สธ.ยัน“ยาฟาวิพิราเวียร์” มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ถึงนำมาใช้รักษา “โควิด” งัดงานวิจัยชี้ชัดช่วยอาการดีขึ้น 79% ขออย่าด้อยค่าแบบวัคซีน ทำให้คนเสียโอกาสและตาย ย้ำการให้ยาอยู่ที่ดุลพินิจแพทย์ เน้นประสิทธิภาพ ปลอดภัย เหมาะสมกับผู้ป่วย ส่วนสถานการณ์ระบาดคำนึงเพิ่มเรื่องการจัดหายา ราคา และระบบบริการที่รองรับได้
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงประเด็นประโยชน์การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า เชื้อโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน และมีการระบาดกว้างขวาง แม้ช่วงแรกจะไม่รู้จักมาก่อน แต่ในฐานะแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขก็ต้องหายาและวิธีมาบรรเทาอาการให้ดีขึ้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่เราพบครั้งแรก ยังไม่รู้จักโรคนี้ดี ไม่มียารักษา บุคลากรทางการแพทย์จึงเอายาต้านไวรัสต่างๆ ที่มีอยู่เดิมและขึ้นทะเบียนแล้วว่าปลอดภัยมาทดลองใช้ ทั้งยาต้านไวรัสเอดส์ ยารักษาไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งในทางทฤษฎีกลไกการออกฤทธิ์ของยาน่าจะยับยั้งได้ โดยหลายรายมีอาการดีขึ้น ต่อมาเราพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.ประเทศไทยในการรักษาไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยหลายรายอาการดีขึ้น จากการสังเกตของแพทย์ที่รักษาและการสอบถามอาการจากคนไข้ ก็พบว่าเป็นไปได้ที่จะรักษาให้หาย และหายามารักษาจำนวนมากในประเทศไทยได้
นพ.โอภาส กล่าวว่า หลักการในการรักษาคนไข้ เราดูจาก 1. ยามีประสิทธิภาพดี 2. ไม่มีผลข้างเคียง และ 3. ยาเหมาะสมกับคนไข้นั้นๆ เนื่องจากแม้จะเป็นโรคเดียวกัน แต่ถ้าคนไข้ไม่เหมือนกัน วิธีการรักษาก็ต่างกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากจะมีเรื่องพิจารณามากกว่านี้ เช่น ยารักษาทำให้หายได้มากกว่าการไม่ให้ยา 30-50% ซึ่งถือว่าดีมากแล้ว ยาจะต้องปลอดภัย ไม่ทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลง และคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดด้วย ทั้งจำนวนผู้ป่วย หากมีเป็นแสนหรือล้านคนจะเอายาอะไรมาให้ ความสามารถในการจัดบริการ ซึ่งเราพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์สามารถจัดหาได้ ราคาไม่แพงเกินไปนัก
นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการศึกษาเบื้องต้นด้วยประสบการณ์ของแพทย์ พบว่า หากป่วยอาการไม่รุนแรงและใช้รักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสอาการรุนแรงจะน้อยลง หายกลับบ้านได้มาก จึงมีการรวบรวมข้อมูล ปรึกษาคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญทั้งการรักษาและควบคุมป้องกันโรคในศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) จึงตัดสินใจนำมาใช้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ร่วมกันของศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยแบ่งศึกษาผู้ป่วย 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจำนวน 62 ราย ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ตามสูตร คือ รับยาขนาด 1,800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งในวันแรก และรับยาขนาด 800 มก. วันละ 2 ครั้ง ในวันต่อมานาน 4 วัน ส่วนกลุ่มที่สอง ผู้ป่วยจำนวน 31 ราย ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยผู้ป่วยในโครงการรับยาเฉลี่ย 1.7 วันหลังเริ่มมีอาการป่วย และติดตามจากการประเมินอาการของผู้ป่วยและวัดปริมาณไวรัสในโพรงจมูก
ทั้งนี้ จากการติดตามภายใน 14 วัน กลุ่มรับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น 79% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งอาการดีขึ้น 32.3% จะเห็นว่า การให้ยาทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์อาการดีขึ้นเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา และในวันที่ 13 และ 28 ของการรักษาจะมีปริมาณไวรัสที่ต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา ทำให้มีความเชื่อมั่นในการใช้ยา ขณะที่ยาอยู่ในรูปแบบการกินทำให้ง่ายและสะดวก ไม่มีผลข้างเคียงที่ต้องกังวล แต่มีข้อจำกัด คือ หากรักษาช้า และอาการค่อนข้างหนัก ประสิทธิภาพของยาจะไม่ดีนัก โดยแนะนำให้ยาในผู้ที่อาการไม่หนัก และรักษาแต่เนิ่นๆ
“ยืนยันว่า เราจะไม่นำยาที่ไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และเป็นอันตรายต่อชีวิตมารักษาผู้ป่วย ที่ผ่านมารักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์เกินกว่าล้านคนแล้ว ทำให้ลดการเสียชีวิต ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ลดการแพร่ระบาดของโรค เพราะเชื้อหมดไปจากผู้ป่วยได้เร็วกว่า ขอให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ สธ.ทำและยารักษา อย่ากังวล อย่าด้อยค่ายารักษา ซึ่งเราเคยด้อยค่าวัคซีนมาแล้ว ทำให้หลายคนเสียโอกาสในการรับวัคซีน บางคนกลัวจนไม่กล้าฉีด และหลายรายเสียชีวิตจากการไม่รับวัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามถึงกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นฟ้องเรื่องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น จนทำให้ผู้ป่วยเลือกรับยาหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดว่าฟ้องในลักษณะใด แต่สามารถทำได้ตามสิทธิของหลักรัฐธรรมนูญ แต่ในฐานะแพทย์ต้องนำสิ่งที่ดีที่สุดมารักษาผู้ป่วย ย้ำว่า โควิดเป็นโรคใหม่ ระยะแรกที่ยังไม่มีข้อมูลว่ายาใดรักษาได้ผล แต่เรามีข้อมูลเชิงทฤษฎีว่ายาบางตัวยับยั้งไวรัสได้ ก็ต้องนำมารักษาผู้ป่วยพร้อมทำวิจัยการใช้ยานั้นๆ เป็นข้อดีที่เราสามารถพัฒนาข้อมูลมาใช้ในประเทศได้
“ยืนยันว่า สธ.คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องของการเลือกรับ ต้องเรียนว่าเวลาไปหาแพทย์ คือการไปหาผู้เชี่ยวชาญ ต้องมีการคุยกัน โดยแพทย์จะวินิจฉัยโรคว่าควรรับยาอะไร การให้ยาแต่ละบุคคลต้องเลือกให้เหมาะสมกับคนที่มีพื้นฐานต่างกัน เช่น บางคนเป็นเบาหวาน ความดัน ต้องดูแลรายบุคคล ดังนั้น จะอยู่กับความเหมาะสม หากเลือกยาเองแล้วไม่ถูก ก็เป็นอันตรายกับผู้ป่วยเอง” นพ.โอภาส กล่าว