“ทูตพาณิชย์เบอร์ลิน” เผยแพงทั้งแผ่นดินที่เยอรมนีก็มี พบสินค้าขึ้นราคาต่อเนื่อง หลายกลุ่มขาดหายไปจากตลาด หลังเจอวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เตรียมหารือผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ดันสินค้าไทยเข้าไปทดแทน
น.ส.พัชรา รัตนบุบผา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้ทำการสำรวจตลาดสินค้าในเยอรมนี ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ในช่วงสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน โดยพบว่าตลาดเยอรมนีก็เจอกับปัญหาของแพงทั้งแผ่นดิน ห้างร้านต่างๆ ขึ้นราคาสินค้า โดยบริษัท Oliver Wyman ซึ่งเป็นบริษัทด้านการจัดการ ระบุว่ามีลูกค้าร้องเรียนในเรื่องนี้สูงมากถึง 49% และเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้บริโภคในเยอรมนี
โดยบริษัทดังกล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าลูกค้าส่วนใหญ่มีความพร้อมและยอมที่จะจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าตามที่ต้องการ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกต่อไปที่จะสามารถหาซื้อสินค้าได้ครบจากการที่ออกไปเดินห้างจับจ่ายซื้อสินค้าในครั้งเดียวเหมือนเมื่อก่อน โดยสินค้าที่ขาดตลาด ได้แก่ 1. สินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า กว่า 40% 2. สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 28% 3. สินค้าจำพวกของเล่น 25% และ 4. สินค้ากลุ่มรองเท้า 22%
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลของสมาคมเพื่อการวิจัยผู้บริโภค (GfK - Gesellschaft für Konsumforschung) ที่ระบุว่า สินค้าที่ขาดตลาดมากที่สุดในขณะนี้ คือ เครื่องใช้จำพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เริ่มขาดหายไปจากชั้นวาง และราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้น 4% เครื่องชงกาแฟ เพิ่มขึ้น 7% อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 8.7% กล้องถ่ายภาพมีราคาขายเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.1% อุปกรณ์และชิ้นส่วนโน้ตบุ๊กและคอมพิวเตอร์ (แป้นพิมพ์) มีราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 18% รวมไปถึงราคาขายส่งของสินค้าจำพวกโดรน อุปกรณ์ให้แสงสว่าง อุปกรณ์เสียง โปรเจกเตอร์ และคอมพิวเตอร์ต่างๆ พากันปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนชิปที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ข้อมูลของ GfK ยังเปิดเผยว่า 1 ใน 7 กลุ่มสินค้าตามซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ มีราคาเฉลี่ยสูงขึ้น 10% โดย 9 ใน 10 ของสินค้ามีราคาสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยราคาสินค้าที่สูงขึ้นส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือที่เรียกกันว่าสินค้ากลุ่ม Fast Moving Consumer Goods : FMCG อย่างเช่น ไข่ไก่ เนย หรือมันฝรั่ง ซึ่งรวมถึงสินค้าจำเป็น อย่างพวกกระดาษชำระและกระดาษที่ใช้ในครัว เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.4% สินค้าจำพวกขนมหวานและอาหารกระป๋อง เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากราคาค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงสินค้าเครื่องเรือนและของตกแต่งบ้าน ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น โดยสินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากเอเชีย และมีปัญหาการขนส่งที่ใช้ระยะเวลานานขึ้น
ทั้งนี้ หากพบว่ามีสินค้ายี่ห้อใดในซูเปอร์มาร์เกตที่ขาดตลาด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าปัญหาเกิดจากการตกลงราคาซื้อขายระหว่างผู้จำหน่าย (ซูเปอร์มาร์เกต) กับบริษัทผู้ผลิตที่ยังไม่ลงตัว ส่วนในมิติของผู้บริโภค พบว่า เมื่อราคาสินค้าพากันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีการบริโภคสินค้าลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งสำนักงานฯ กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเร่งหารือกับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เพื่อดูว่าสินค้าของไทยจะเข้าไปทดแทนสินค้าที่ขาดตลาดได้หรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นจุดแข็งของไทย และสินค้าไทยได้รับความนิยมในตลาดเยอรมนีอยู่แล้ว