ่มสูงขึ้น

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ในฐานะประธานการประชุมได้ให้นโยบายว่า เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน จึงควรให้นำเงินตราสกุลท้องถิ่นมาเป็นสื่อกลางสำหรับการซื้อขายสินค้ากันโดยตรงระหว่างคู่ค้าตามชายแดนของแต่ละประเทศ หลังจากก่อนหน้านั้น CBM เพิ่งอนุญาตให้ใช้เงินหยวนซื้อขายสินค้าโดยตรงได้ในพื้นที่ชายแดนพม่า-จีน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564

ปัจจุบัน การค้าชายแดนไทย-พม่า ทำผ่านด่านชายแดน 7 จุด โดยมีด่านแม่สอด-เมียวดี ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นช่องทางที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุด

ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์พม่า ระบุว่า ปีงบประมาณ 2561-2562 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 การค้าชายแดนไทย-พม่ามีมูลค่ารวม 4,153.66 ล้านดอลลาร์ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีมูลค่ารวม 3,914.52 ล้านดอลลาร์ และวันที่ 30 กันยายน 2564 มีมูลค่ารวม 4,250.73 ล้านดอลลาร์

เอกอัครราชทูตไทย ถือเป็นตัวแทนจากต่างชาติรายแรกที่ได้เข้าพบ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย หลังจากเขาไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะติดต่อกันเป็นเวลาถึง 8 วัน กระทั่งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 The Irrawaddy และมัชฌิมา (Mizzima) ซึ่งเป็นสื่อของฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่า พร้อมใจกันเสนอข่าวว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กำลังป่วยหนัก



คำสั่ง CMB อนุญาตให้ใช้เงินบาทซื้อขายสินค้าโดยตรงได้ ในการค้าชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป
สื่อทั้ง 2 แห่งตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ปรากฏตัวครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อไปเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างพุทธอุทยานมารวิชัย ที่อำเภอทักขิณาสิริ กรุงเนปิดอ จากนั้นไม่เห็น พล.อ.อาวุโส มินอ่องหลาย ปรากฏตัวต่อสาธารณะอีกเลย อีกทั้งยังมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นไปปฏิบัติภารกิจแทน

The Irrawaddy เสนอข่าวว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย อาจกำลังป่วยเป็นมะเร็ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ เขามีอาการปวดบั้นเอวอย่างรุนแรง ขณะที่มัชฌิมาบอกว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กำลังกักตัวอยู่กับบ้าน เนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

การปรากฏตัวของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายเมื่อวานนี้ จึงลดกระแสการคาดการณ์ว่าเขากำลังป่วยหนักจากสื่อทั้ง 2 แห่ง ลงไปโดยสิ้นเชิง

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นวิทยากร บรรยายให้ผู้เข้ารับการอบรมที่วิทยาลัยป้องกันชาติ




กำลังโหลดความคิดเห็น