ในปี 2564 ที่ผ่านมาการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนทำได้มูลค่า 1,715,345 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 30.03% แม้จะเจอสถานการณ์วิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดทั้งปี การเปิดด่านชายแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านยังทำได้ไม่เต็มที่ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบให้การค้าต้องหยุดชะงัก กลับมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าไทย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนดังกล่าว เป็นการส่งออกสูงถึงมูลค่า 1,031,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.60% คิดเป็น 1 ใน 8 ของตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2564 ของไทยที่มีมูลค่า 8.5 ล้านล้านบาท ที่สำคัญ ตัวเลขการส่งออกชายแดนและผ่านแดนยังเกินไปกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 6% กว่า 5 เท่าตัว ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 684,015 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.70%
เมื่อแยกเป็นรายประเทศ พบว่าการส่งออกผ่านชายแดนไป สปป.ลาวมีมูลค่า 417,731 ล้านบาท เพิ่ม 39.31% มาเลเซียมูลค่า 346,603 ล้านบาท เพิ่ม 42.6% เมียนมา มูลค่า 122,086 ล้านบาท เพิ่ม 109.24% กัมพูชา มูลค่า 144,910 ล้านบาท เพิ่ม 16.63% และส่งออกผ่านแดนไปจีน มูลค่า 194,820 ล้านบาท เพิ่ม 59.71% สิงคโปร์ มูลค่า 53,853 ล้านบาท เพิ่ม 51.49% และเวียดนาม มูลค่า 46,308 ล้านบาท เพิ่ม 5.03%
ปัจจัยหนุนส่งออกชายแดนโต
กรมการค้าต่างประเทศรายงานปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกชายแดนและผ่านแดนปี 2564 ว่า ได้รับผลดีจากการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งช่วยให้สินค้าไทยแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น และมีความต้องการเพิ่มขึ้นในสินค้าจำเป็น ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการ Work From Home และการป้องกันหรือรักษาโรคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสินค้าไทยยังคงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในตลาดเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศ CLMV
นอกจากนี้ การฟื้นตัวในภาคการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตมากกว่า 8% ส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อนำไปผลิตสินค้าถุงมือยาง และล้อรถยนต์ เป็นต้น รวมถึงสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และลำไย ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดจีน
ขณะเดียวกัน มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของเวียดนาม ช่วยให้เกิดความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น และกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน เช่น การผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อขนส่งสินค้า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการประชุม กรอ.พาณิชย์ การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการแก้ไขปัญหาและสนับสนุนการส่งออกผลไม้ของไทย และการดำเนินโครงการ “จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก” โดยร่วมมือกับ EXIM Bank ในการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการค้าชายแดน
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 28 ม.ค. 2565 มีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อ 636 ราย วงเงินรวม 4,090.60 ล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 605 ราย วงเงินรวม 3,987.80 ล้านบาท
ประสบความสำเร็จในการเปิดด่าน
กรมการค้าต่างประเทศรายงานอีกว่า ตลอดปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 ได้มีการดำเนินการตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการเร่งรัดเปิดด่านชายแดน โดยข้อมูล ณ วันที่ 25 ม.ค.2565 มีจุดผ่านแดนที่เปิดเพื่อการขนส่งสินค้าแล้ว 48 แห่ง จาก 97 แห่ง
โดยมีผลการดำเนินการที่สำคัญ เช่น วันที่ 9 ก.ค. 2564 ลงพื้นที่ผลักดันเปิดจุดผ่านแดนบ้านปากแซง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี วันที่ 30 ก.ค. 2564 ประชุมกับ 5 จังหวัด เชียงราย เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ด้าน สปป.ลาว ผลักดันเปิดด่านเพิ่ม 5 แห่ง คือ ด่านบ้านแจมป๋อง ด่านเชียงคาน ด่านท่าเรือหนองคาย ด่านท่าเทียบเรือเทศบาลนครพนม และด่านท่าเทียบเรือมุกดาหาร วันที่ 8 ต.ค. 2564 ลงพื้นที่ประชุม กรอ.พาณิชย์ ณ จังหวัดตราด เพื่อผลักดันการเปิดด่านท่าเส้นตามหลักมนุษยธรรม วันที่ 15 พ.ย. 2564 สามารถผลักดันให้มาเลเซียเปิดทำการด่านเป็งกาลันกูโบตรงข้ามกับด่านตากใบ และด่านบูกิตบุหงาตรงข้ามด่านบูเก๊ะตา จังหวัดนราธิวาส
ล่าสุด วันที่ 10 ม.ค. 2565 ลงพื้นที่ประชุม กรอ.พาณิชย์ รวมทั้งติดตามสถานการณ์การค้าไทย-ลาว ที่ จ.หนองคาย และการเตรียมความพร้อมการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟลาว-จีน โดยได้เร่งรัดการก่อสร้างสะพานเชื่อมต่อทางรถไฟแห่งใหม่ (สะพานหนองคายแห่งที่ 2) การสร้างศูนย์กระจายสินค้าเพื่อผลักดันการส่งออกผลไม้ผ่านด่านชายแดนจังหวัดหนองคาย รวมทั้งเร่งรัดการเจรจากับฝ่าย สปป.ลาว เพื่อเปิดจุดผ่านแดนเพื่อขนส่งสินค้าในจังหวัดหนองคายเพิ่มเติมจากแผนเดิมอีก 2 แห่ง (จุดผ่อนปรนการค้าบ้านจุมพล และจุดผ่อนปรนการค้าบ้านม่วง)
ตั้งเป้าปี 65 การค้าชายแดน-ผ่านแดนโต 5-7%
สำหรับเป้าหมายการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนปี 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับภาคเอกชนในเวที กรอ.พาณิชย์ ได้ข้อสรุปว่า ตั้งเป้าไว้ที่ 5-7% คาดว่าจะทำมูลค่าเฉพาะการส่งออก 1.08-1.10 ล้านล้านบาท จากมูลค่าการค้ารวม ทั้งการส่งออกและนำเข้า ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 1.80-1.84 ล้านล้านบาท
โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง เงินบาทยังอ่อนค่า เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2564 จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟลาว-จีน ทำให้การส่งออกสินค้าไทยจากเวียงจันทน์ไปจีนทำได้สะดวก มีผลต่อตัวเลขการส่งออกที่คาดว่าจะดีขึ้น มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้นในรูป กรอ.พาณิชย์ หรือวอร์รูมการส่งออก และมีนโยบายเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันมี 97 ด่าน เปิดแล้ว 48 ด่าน และมีเป้าหมายเปิดปี 2565 อีก 12 ด่าน
เปิดชื่อ 12 ด่านเป้าหมายที่จะเร่งเปิด
ทั้งนี้ รายชื่อ 12 ด่านเป้าหมาย ได้แก่ 1. จุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย 2. จุดผ่อนปรนการค้า บ้านแจ่มป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย 3. จุดผ่านแดนถาวร อ.เชียงคาน จ.เลย 4. จุดผ่อนปรนการค้าบ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย 5. จุดผ่านแดนถาวร ท่าเรือหนองคาย อ.เมือง 6. จุดผ่านแดนถาวร ท่าเทียบเรือเทศบาลนครพนม อ.เมือง 7. จุดผ่านแดน ท่าเทียบเรือมุกดาหาร อ.เมือง 8. จุดผ่านแดนถาวร บ้านปากแซง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ซึ่งตนไปติดตามด้วยตนเอง 9. จุดผ่อนปรนการค้า บ้านจุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย 10. จุดผ่อนปรนการค้า บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย 11. ช่องทางธรรมชาติ บ้านท่าเส้น อ.เมือง จ.ตราด และ 12. ด่านหนองเอี่ยน จ.สระแก้ว
ระวัง 2 ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบ
แม้สถานการณ์การส่งออกชายแดนและผ่านแดนจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่นายจุรินทร์บอกว่า ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยง โดยมี 2 ประเด็นใหญ่ที่ต้องติดตาม คือ
ประเด็นที่หนึ่ง สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเปิดปิดด่าน และการจราจรส่งออกสินค้าผ่านแดนข้ามแดน เพราะอาจมีความเข้มงวดในการตรวจโรคมากขึ้น
ประเด็นที่สอง สถานการณ์การเมืองในเมียนมา อาจมีผลกระทบต่อตัวเลขการส่งออกสินค้าชายแดนไทยไปเมียนมาได้ โดยเฉพาะนโยบายการลดการใช้เงินตราต่างประเทศของเมียนมา เพื่อควบคุมการนำเข้า เพื่อลดปัญหาการขาดดุลการชำระเงินของเมียนมา
เพิ่มกิจกรรมเสริมแกร่งผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม กรมการค้าต่างประเทศไม่เพียงแต่จะเดินหน้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่ที่ด่านเป้าหมายตั้งอยู่ ยังมีแผนที่จะผลักดันเปิดด่านอื่นๆ นอกเหนือจากด่านเป้าหมายที่กำหนดไว้ 12 ด่าน ให้มีการเปิดทำการเพิ่มขึ้นด้วย เพราะยิ่งเปิดด่านได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มช่องทางในการทำการค้า และผลักดันการค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังมีแผนที่จะจัดอบรม สัมมนา เพื่อชี้ช่องทางการค้า โอกาสทำการค้า และการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน การชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ทั้งในกรอบอาเซียน เพื่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน และกรอบอาเซียน-จีน เพื่อค้าขายกับจีน การเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่ หรือที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งมีแผนที่จะจัดมหกรรมการค้าชายแดน เพื่อกระตุ้นการค้าขายในพื้นที่จังหวัดติดชายแดน และประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ทั้งนี้ จากมาตรการเร่งด่วน ทั้งการเร่งรัดการเปิดด่านการค้าเป้าหมาย 12 ด่านในปี 2565 การใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว-จีน เพื่อขนส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน และการร่วมมือกับภาคเอกชนในการขยายตลาดการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 5-7% หรืออาจจะโตเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ก็ได้ เหมือนกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา