xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีลังกา” วิกฤตพลังงานหนัก สั่งเริ่มตัดกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศ 10 ชั่วโมงทุกวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ศรีลังกาแถลงวันพุธ (30 มี.ค.) เริ่มมาตรการตัดกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศนาน 10 ชั่วโมงทุกวันหลังจากที่ขาดกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำหลังเกิดปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงอย่างหนัก

เอเอฟพีรายงานวันนี้ (30 มี.ค.) ว่า ศรีลังกาประเทศในเอเชียใต้ที่มีประชากรร่วม 22 ล้านคนกำลังอยู่วิกฤตเศรษฐกิจขั้นร้ายแรงมาตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 1948 เนื่องมาจากประสบปัญหาการขาดเงินสกุลต่างชาติเพื่อจ่ายการนำเข้า

บริษัทพลังงานเพียงหนึ่งเดียวของศรีลังกากล่าวผ่านแถลงการณ์ในวันพุธ (30) ว่า ทางบริษัทจะเริ่มต้นมาตรการตัดกระแสไฟฟ้านาน 10 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากก่อนหน้าที่ใช้มาตรการตัดกระแสไฟฟ้านาน 7 ชั่วโมงต่อวันตั้งแต่เริ่มต้นของเดือนนี้เป็นเพราะไม่มีน้ำมันเพื่อเป็นพลังงานให้เครื่องปั่นไฟ

เอเอฟพีรายงานชี้ว่า มากกว่า 40% ของไฟฟ้าในศรีลังกาได้มาจากพลังงานน้ำ แต่ทว่าอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ต่ำมากเนื่องมาจากไม่มีฝนตกลงมา เจ้าหน้าที่ชี้

การผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากถ่านหินและน้ำมัน แต่ทั้งสองต้องนำเข้ามาแต่ประสบปัญหาขาดแคลนเนื่องมาจากรัฐบาลโคลัมโบไม่มีเงินตราต่างประเทศเพื่อซื้อนำเข้ามา

บริษัทพลังงานที่รัฐเป็นเจ้าของ ซีลอนปิโตรเลียมคอร์โปเรชัน CPC (Ceylon Petroleum Corporation) ซึ่งเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันสำหรับรถยนต์แถลงว่า จะไม่มีน้ำมันดีเซลในศรีลังกา 2 วันเป็นอย่างน้อย และบอกให้บรรดานักขับที่ต่อแถวยาวรอหน้าปั๊มให้กลับไปและกลับมาอีกครั้งก็ต่อเมื่อมีน้ำมันนำเข้ามาแล้วและแจกจ่ายไปตามสถานีบริการทั่วไป

นอกจากนี้ พบว่าราคาน้ำมันยังปรับขึ้นบ่อยครั้ง โดยน้ำมันเบนซินขึ้นไป 92% และน้ำมันดีเซลขึ้น 76% นับตั้งแต่ต้นปี

เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่ารัฐบาลโคลัมโบใช้เวลา 12 วันในการรวบรวมเงิน 44 ล้านดอลลาร์เพื่อจ่ายค่านำเข้าก๊าซแอลพีและเคโรซีน ซึ่งทางรัฐบาลได้ประกาศห้ามการนำเข้าอย่างกว้างขวางในเดือนมีนาคมปี 2020 เพื่อสงวนสกุลเงินตราต่างประเทศสำหรับหนี้ต่างชาติจำนวน 51 ล้านดอลลาร์

แต่ผลจากมาตรการทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าพื้นฐานอย่างเป็นวงกว้างและส่งผลทำให้ราคาสินค้าถูกปรับเพิ่มสูง

นอกเหนือจากนี้พบว่ามีหลายโรงพยาบาลหยุดการผ่าตัดคนไข้ตามปกติ และซูเปอร์มาร์เกตสั่งให้ลูกค้าบริโภคต้องจำกัดการซื้อตามมาตรการปันส่วนสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นรวมไปถึง ข้าวสาร น้ำตาล และนมผง

ทั้งนี้ รัฐบาลโคลัมโบกล่าวว่า อยู่ระหว่างความพยายามขอความช่วยจากสถาบันระหว่างประเทศ IMF พร้อมกับขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมทางเศรษฐกิจในลักษณะกู้ยืมเพิ่มจากอินเดียและจีน

วิกฤตนั้นทำให้มีความร้ายแรงมากขึ้นผลมาจากโรคโควิด-19 ระบาดกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวศรีลังกาและแรงงานศรีลังกาส่งเงินกลับ ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากออกมาโทษการบริหารที่ผิดพลาดของโคลัมโบ รวมไปถึงการลดภาษีและการใช้นโยบายงบประมาณประจำปีแบบขาดดุลทางการคลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น