xs
xsm
sm
md
lg

ลองโควิด VS มิสซี ใครกันแน่ “มัจจุราชร้ายผู้พรากชีวิตเด็ก”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เสี่ยงอันตรายทั้งสองโรค!! ทั้ง “ภาวะลองโควิด” และ “ภาวะมิสซี” แพทย์จับมือช่วยวิเคราะห์จากเคส “หนูน้อยวัย 2 ขวบ” เสียชีวิตหลังป่วยโควิด-19 ว่า ใครกันแน่คือมัจจุราชตัวจริง!!




“ลองโควิด” ไข้ขึ้น = ตาย?


เมื่อไม่นานมานี้ มีเคสที่ถูกพูดถึงและแชร์กันยกใหญ่ เป็นเรื่องราวของคุณแม่ที่ต้องสูญเสียลูกชาย วัย 2 ขวบ ไปโดยลูกเคยติดโควิด-19 น้องหายจึงกลับบ้าน ซึ่งกลับพบว่าน้องทรุดหนักจึงกลับมารักษาที่โรงพยาบาลต่อ แต่ก็สายไปเสียก่อน

หลังเรื่องราวนี้ได้ถูกโพสต์และแชร์ออกไป ต่างก็เกิดคำถามกับประเด็นดังกล่าวไม่ต่างจากคุณแม่ผู้เสียลูกชายตัวน้อยๆ กลับคำถามที่คาใจ กับคำวินิจฉัยของหมอ น้องเป็น “ลองโควิด”?


โดยการได้ออกมาโพสต์แชร์ประสบการณ์ตรงของตัวเอง เพื่อเตือนเหล่าแม่ๆ และเด็กๆ ถึงอันตรายของโรคชนิดนี้ ให้ระวังตัวกันไว้ ยิ่งสำหรับเด็กๆ ที่เคยเป็นโควิดมาก่อน ยิ่งต้องสังเกตอาการให้ดี เพราะถ้าไม่ระวังตัวอาจเกิดการสูญเสีย

“ลองโควิด คือ คำนิยามใหม่ ต่อการสนองเชื้อโควิดที่เกิดต่อเนื่อง หลังจากการติดเชื้อของโควิด ส่วนใหญ่เจอในคนไข้ที่นอนโรงพยาบาลนานๆ หรือต้องเข้า ICU จะรู้สึกอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ใจสั่น มีผื่นขึ้นตามตัว ผมร่วง หรือบางคนอาจรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม แต่ไม่ถึงขั้นร้ายแรงมาก”

[พญ.พรรณธิป ภัทรกุลวิวัฒน์ ]
นี่เป็นมุมมองของ พญ.พรรณธิป ภัทรกุลวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญกุมารแพทย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ที่ให้ข้อมูลกับ ทีมข่าว MGR Live ว่า “ภาวะลองโควิด” หรือ “Long COVID” เป็นอาการที่เกิดมาจากเชื้อโควิด-19

โดย “ลองโควิด” นั้น ต่างกันกับ “โควิด-19” ตรงที่โรคลองโควิด เกิดขึ้นได้แค่กับคนที่ “เคยมีเชื้อโควิด” เท่านั้น เมื่อหายจากการเป็นโควิด-19 แล้ว แต่กลับมีบางอาการที่ยังหลงเหลืออยู่จากเชื้อโควิด-19 จึงเรียกว่า “ลองโควิด”

“ลองโควิดเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย จะเป็นๆ หายๆ ส่วนใหญ่ชอบเป็นเรื้อรัง ซึ่งไม่รุนแรงมากถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ แต่ถ้าเกิดมีโรคประจำตัว อาจจะต้องแยกออกจากโรคประจำตัวนั้นออกจากลองโควิด”

[นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์]
หลังเคสนี้เป็นที่จับตามองกันทั่วประเทศ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข ได้ออกมาวิเคราะห์สาเหตุที่เด็กวัย 2 ขวบ เสียชีวิต ว่า จริงๆ อาจไม่ได้เกิดจาก “ลองโควิด” อย่างที่คุณแม่หรือชาวโซเชียลฯ ตั้งคำถาม

แต่คาดว่า น่าจะเกิดจาก “มิสซี” ที่ไปทำให้ตับอักเสบ โดยจะขึ้นไปทั่วร่างกาย ตามอวัยวะต่างๆ อย่าง สมอง เส้นเลือด และไตอักเสบ มากกว่า




“มิสซี” มัจจุราชผู้พรากชีวิต


“โรคมิสซี ถ้ามีประวัติติดเชื้อโควิดมาก่อน 2-6 สัปดาห์ และมีไข้สูงตามมา ถ่ายเหลว พร้อมมีอาการอื่นๆ อย่างน้อย 2 ระบบขึ้นไป ให้นึกถึงโรคมิสซีไว้นะคะ และควรเดินทางมาโรงพยาบาล หรือโทร.ปรึกษาหมอทันที”


พญ.พรรณธิป ภัทรกุลวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญกุมารแพทย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้คำแนะนำเพิ่มเติม ถึงผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน ว่า ให้ระวังถึง “ภาวะมิสซีมัจจุราชผู้พรากชีวิต” กันก่อนจะสาย


โดย “ภาวะมิสซี (MIS-C)” หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children เป็นโรคที่มีการตอบสนองช้า เพราะหลังการติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์ ทำให้ภูมิต้านทานตอบสนองเยอะเกิน มีสารการอักเสบในร่างกายเพิ่มมากขึ้น และอาจมีการเอกเสบในหลายๆ ระบบ ตามมาด้วย


“คนไข้ร่างกายมีไข้สูงอยู่แล้วค่ะ จึงมีอาการที่ผิดปกติตามมาอย่างน้อย 2 ระบบ คือ ระบบทางเดินอาหาร ที่จะชอบมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ตาแดง ปากแดง ถ้าเป็นระบบหัวใจ ก็จะมีการช็อก หรือการบีบตัวของหัวใจลดลงได้”

แต่สิ่งน่ากลัวสุด คือ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีภาวะช็อก ซึ่งบางคนช็อกตั้งแต่วันสองวันแรกที่มีไข้ การช็อกเกิดจากการบีบตัวของหัวใจที่ลดลง ภาวะมิสซีค่อนข้างอันตราย โดยเฉพาะหัวใจจะที่พบบ่อยสุด

“สำหรับประสบการณ์ที่หมอเคยเจอมา 50-60% ต้องการนอนโรงพยาบาล และนอนที่ห้อง ICU เด็กที่เป็นมิสซี อาการจะดูป่วยหนัก ส่วนใหญ่จะได้นอนที่โรงพยาบาล และเกินครึ่งจะได้เข้านอนที่หอผู้ป่วย ICU เพราะอาการหัวใจอักเสบจะเยอะ มีความดันต่ำและช็อก”


ส่วนภาวะนี้เกิดขึ้นได้ยังไงนั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อเชื้อต่างๆ เยอะเกิน ทำให้ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย ถ้าพูดถึงกลุ่มอาการจะคล้ายๆ กับ “โรคคาวาซากิ” (KAWASAKI DISEASE) ในเด็ก ซึ่งโรคนี้ก็หาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้

แตกต่างจากมิสซีจะรู้ได้เลย เพราะอาการเป็นตามหลังการติดเชื้อโควิด-19 เหมือนลองโควิด ด้านคนที่ไม่เคยเป็นโควิดนั้น คุณหมอบอกเลยว่าไม่เป็นแน่นอน


การรักษานั้นปกติมิสซีจะรักษาตามอาการ ร่วมกับให้ยาที่ลดภูมิเกิน อย่าง “อิมมูโนกอบเบอร์ลิน (Immunoglobulin)” ยาต้านการอักเสบ เด็กจะตอบสนองกับยาตัวนี้ดี ร่วมกับการให้ “ยาสเตียรอยด์ (Steroid)” หลังจากกินไป 90% มักมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอีก 10% จะให้ยาอื่นๆ แทน เพื่อกดภูมิคุ้มกันการเผาผลาญ


“ต่างประเทศนั้นศึกษามาเยอะ ไทยจึงสามารถศึกษาดูแนวทาง เพื่อนำมารักษาการเสียชีวิตของคนไข้มิสซีในไทยได้ แต่อาจจะไม่ได้สูงมากนะคะ เนื่องจากเมื่อไหร่ที่คนไข้ต้องนอนห้อง ICU ก็ต้องเข้าใจว่ามีความเสี่ยงเสียชีวิตได้”

สุดท้ายคุณหมอยังแนะนำถึงผู้ที่เคยเป็นโควิดและหายแล้ว ให้ระวังอาการมิสซีไว้ด้วย หมั่นสังเกตอาการตัวเองดูว่าเป็นไข้สูงหรือเปล่า ถ้าเป็นไข้แล้วอาเจียนหรือท้องเสียตามมาบ่อยๆ กินไมได้ และที่สำคัญ มีผื่นขึ้นตามตัว ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้ไปที่โรงพยาบาลพบหมอทันที


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เว็บไซต์ “กรมควบคุมโรค”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น