กรมการค้าต่างประเทศโชว์ผลงานการนำระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) มาใช้ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ทั้งปี 64 ลดการใช้กระดาษได้มากกว่า 4.4 ล้านแผ่น ลดระยะเวลาการรอรับบริการได้เกือบ 3 แสนชั่วโมง คิดเป็นต้นทุนที่ลดให้ผู้ประกอบการเกือบ 18 ล้านบาท
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการใช้ระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal : ESS) สำหรับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมากรมฯ ได้ออก C/O ด้วยระบบ ESS จำนวน 4,405,315 หน้า คิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 71,444.99 ล้านเหรียญสหรัฐ และการไม่พิมพ์แบบคำขอดังกล่าว ช่วยลดการใช้กระดาษไปได้กว่า 4.4 ล้านแผ่นต่อปี และช่วยลดการใช้งบประมาณรัฐกว่า 790,000 บาท
โดยการลดขั้นตอนผ่านการใช้ระบบ ESS ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ผ่านการลดระยะเวลาในการพิมพ์เอกสาร การรอลงนามแบบสด และการจัดเก็บเอกสาร โดยช่วยลดระยะเวลารอรับบริการจาก 30 นาทีต่อฉบับ เหลือเพียงไม่เกิน 10 นาทีต่อฉบับ คาดว่าประหยัดเวลาไปได้อย่างน้อย 17,968,520 นาที หรือ 299,475 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งจากการประมาณการเบี้องต้นพบว่าช่วยลดต้นทุนทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทยไปได้เกือบ 18 ล้านบาทต่อปี
“การใช้ระบบ ESS เป็นการนำนวัตกรรมมาช่วยให้กรมฯ สามารถให้บริการได้อย่างเต็มศักยภาพในยุค New Normal เนื่องจากช่วยลดการสัมผัสกระดาษและเป็นไปตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม และยังเป็นตัวอย่างของการใช้นวัตกรรมดิจิทัลในการสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และเป็น 1 ใน 10 นโยบายสำคัญของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่จำเป็นและการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่โดยใช้ระบบดิจิทัล” นายพิทักษ์กล่าว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกรมฯ ให้บริการออก C/O ด้วยระบบ ESS จำนวน 10 ฟอร์ม ได้แก่ 1. Form D 2. Form E (สำหรับการส่งออกไปยังจีน) 3. Form JTEPA 4. Form AK 5. Form FTA-AUSTRALIA 6. Form AANZ 7. Form AJ 8. Form TC 9. Form AHK และ 10. หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทั่วไป (C/O ทั่วไป) และก้าวต่อไป กรมฯ จะผลักดันให้ประเทศปลายทางยอมรับการออก C/O ด้วยระบบ ESS ได้ในทุกความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการรองรับการใช้ระบบการพิมพ์ C/O ณ สำนักงานของผู้ประกอบการที่คาดว่าจะเริ่มใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งจะช่วยให้กรมฯ สามารถให้บริการแบบ No Visit อย่างเต็มรูปแบบ