xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชปลูกถ่าย “สำไส้” สำเร็จรายแรกในไทย 1 ปี ยังไม่พบแทรกซ้อนรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศิริราชผ่าตัดปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะช่องท้องสำเร็จรายแรกในไทย ชี้ เป็นการผ่าตัดยากและซับซ้อน ต่างประเทศผ่าตัดได้ไม่มาก เผย ใช้เวลาผ่าตัด 7 ชั่วโมง อวัยวะทำงานได้ดี ช่วยกินข้าวได้เพิ่ม กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านใน 72 วัน ผ่านมาแล้ว 1 ปี ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง ค่าใช้รวม 1.8 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล พร้อมด้วย รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผอ.รพ.ศิริราช รศ.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รอง ผอ.รพ.ศิริราช ประธานกรรมการดำเนินการงานเปลี่ยนอวัยวะศิริราช และหัวหน้าทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ พร้อมทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ และ นางนภัคพร บุญญาภิสิทธิ์ ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ร่วมแถลงข่าวศิริราชปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้อง สำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการผ่าตัดปลูกถ่ายลำไส้ รักษาภาวะลำไส้ทำงานล้มเหลวและภาวะลำไส้สั้นมานานแล้ว แต่มีกระบวนการที่ซับซ้อน อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง จึงไม่เป็นที่แพร่หลาย แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุด ยังผ่าตัดปลูกถ่ายลำไส้เพียงปีละไม่เกิน 200 ราย ล่าสุด ศิริราชประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้องสำเร็จเป็นรายแรกของไทย ซึ่งจะสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มีการบริจาคอวัยวะ เพราะผู้ป่วยที่อวัยวะล้มเหลวมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ผู้ที่ประสงค์จะบริจาคอวัยวะยังไม่เพียงพอ จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติที่แข็งแรงปราศจากโรคติดเชื้อร่วมบริจาคอวัยวะ หรือถ้ามีญาติที่มีภาวะสมองตายสามารถแจ้งที่งานเปลี่ยนอวัยวะศิริราช


รศ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2561 ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการผ่าตัดเนื้องอกที่ลำไส้เล็กส่วนต้นที่ รพ.แห่งหนึ่ง แต่มีปัญหาหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้องอุดตัน ส่งผลให้ลำไส้เล็กทั้งหมดและอวัยวะในช่องท้องบางส่วนขาดเลือด จำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะเหล่านั้นออก จึงเกิดภาวะลำไส้สั้น ไม่สามารถกินอาหารและดูดซึมสารอาหารได้เพียงพอ ต้องใช้สารอาหารทางหลอดเลือดพยุงไปตลอด ทีมแพทย์ศิริราชได้รับการปรึกษาและเห็นถึงการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะ จึงนำผู้ป่วยมารักษาเมื่อ ม.ค. 2562 จากการตรวจประเมินโดยละเอียด พบว่า นอกจากภาวะลำไส้สั้น ยังมีปัญหาบาดแผลเปิดขนาดใหญ่ที่หน้าท้อง มีน้ำย่อยของกระเพาะอาหารรั่วออกมาตลอดเวลา ต้องใช้อุปกรณ์ทำแผลชนิดพิเศษ ทำให้ผู้ป่วยปวดอยู่ตลอด ทีมศัลยแพทย์จึงผ่าตัดปิดบาดแผล ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดลดลง ดูแลแผลง่ายขึ้นและมีกำลังใจที่ดี จากนั้นได้ประชุมทีมสหสาขาเพื่อวางแผนการรักษาต่อ โดยตัดชิ้นเนื้อตับ ตรวจพบภาวะตับอักเสบเรื้อรัง จากการให้สารอาหารทางหลอดเลือดและมีความจำเป็นต้องปลูกถ่ายลำไส้ ตับ ตับอ่อน และกระเพาะอาหารในคราวเดียวกัน จึงจะทำให้หายป่วยได้

“การปลูกถ่ายลำไส้เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อนในไทย ทีมจึงประชุมวางแผนและเตรียมการหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผ่าตัดใส่อวัยวะให้ผู้ป่วย การผ่าตัดนำอวัยวะออกจากผู้บริจาคสมองตาย การกดภูมิคุ้มกันให้ผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้ยาหลายชนิดในขนาดสูงประกอบกัน วางแผนการฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัด และตรวจติดตามหลังผ่าตัดในระยะยาว หลังจากรออวัยวะจากผู้บริจาคที่เข้ากันได้กับผู้ป่วยนานกว่า 2 ปี จนวันที่ 2 เม.ย.2564 ได้รับอวัยวะบริจาคที่สามารถเข้ากันได้ จึงเริ่มผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะให้กับผู้ป่วย” รศ.นพ.ยงยุทธ กล่าว


รศ.นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า การปลูกถ่ายต้องทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อลดระยะเวลาการขาดเลือดของอวัยวะต่างๆ ให้น้อยที่สุด โดยลำไส้มีภาวะขาดเลือดได้ไม่นาน 4-6 ชั่วโมงเท่าหัวใจ ซึ่งภาพรวมการผ่าตัดเป็นไปด้วยดี ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง ลำไส้และอวัยวะอื่นๆ มีการทำงานที่ดีมากตั้งแต่ในห้องผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวดีมาก อยู่ในไอซียู 5 วัน จากนั้นเริ่มรับประทานอาหารได้เพิ่มขึ้น จนรับประทานได้ครบ 3 มื้อ เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย งดให้สารอาหารทางหลอดเลือดทั้งหมดใน 1 เดือนหลังผ่าตัด สามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตกับครอบครัวในวันที่ 12 มิ.ย. 2564 รวมเวลา 72 วันหลังผ่าตัด ปัจจุบันผู้ป่วยอยู่กับครอบครัว และมาติดตามผลการรักษาสม่ำเสมอ จนถึงเวลานี้เกือบ 1 ปีแล้ว อวัยวะทุกอย่างทำงานได้ดี ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง สำหรับค่าใช้จ่ายรายนี้ประมาณ 1.8 ล้านบาท ซึ่งการปลูกถ่ายอวัยวะแต่ละส่วนอยู่ที่ประมาณหลักแสนถึงล้าน ซึ่งสิทธิการรักษาพยาบาลครอบคลุมการปลูกถ่ายอวัยวะ แต่ส่วนใดที่ไม่ครอบคลุมศิริราชมีกองทุนช่วยเหลือ
















กำลังโหลดความคิดเห็น